วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

กันส่วนแบ่งมรดกให้ทายาทอื่นที่ไม่ใช่คู่ความ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


 
    ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติกฎหมาย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก แม้จะมีการตกลงกันระหว่างทายาทของผู้ตายยินยอมให้มีส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกเท่ากับทายาทชั้นบุตร ก็เป็นเพียงข้อตกลงในทางแพ่ง ไม่ทำให้เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่2494/2565

       โจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ตามทางนำสืบจะได้ความว่า จำเลยทั้งสามและทายาทของผู้ตายตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตรก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในทางแพ่ง ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ เพราะการเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเองไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตาม ป.อ. มาตรา 354 บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ได้แก่ บรรดาทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

        คดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดก จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้  กรณีที่ทายาทไม่ได้ร้องสอดเข้ามาในคดี  ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอดให้เข้ามารับส่วนแบ่ง หรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้ (ป.พ.พ.มาตรา 1749)  แต่

         เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าเจ้าของรวมในทรัพย์มรดก  ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย คำวินิจฉัยชีขาดตัดสินคดีของศาล ต้องผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคน รวมถึงบุคคลภายนอกที่เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกด้วย แม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้คุู่ความในคดีมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียงเท่าที่เป็นคู่ความเท่านั้น  คู่ความในคดีมีสิทธิได้รับเฉพาะส่วนแบ่งทรัพย์มรดกตามส่วนของตน  จากสิทธิของทายาททั้งหมดที่มีสิทธิได้รับมรดก  ซึ่งไม่ใช่กรณีกันส่วนแบ่งมรดกให้ทายาทคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ความ  เช่น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2559

          ผู้จัดการมรดกทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้อยู่ก็ตามเจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอแบ่งมรดกของผู้ตายได้

           เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง ว่า ส. เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีนี้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวจึงผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายรวมทั้งโจทก์ที่มีต่อ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. และจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมเป็นของ ส. ในฐานะเจ้าของรวมและแม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียง 8 คน แต่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับทรัพย์สินตามฟ้องจึงมีอยู่ 1 ใน 20 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ซึ่งเกินไปกว่าส่วนแห่งสิทธิที่โจทก์จะพึงได้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น 28 กุมภาพันธ์ 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ร้องสอด

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี
 

   
    
        ร้องสอด คืออะไร  ถ้าไม่ใช่นักกฎหมาย น่าจะงงๆอยู่  การร้องสอด เป็นกระบวนพิจารณาในการดำเนินคดีแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง  เป็นกรณีบุคคลภายนอก ซึ่งมิใช่คู่ความ(โจทก์ จำเลย) อาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด  

        หลักกฎหมาย  บุคคลที่เริ่มดำเนินการคดีแพ่งได้ต่อเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ 

        บุคคลใดจะเป็นผู้ร้องสอดเข้าไปในคดีนั้นได้ จึงต้องเป็นผู้ที่จะต้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของตนตามกฎหมายแพ่ง ในคดีแพ่งที่มีการฟ้องกันอยู่และกำลังพิจารณาอยู่ในศาลแพ่ง โดยการขอเข้าไปเป็นคู่ความในคดีแพ่งที่มีโจทก์กับจำเลย ฟ้องคดีกันอยู่ในศาลชั้นต้น โดยในคดีนั้น ถ้าบุคคลภายนอก เห็นว่าประเด็นพิพาทในคดีดังกล่าว ถ้าศาลพิพากษาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะคดีแล้ว จะทำให้กระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของตน จึงต้องยื่นคำร้องสอด ขออนุญาตศาลเข้าไปในคดีนั้น เพื่อตั้งประเด็น หรือต่อสู้กับประเด็น ที่พิพาทในคดีดังกล่าว เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน จะได้บังคับกันได้ตามคำพิพากษา  เนื่องจาก ได้เข้าไปเป็นคู่ความในคดีนั้นแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลจะมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง  ทำให้สามารถบังคับกันได้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 

        บุคคลภายนอกยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดี ก็ใช่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาล เพราะศาลจะพิจารณาว่าบุคคลภายนอกที่ยื่นเข้ามานั้นมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทในคดีอย่างไร เป็นผู้ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบหรือไม่ อย่างไร ก็ต้องใช้ทีมงานทนายความที่เก่งที่มีประสบการณ์พอสมควร เพราะลำพังการทำความเข้าใจการร้องสอดตามตัวบท ก็ถือว่ายากอยู่แล้ว ถ้าไม่ศึกษาแนวคำพิพากษาของศาล ก็ไปได้ยากเลยในเรื่่องการร้องสอด 

         การร้องสอด มีดังนี้ (มาตรา57(1))ร้องสอดด้วยความสมัครใจเอง เพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้ความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา (ม.57(1) ซึ่งอาจมีลักษณะที่เป็นคำฟ้องที่ตั้งประเด็นโต้แย้ง  ทั้งโจทก์และจำเลยในดดี  ทำให้ผู้ยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นคุู่ความฝ่ายที่สาม มีฐานะเป็นโจทก์  และทำให้โจทก์และจำเลยในคดีนั้น ตกเป็นจำเลยตามคำร้องสอด  คำร้องสอดในลักษณะนี้จึงเป็นคำฟ้อง ที่ต้องแสดงโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172  เช่น 

คำพิพากษาฎีกาที่ 2165/2564
            คดีก่อน จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทและเรียกค่าเสียหายอ้างว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 1 ตกลงจะซื้อคืนโดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระราคาและรับโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 1 ยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนเป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินใช้กรรมสิทธิ์ติดตามและเอาคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของตนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตลอดจนสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่จะใช้สอยทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ส่วนคำร้องสอดของโจทก์ที่ยื่นเข้าไปขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอม และจำเลยที่ 2 กับสามีซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้กระทำการโดยไม่สุจริต โดยมีคำขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เห็นได้ชัดว่า คำร้องสอดของโจทก์ตั้งข้อพิพาทเป็นปฏิปักษ์กับทั้งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์และจำเลยในคดีก่อน มีผลให้คดีตามคำร้องสอดของโจทก์มีลักษณะเป็นคำฟ้องที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลแล้ว แม้คดีก่อนศาลจะจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลในคดีนี้ ก็ถือว่าคดีตามคำร้องสอดของโจทก์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ โดยมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีก่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่2737/2563
           คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า โดยโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2510 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อออกโฉนดในที่ดินพิพาท เป็นการบุกรุกและรบกวนการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย ส่วนการที่จำเลยของดการรังวัดที่ดินพิพาทไว้ก่อนเนื่องจากไม่สามารถนำชี้แนวเขตที่ดินพิพาทได้ชัดเจนนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยได้กระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จึงหามีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ ผู้ร้องสอดทั้งสองอ้างมาในคำร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง กับขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ดังนั้นเมื่อโจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8385/2561
       ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 14 ไร่ 35 ตารางวา ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่าผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกคำร้องและพิพากษาให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของผู้คัดค้าน ส่วนผู้ร้องสอดทั้งสิบห้ายื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามอ้างว่าผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมีเนื้อที่เพียง 2 งานเศษ ส่วนที่เหลือผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าและชาวบ้านร่วมกันเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้ากล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่เกินเนื้อที่ 2 งานเศษ ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์เป็นที่ดินที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จึงมีข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านและเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าโต้แย้งกรรมสิทธิ์ทั้งกับผู้ร้องและผู้คัดค้านในที่ดินส่วนดังกล่าว ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท จำเป็นต้องเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตน ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าจึงร้องสอดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

......................................

       คำร้องสอด  อาจยื่นภายหลังศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ในระหว่างที่มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยเมื่อผู้ร้องสอดเห็นว่าตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น ซึ่งเป็นคำร้องสอด(ม.57(1)) ที่ยื่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนจากการที่มีการบังคับตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 721/2565

       ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อมีคำสั่งยึดแล้ว บุคคลใดจะทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา 12 ทวิ สิทธิของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไปขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ ย่อมเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้ว่าผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปดำเนินการจดทะเบียนที่ดินให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์แล้ว แต่ก็เป็นการดำเนินการหลังจากที่ผู้ร้องสอดยึดที่ดินพิพาทไว้แล้ว อันมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การจดทะเบียนที่ดินนั้นชอบหรือไม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดไว้เพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดในชั้นบังคับคดีตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562 
       การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสองบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว จึงถือได้ว่าผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 มีสิทธิที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทก่อน อันเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป ผลของคำพิพากษาคดีนี้อาจมีผลกระทบสิทธิในการบังคับคดีของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีนี้ และมีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้

...........................................       
         การร้องสอดกรณี(มาตรา 57(2) ด้วยความสมัครใจเอง เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม หรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียที่เดียว โดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการเสมือนหนึ่งว่ามิได้เข้าแทนที่กันเลย

คำพิพากษาศาลฎีกา 4472/2562 
        การที่โจทก์ร่วมเอาที่ดินและอาคารพิพาทออกให้โจทก์เช่าเพื่อพัฒนานั้น โจทก์และโจทก์ร่วมย่อมมุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จและผลประโยชน์จากสัญญาที่ตกลงกันไว้และต่างมีสิทธิหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน การที่โจทก์ร่วมไม่ได้ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทภายหลังสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์และปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ร่วมได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นการรอนสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมได้ร้องสอดเข้ามาในคดีเพราะว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วมด้วย โจทก์ร่วมจึงมีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของโจทก์ร่วมที่มีอยู่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งแม้ว่าโจทก์ร่วมจะเป็นฝ่ายร้องสอดเข้ามาในคดีด้วยตนเอง มิใช่โจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกให้โจทก์ร่วมเข้ามาในคดีก็ตาม ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะเข้ามาในคดีเพราะผลแห่งคดีย่อมกระทบถึงส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมที่มีอยู่กับโจทก์ตามสัญญาเช่า และไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโดยเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ที่เมื่อมีการรบกวนขัดสิทธิเป็นคดีระหว่างผู้เช่ากับบุคคลภายนอก ให้ผู้เช่าเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาในคดีนั้นก็เพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีทั้งหลายรวมไปในคราวเดียวกัน ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาจึงเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

.....................................
         ร้องสอด กรณีด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี 
          (ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี หรือ 
          (ข) โดยคำสั่งของศาลเมื่อศาลนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม 
         แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีดังกล่าว แล้วให้เรียกด้วยวิธียื่นคำร้อง เพื่อให้หมายเรียกพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ หรือในเวลาใดๆต่อมาก่อนมีคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อศาลเป็นที่พอใจว่าคำร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนได้นั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2562
         ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนนั้น จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) (ก) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (3) (ก) แล้ว จำเลยร่วมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าจำเลยร่วมได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งโจทก์และจำเลยร่วมมาในฉบับเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวโต้แย้งสิทธิของโจทก์เดิมหรือจำเลยร่วม เมื่อคำร้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีคำขอให้บังคับจำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงถือคำขอบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้เป็นคำฟ้องเริ่มต้นคดีที่บังคับเอาแก่จำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนซึ่งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และ 58 แล้ว มิใช่คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ขอบังคับแก่โจทก์เดิมที่จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมตามมาตรา 177 วรรคสาม

......................................
      (มาตรา 58)  ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57(1) และ(3) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอด อาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2559
        โจทก์ร่วมทั้งสองบรรยายในคำร้องสอดว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดามารดา ส. จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะที่ ส. ขับ เป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว โจทก์ร่วมทั้งสองต้องขาดไร้อุปการะ โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี จึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับค่าขาดไร้อุปการะดังที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองบรรยายคำร้องว่า การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองขาดไร้อุปการะ จึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองหรือบังคับตามสิทธิของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมทั้งสองได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีเรื่องใหม่ โดยไม่ได้อาศัยสิทธิของโจทก์ทั้งสามแต่ประการใด แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะกล่าวในท้ายของคำร้องสอดว่า ขอให้พิพากษาให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ ดังที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง ก็มีความหมายเพียงว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยทั้งสามเท่ากับที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้อง หาใช่โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้เรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของโจทก์ร่วมทั้งสองแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ร่วมทั้งสองชอบแล้ว ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990-991/2558
         โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีนี้เพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมก็เข้ามาในคดีได้
          แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย


...................................
         ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตาม57(2) ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านี้ในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17870/2557
         จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ชี้สองสถานแล้ว โดยที่จำเลยร่วมได้ระบุในคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมขอถือเอาคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยเป็นคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยร่วมส่วนหนึ่งด้วย ในระหว่างพิจารณาจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ว่าไม่ถูกต้องประการใด ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1. ว่า เครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 654920 ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ตามคำขอเลขที่ 442167 และ 442168 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ และได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในคำพิพากษาต่อมา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยร่วมไม่อาจโต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้อีกเพราะจำเลยร่วมไม่อาจใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นจำเลยร่วม และไม่อาจใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และมาตรา 58 วรรคสอง การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกา 996/2549
        โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าจ้างก่อสร้างแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) จึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การจนศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การของตนเข้ามาอันเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการผิดหลง ศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 แล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องได้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง

....................................
          จะร้องสอดได้ ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือสิทธิของตนถูกโต้แย้ง ถ้าไม่ใช่ ร้องสอดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2538
          ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งผู้ร้องกับ ส. ร่วมกันซื้อมาระหว่างเป็นสามีภริยา ผู้ร้องกับ ส. จดทะเบียนหย่ากัน โดยผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทนั้นตลอดมาและได้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของ ส. ดังกล่าว ผู้คัดค้านเป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ ส. ในคดีอื่นไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคดีนี้ จึงไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีเพื่อขอรับความรับรอง หรือคุ้มครองว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และผู้ร้องไม่สมควรได้สิทธิครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ได้ อีกทั้งคำคัดค้านนั้นได้ยื่นเข้ามาภายหลังที่คดีถึงที่สุดไปแล้ว แม้ผู้คัดค้านอ้างว่าตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่ผลของการคัดค้านโดยการร้องสอดตามมาตรา 57 (1) ผู้คัดค้านจะต้องเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง โดยผู้ร้องมีฐานะเป็นโจทก์ ส่วนผู้คัดค้านมีฐานะเป็นจำเลย ผู้คัดค้านจึงต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังได้กล่าวเพื่อจะได้ใช้สิทธินั้นคัดค้านว่าผู้ร้องมิได้ครอบครองปรปักษ์ เมื่อผู้คัดค้านมิได้อยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่งตามเงื่อนไขที่มาตรา 57(1) บัญญัติ จึงชอบที่ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการตามสิทธิส่วนของตนในคดีอื่น มิใช่โดยการยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 6653/2561 
        ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน และประกาศคำร้องขอทางหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน จึงเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 เมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ การดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
         แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่า ผู้ ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้วและข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้คัดค้านไม่ปรากฏว่าผู้ร้องโต้แย้งสิทธิอย่างใดแก่ผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ผู้คัดค้านเพียงแต่อ้างว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่า ผู้ร้องและขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้อง เข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้

.................................
        คำร้องสอด ไม่นำไปใช้ในการดำเนินการคดีอาญา เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีการบัญญัติถึงการเข้าเป็นคู่ความร่วมไว้ในมาตรา 30 และมาตรา 31 
      
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 7263/2562
        โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าตามฟ้องมาด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการขอให้ศาลสั่งเมื่อมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดอันถือได้ว่าเป็นคำขออุปกรณ์ คดีนี้จึงเป็นคดีความอาญา ซึ่งวิธีพิจารณาคดีจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งหากมีบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ไม่นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม สำหรับเรื่องการขอเข้าร่วมเป็นคู่ความในคดีอาญานั้นมีได้เฉพาะดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และมาตรา 31 ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและกรณีพนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น นอกเหนือจากสองกรณีดังกล่าวแล้ว การขอเข้าเป็นคู่ความในคดีไม่อาจจะมีได้ ทั้งการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาอนุโลมบังคับใช้ตามที่ผู้ร้องฎีกาก็ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติกรณีเข้าเป็นคู่ความในคดีนี้ไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 30 และมาตรา 31 แล้ว ประกอบกับการเป็นคู่ความในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) มีเพียงสองฝ่าย คือโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีคู่ความฝ่ายที่สาม ดังนั้น แม้ผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีและมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลย ผู้ร้องก็ไม่อาจยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกา 4313/2565

    ตามคําร้องสอดผู้ร้องสอดกล่าวอ้างว่าจําเลยไม่เคยมีการประชุม และมีมติแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โจทก์และกรรมการชุดใหม่ของจําเลยฉ้อฉลทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จําเลย ผู้ร้อง และผู้ถือหุ้นเสียหาย คําร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดต้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ในฐานะที่เป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายของจําเลยและเป็นผู้ถือหุ้นที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์และกรรมการชุดใหม่ซึ่งมีผลต่อสถานะของผู้ร้องสอด และกระทบต่อผู้ถือหุ้นตลอดจนทรัพย์สินของบริษัทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิยื่นคําร้องสอดเข้ามาในคดี และมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีมูลหนี้อยู่จริง และเป็นมูลหนี้ที่ขาดอายุความ ทั้งจําเลยหลุดพ้นจากมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ไม่มีคําขอรับชําระหนี้ในคดีที่จําเลยขอฟื้นฟูกิจการขึ้นต่อสู้ได้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจําเลยในขณะนั้น และยังเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ผ. ทำสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แม้ตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้จะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับบริษัท ผ. ก็ตาม แต่ข้อตกลงในสัญญา ข้อ 3. ระบุว่า โจทก์ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. ทันที เมื่อบริษัท ผ. พร้อมในการดำเนินการจดทะเบียน ดังนั้น โจทก์ต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา หากบริษัท ผ. มีความพร้อมในการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อใด โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เมื่อนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีความผูกพันเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียในการใช้หนี้ และเข้าใช้หนี้นั้นแทนจําเลยซึ่งจะมีผลให้โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ผ. เรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) แม้ขณะจําเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. แต่ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 โจทก์ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 แปลง ข้างต้น ให้แก่บริษัท ผ. เพื่อให้บริษัท ผ. นําไปใช้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารโดยอ้างถึงข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ แสดงว่าโจทก์เข้าผูกพันตนชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโดยการส่งมอบเอกสารสิทธิของที่ดินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัท ผ. ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชําระหนี้ และบริษัท ผ. ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาแล้ว ดังนี้ มูลหนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. หลังจากที่จําเลยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เป็นเรื่องของเวลาการชําระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่มูลหนี้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เมื่อการฟื้นฟูกิจการของจําเลยเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลย จําเลยจึงหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/75 แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติระบุว่า การหลุดพ้นจากหนี้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ทั้งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. หนี้จะระงับสิ้นไปเมื่อได้มีการชําระหนี้ครบถ้วน ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่จําเลยหลุดพ้นจากการชําระหนี้คงมีผลเพียงว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ และจําเลยไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เท่านั้น แม้จะฟังว่าหนี้ขาดอายุความ แต่การที่หนี้ขาดอายุความก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุว่าให้หนี้ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลย ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้กับสัญญาจำนำหุ้นดังกล่าว จึงยังคงมีอยู่ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลยแล้ว ผู้บริหารของจําเลยย่อมมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจําเลยได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 (1) การที่จําเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ในหนี้ที่โจทก์ได้ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้ทำสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่จําเลยทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย จําเลยจึงต้องชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องให้แก่โจทก์ จําเลยจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สัญญาจำนำจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน ความรับผิดตามสัญญาจำนำหุ้นย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธาน ดังนี้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำหุ้นจึงต้องบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จเท่านั้น

 ------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น  กุมภาพันธ์ ,กรกฎาคม 2566 จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2