วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

กันส่วนแบ่งมรดกให้ทายาทอื่นที่ไม่ใช่คู่ความ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


 
    ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติกฎหมาย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก แม้จะมีการตกลงกันระหว่างทายาทของผู้ตายยินยอมให้มีส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกเท่ากับทายาทชั้นบุตร ก็เป็นเพียงข้อตกลงในทางแพ่ง ไม่ทำให้เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่2494/2565

       โจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ตามทางนำสืบจะได้ความว่า จำเลยทั้งสามและทายาทของผู้ตายตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตรก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในทางแพ่ง ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ เพราะการเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเองไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตาม ป.อ. มาตรา 354 บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ได้แก่ บรรดาทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

        คดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดก จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้  กรณีที่ทายาทไม่ได้ร้องสอดเข้ามาในคดี  ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอดให้เข้ามารับส่วนแบ่ง หรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้ (ป.พ.พ.มาตรา 1749)  แต่

         เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าเจ้าของรวมในทรัพย์มรดก  ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย คำวินิจฉัยชีขาดตัดสินคดีของศาล ต้องผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคน รวมถึงบุคคลภายนอกที่เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกด้วย แม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้คุู่ความในคดีมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียงเท่าที่เป็นคู่ความเท่านั้น  คู่ความในคดีมีสิทธิได้รับเฉพาะส่วนแบ่งทรัพย์มรดกตามส่วนของตน  จากสิทธิของทายาททั้งหมดที่มีสิทธิได้รับมรดก  ซึ่งไม่ใช่กรณีกันส่วนแบ่งมรดกให้ทายาทคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ความ  เช่น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2559

          ผู้จัดการมรดกทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้อยู่ก็ตามเจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอแบ่งมรดกของผู้ตายได้

           เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง ว่า ส. เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีนี้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวจึงผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายรวมทั้งโจทก์ที่มีต่อ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. และจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมเป็นของ ส. ในฐานะเจ้าของรวมและแม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียง 8 คน แต่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับทรัพย์สินตามฟ้องจึงมีอยู่ 1 ใน 20 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ซึ่งเกินไปกว่าส่วนแห่งสิทธิที่โจทก์จะพึงได้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น 28 กุมภาพันธ์ 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น