วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 


          การที่จะกล่าวถึง ความเสียหายอย่างอื่นอัมมิใช่ตัวเงิน ต้องเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการการกระทำละเมิด ซึ่งมีหลักกฎหมาย คือ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น   ซึ่งการกระทำละเมิดอาจจะเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่ง หรือเป็นการกระทำผิดทางอาญา ก็จะทำให้เกิดสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากกระทำดังกล่าวได้ 

           ค่าสินไหมทดแทน ที่ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องได้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ คือ การคืนทรัพย์ที่เสียหายไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์นั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะถึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอันได้ก่อขึ้น และมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากการใช้ราคาทรัพย์นั้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นหนี้อย่างหนึ่ง ที่ในทางบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องหนี้ ให้ถือว่า หนี้อันเกิดจากมูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด การใช้ราคาทรัพย์ เป็นการชำระหนี้ที่เป็นเงิน ที่จะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ผิดนัดได้ ปัจจุบันใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่เวลาที่ทำละเมิด  

คำพิพากษาศาลฎีกา 4189/2563

              การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินที่ผู้บริโภคเสียไปจากการถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือราคาทรัพย์นั้น ... ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อจนได้เงินไปจากผู้บริโภค นอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ โดยถือว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคแต่ละคนเสียไปจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง คือจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้

คำพิพากษาศาลฎีกา 4028/2564

             เมื่อรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมสูญหายไปโดยความประมาทของจำเลย และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อม เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

           ถ้าทำให้เขาถึงตาย ค่าสินไหม ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการปลงศพ เช่น ค่าส่งศพกลับภูมิลำเนา ค่าซื้อที่ฝังศพ ค่าอาหารเลี้ยงแขก ค่าพิมพ์หนังสืองานศพ เป็นต้น (จากแนวคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกา)

           ถ้ามิได้ตายทันที ค่าสินไหม ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้น  ถ้าเหตุที่ตายทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายได้อุปการะไว้หรือไม่ 

          ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน นั้น เกิดจากการกระทำละเมิดที่ทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย เสรีภาพแก่ผู้นั้น ทำให้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้ 
เช่น  

คำพิพากษาศาลฎีกา 4404/2564

               แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญตาม ป.อ. มาตรา 392 แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายการกระทำดังกล่าวมาในคำฟ้อง ทั้งไม่ระบุในคำขอท้ายฟ้องไว้ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้การที่จำเลยใช้อาวุธปืนเล็งข่มขู่ผู้ร้อง แม้จะไม่ได้ทำให้ผู้ร้องบาดเจ็บ แต่ก็เป็นการทำให้ผู้ร้องเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของผู้ร้อง เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ผู้ร้องถูกกระทำละเมิดจึงชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกา3945/2558

                   ผลของการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาขวาท่อนล่าง ซึ่งมี 2 ท่อนคู่กันกระดูกแต่ละท่อนได้หัก 2 แห่ง และมีแผลฉีกขาดที่ปลายขาขวา ยาว 20 เซนติเมตร แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาใส่แผลที่ฉีกขาด ต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกที่หัก ถึง 2 ครั้ง โจทก์ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนานนับปี ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก มีรอยแผลเป็นและไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเพราะขายาวไม่เท่ากัน เห็นได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง และการที่โจทก์ต้องรับการผ่าตัดกระดูกขาขวานั้นเอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานขับรถจักรยานยนต์ส่งเอกสารได้จนถูกบริษัทนายจ้างสั่งให้ออกจากงาน แม้ต่อมาโจทก์จะได้กลับไปทำงานขับรถส่งเอกสารอีก แต่ก็ไม่สามารถขับไปส่งในระยะไกล ๆ ได้ดังเดิม ทำให้รายได้โจทก์ลดลงจากเดิมเดือนละ 15,000 บาท เหลือเพียง 8,000 บาท อันถือได้ว่า เป็นการเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วนที่คิดเป็นเงินได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา ส่วนจำนวนค่าเสียหายโจทก์ควรจะได้เท่าใดนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกา 811/2558

             ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายอนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายเรียกร้องเอาได้ สำหรับค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านของโจทก์ร่วมนั้น การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย ไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้

----------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้นวันที่ 22 ธันวาคม 2565,จากhttp://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สถานศึกษาให้เด็กการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

        บทความนี้ เสนอแง่มุมของความรับผิดของสถานศึกษาที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายความว่า การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา ดังนั้น สถานศึกษาที่ต้องรับเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วให้เด็กออกกลางคัน หรือจำหน่ายออกจากระบบทะเบียนของนักเรียน อันมีผลให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับไม่ได้เข้าเรียนตามกฎหมาย จะมีความรับผิดอย่างไร  

        ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 การศึกษาภาคบังคับ หมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ  เด็ก หมายความว่า เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่เด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว  

         ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ผู้ปกครองที่มีเด็กอยู่ในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับจะต้องส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา ถ้าไม่ส่งเข้าเรียนในสถานศึกษามีโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท  ผู้ซึ่งมิใช่ผู้ปกครอง มีเด็กซึ่งไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาอาศัยอยู่ด้วย ต้องแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เด็กมาอาศัยอยู่ เว้นแต่ผุ้ปกครองอาศัยอยู่ด้วย ถ้าไม่แจ้งหรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  และผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  โทษดังกล่าวถือเป็นโทษทางปกครองของผู้ปกครอง หรือผู้ใดที่ไม่ได้ส่งเด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับเข้าเรียนในสถานศึกษา

         เมื่อการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ  ถ้าสถานศึกษาของรัฐ ให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนการจัดศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ผู้อำนวยการสถานศึกษา ถือเป็นผู้กระทำความผิดวินัย ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานทางการศึกษา
มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล โดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน และไม่ให้เกิดความเสียหายแต่ทางราชการ และสำหรับโทษทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ถือเป็นการกระทำผิดฐาน ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่โทษทางปกครอง ที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การบังคับทางปกครองให้หน่วยงานชำระเงินค่าปรับดังกล่าว ไม่ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐด้วยกัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 63/1 ซึ่งเป็นการแก้ไขฉบับที่ 3 พ.ศ.2562    

            ถ้าเป็นสถานศึกษาเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากราชการให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้  ถ้าให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนการจัดศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545  ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ถือเป็นการกระทำผิดฐาน ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  และถือเป็นการกระทำที่เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชน เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบและสั่งให้มีการแก้ไขได้ตามมาตรา 93 และมาตรา 95 การไม่ปฏิบัติตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่ง อาจมีผลกระทบต่อใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษาในระบบได้ 

            การให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย  ยังถือเป็นการกระทำละเมิด ที่ผู้ปกครองมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากสถานศึกษาในการกระทำละเมิดดังกล่าวได้ด้วย  ดังเช่นคำพิพากษาศาลภีกาที่ 6234/2564 ดังนี้      

 คำพิพากษาศาลฎีกา 6234/2564

            ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ “การศึกษาภาคบังคับ” “สถานศึกษา” “เด็ก” แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับจึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนมีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียนกับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432

             ดังนั้น ความรับผิดของสถานศึกษาที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน หรือจำหน่ายออกจากระบบทะเบียนของนักเรียน อันมีผลให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับไม่ได้เข้าเรียนตามกฎหมาย ย่อมมีความรับผิดตามที่ได้นำเสนอ โดยในส่วนของความรับผิดทางละเมิดนั้น สถานศึกษาของรัฐ ย่อมต้องรับผิดในความเสียหายทางละเมิดเช่นเดียวกัน กับสถานศึกษาเอกชนที่มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีดังกล่าว 

-----------------------------------------------
อ้างอิง

            พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545
            พระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564 ,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้นวันที่ 16 ธันวาคม 2565,จากhttp://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กู้ยืมเงินเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ผิดอาญา

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


            กู้ยืมเงินกันระหว่างบุคคล ถ้ามีการตกลงกำหนดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถนำมาฟ้องร้องบังคับกันได้ มีผลให้ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตราแล้ว  ผู้ให้กู้จะเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษทางอาญา ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560  ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในการต่อสู้คดีในศาล ผู้กู้ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวกันไว้ ศาลก็สามารถหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้  

            สาระสำคัญตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 มีว่า 

            บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            (1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

            (2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยที่เกินอัตรา ที่กฎหมายกำหนด หรือ

            (3) กำหนดจะเอาหรือรับเอา ซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของ หรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควร ตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

            บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องจากบุคคลอื่นโดยรู้ว่าเป็นสิทธิที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือใช้สิทธินั้นหรือพยายามถือเอาประโยชน์แห่งสิทธินั้น ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4

            ซึ่งในการกู้ยืมเงินกัน ผู้ให้กู้ยืมย่อมรู้ข้อกฎหมายนี้ดีอยู่แล้ว อาจจะมีการกำหนดข้อความให้เป็นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงินกัน เพื่อเหตุผลที่จะมีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือต้องการรับเอาผลประโยชน์จากการให้กู้ยืมเงินมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเข้าเงื่อนไขข้อ (2) หรือ(3) ผู้กระทำย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน ซึ่งสำเร็จทันทีที่มีการให้กู้ยืมเงินกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2565

             ความผิดฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยให้ผู้เสียหายทั้งห้ากู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มิใช่ว่าจำเลยจะต้องได้รับดอกเบี้ยจากผู้เสียหายทั้งห้าก่อน

           การกู้ยืมเงินกันกว่าสองพันบาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งในการทำสัญญากู้ยืมเงินกันที่มีการลงลายมือชื่อของทั้งผู้กุ้และผู้ให้กู้และพยาน ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีการขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้นด้วย มิฉะนั้น จะนำหลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ว่ามีการกู้ยืมเงินกันมิได้ มีผลถือว่าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4574/2561

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์นำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8175/2551

             หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 นั้นอาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กัน แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น

            การคิดดอกเบี้ยกู้ยืมตามกฎหมาย มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561
               โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761-8763/2561
                 ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177
  •           เมื่อการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การนำสืบการใช้เงิน เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือขื่อผู้ให้ยืม หรือ เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืน หรือแทนเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว แสดงว่าเมื่อมีการชำระหนี้เงินกู้ที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้ให้กู้ยืมต้องออกหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานในการรับเงินให้ผู้กู้  หรือหลักฐานการปิดบัญชีเงินกู้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้กู้ที่จะต้องติดตามและเก็บหลักฐานใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการชำระหนี้เงินกู้ไว้ต่อสู้ผู้ให้กู้ 
 คำพิพากษาศาลฎีกา 1655/2549

        จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว จำเลยจะต้องมีหลักฐานตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดมานำสืบ จำเลยมีแต่เพียงตัวจำเลยและน้องของจำเลยเป็นพยาน ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง สัญญากู้ยืมเงินก็ยังคงอยู่ที่โจทก์และยังไม่มีการแทงเพิกถอน จำเลยจึงต้องห้ามมิให้นำสืบการใช้เงินตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555

        การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 36/2555

        เอกสารหมาย จ.2 นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าจำเลยรับโฉนดที่ดินจาก ส. แล้ว เอกสารดังกล่าวยังมีข้อความที่แสดงว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินจาก ส. จำนวน 2,000,000 บาท จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ไม่เจตนาให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ตาม การที่คู่สัญญาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือไว้แล้ว หามีผลทำให้เอกสารฉบับนี้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงใช้เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือฟ้องให้จำเลยรับผิดได้

        การกู้ยืมเงินระหว่าง ส. กับจำเลยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยอ้างว่าชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม ไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5863/2549

         จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินไว้ จำเลยจะนำสืบการใช้เงินต้นเงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่สำเนาสัญญากู้ยืมที่โจทก์ส่งคืนจำเลยไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนหลักฐานแห่งการกู้ยืมแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่สามารถนำสืบการใช้ต้นเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ ส่วนการนำสืบการชำระดอกเบี้ยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยนำสืบได้

          กรณีนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ถือว่าไม่ใช่การนำสืบการใช้เงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง  เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป(321) สามารถนำสืบการใช้เงินได้ไม่ต้องห้าม   

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10227/2551

         การนำสืบการชำระหนี้โดยนำเงินฝากเข้าบัญชีให้โจทก์ และการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นผู้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์ เป็นการนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่การนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดง ซึ่งต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบได้

คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 6823/2551

        จำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ว่า จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร ก. ให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีของจำเลยทุกเดือน และโจทก์ยอมรับว่าได้รับบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวไว้ถอนเงินจากบัญชีของจำเลย จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลให้ศาลเห็นถึงวิธีการชำระหนี้ว่าได้ปฏิบัติต่อกันเช่นใด ไม่อยู่ในบทบังคับเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2550

         ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ใช้บังคับกับกรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบพยานบุคคลในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยจึงนำสืบได้

        สรุปคือ  การกู้ยืมเงิน บุคคลใดจะให้กู้ยืมเงินกัน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ยืม และต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่กฎหมายกฎหมายกำหนด   การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ในส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ผู้กู้ไม่ต้องชำระ รับผิดเฉพาะเงินต้น ผู้ให้กู้มีความผิดเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำหรือปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560  ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เพราะอ้างว่า ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงินกัน เช่น สัญญาขายฝากที่ดินอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน   

---------------------------------------------------

อ้างอิง
           คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ,สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม 2565,จาก http://deka.supremecourt.or.th/printing/deka

 

หย่ากัน แต่ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา การหย่าเป็นโมฆะ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


        การหย่า เป็นกรณีสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน(1461)กันอีกต่อไปแล้ว จึงได้ทำการหย่ากัน ซึ่งจะมีผลเป็นการหย่าต้องเกิดจากเจตนาที่แท้จริงที่จะหย่า และไปแสดงความประสงค์หย่า โดยอาจจะฟ้องคดีต่อศาล หรือหย่าโดยความยินยอม ที่ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน(1514) และนำความประสงค์นั้นไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน(1515) จะทำให้การหย่ามีผลในทางกฎหมาย ทำให้สิ้นสุดการสมรส ไม่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ไม่เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
 
        การหย่ากันโดยเหตุผลทางธุรกิจ หรือเหตุผลอื่นๆ  แต่ในความจริงภายหลังการจดทะเบียนหย่าแล้ว ยังคงอยู่บ้านเดียวกัน อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ในยามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดป่วยไข้ยังมีการดูแลรักษากันอยู่  ถือว่าไม่มีเจตนาหย่า ในทางกฎหมายถือว่า การจดทะเบียนหย่ามีผลเป็นโมฆะ ใช้บังคับมิได้ จึงยังถือเป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันอยู่  โดยมีคำพิพากษาของศาลฎีกา วินิจฉัยไว้ดังนี้ 

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8333/2560

              ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้



----------------------------------------------------

อ้างอิง
ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ,สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม 2565,จาก http://deka.supremecourt.or.th/printing/deka

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารผิดอาญา

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

         

    
        รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารแล้ว ให้บัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มให้กับผู้ว่าจ้างไปใช้ประโยชน์อื่นใดหรือนำไปใช้ทำธุรกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับจ้างเปิดบัญชีมีความผิดอย่างไร ถือว่ารู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของผู้นำบัญชีไปใช้หรือไม่ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

         ผู้รับจ้างเปิดบัญชี ตกอยู่ข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าพิสูจน์ในแนวทางว่าตนเป็นเพียงผู้รับจ้างเปิดบัญชี ก็ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้รู้เห็นในความผิดฉ้อโกง แต่เมื่อบัญชีที่เปิดให้ผู้ว่าจ้างนำไปใช้ในการฉ้อโกง ผู้รับจ้างเปิดบัญชีย่อมเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้จะเข้าข่ายเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3385/2563
        จำเลยทั้งสองถูกฟ้องว่า เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิด แหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริง คดีนี้มีความเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ ซึ่งมีลักษณะกระทำความผิดเป็นเครือข่าย มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการมอบหมายหน้าที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งพยายามปิดบังเส้นทางการเงินเพื่อมิให้เจ้าพนักงานเข้าถึงตัวผู้กระทำความผิด ตามรูปคดีจึงเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยานดังเช่นคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น จำต้องอาศัยพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เมื่อคดีนี้โจทก์มีพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ และมีสาระสำคัญตรงกับเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ทั้งเมื่อพิจารณาพยานเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่ามีเงินหมุนเวียนผ่านเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนมากผิดปกติเกือบ 30 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริตใดจึงมีเงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวนมากเช่นนี้ อีกทั้งมีลักษณะเป็นการนำเงินเข้าและถอนออกจากบัญชีอย่างรวดเร็วส่อให้เห็นพิรุธ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังโอนและรับโอนเงินจากบัญชีของบุคคลอื่นอีกหลายบัญชีโดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปของเงินอย่างชัดเจน และจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของ ซ. พบว่าเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 หลังจากถูกอายัดบัญชีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 พบว่าในการทำธุรกรรมทางบัญชีมีเงินหมุนเวียนมากถึง 400 ล้านบาทเศษ โดย ซ. ทำธุรกรรมทางบัญชีด้วยตนเองทุกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าชี้แจงถึงที่มาของเงินในบัญชีตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานตำรวจ ผิดวิสัยของสุจริตชนเช่นเดียวกัน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวของ ซ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินค่ายาเสพติดให้โทษของเครือข่าย ฐ. กับพวก เช่นกัน ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่ารับจ้างเปิดบัญชีให้กับ ธ. เครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กรณียังปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังถูกฟ้องข้อหาสมคบกันฟอกเงินในลักษณะเดียวกันอีกหลายสำนวน ตามคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งบางคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว อันเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการสมคบกันฟอกเงิน สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในการกระทำความผิดคดีนี้ของจำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2) เพราะการกระทำความผิดในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหลายขั้นตอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ร่วมกระทำความผิดบางคนอาจไม่รู้จักกัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วทำให้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริงตามฟ้อง

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2563
         นางสาว ก.ถูกคนร้ายร่วมกันหลอกหลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น โจทก์ร่วมหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของบุคคลที่จำเลยที่ 5ถึง7 ว่าจ้างให้เปิดบัญชีธนาคารและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเบิกถอนเงินสด โจทก์ฟ้องจำเลยที่5ถึง7 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด แต่จำเลยที่ 5 อ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 หลอกหลวงให้คนมาเปิดบัญชีเงินฝากโดยจำเลยที่1 จะนำไปดำเนินการใช้ในการดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติ ส่วนจำเลยที่6 ถึง 7 อ้างว่าถูกจำเลยที่5 ชักชวนให้หาคนมาเปิดบัญชีเพื่อให้คนต่างชาติโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อทำธุรกิจอีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที 5 ถึง 7 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำบัญชีเงินฝากไปำระทำความผิด แต่จำเลยที่ 5ถึง7ให้การในชั้นสอบสวนว่าได้รับค่าจ้างให้หาคนมาเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าของบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดกฎหมาย จำเลยที่5ถึง7จะอ้างว่าถูกหลอกใช้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่5ถึง7 จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเบิกถอนเงินสดของผู้อื่นโดยมิชอบ


           การรับจ้างเปิดบัญชี เพื่อนำไปให้ในการฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ หรือเปิดบัญชีเพื่อให้ผู้อื่นโอนเงินที่เกิดจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่105/2561
            การที่จำเลยถอนเงินเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝากรวม 9 ครั้ง ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป.เพื่อนไปให้ ต.ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ กับพวกถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2562 มาตรา 5(2) มาตรา 60

            ความผิดฟอกเงิน ไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีในความผิดมูลฐานก่อน

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9092/2553
            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่าในวัน เวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายมะขาม นำเงินจำนวน 1,000,000 บาท ฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซีคอนสแควร์โอนไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโพนพิสัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกับนายมะขามร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่นั้น ผู้กระทำต้องปกปิดเป็นความลับวางแผนการติดต่อซื้อขายรับส่งยาเสพติดและชำระเงินกันอย่างละเอียด ทั้งหลีกเลี่ยงการยึดถือยาเสพติดและเงินที่ได้มาจากการขายไว้เอง จึงยากแก่การหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนมั่นคงมานำสืบเอาผิดกับคนร้ายได้ จำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธในการกระทำของผู้นั้น แม้ไม่มีการดำเนินคดีแก่นายมะขามในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยตรงและความผิดฐานฟอกเงินของนายมะขามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงซึ่งเจ้าพนักงานสืบสวนได้ความมาตามคำเบิกความของพันตำรวจโทชมพู่์และคำให้การในชั้นสอบสวนของนายชมนาดซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมซึ่งทำให้น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาวดำ นายมะม่วง และนายทองหลาง ซึ่งเป็นพี่น้องและบิดาของนายมะขามได้ความตรงกันว่า นายมะขามไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นใด นอกจากเปิดอู่พ่นสี ล้างรถตามบันทึกคำให้การ ซึ่งไม่น่าจะทำให้มีรายได้มากนัก ทั้งนายมะขามไม่ใช่คนมีฐานะดีมาก่อน แต่เจ้าพนักงานยึดทรัพย์สินของนายมะขามได้มากมาย ทั้งเงินสด เงินฝากธนาคาร ที่ดิน รถยนต์และทรัพย์สินอื่น ๆ ตามบัญชีของกลางคดีอาญา เห็นได้ชัดว่ามีมากเกินฐานะและความสามารถในการหามาได้หากประกอบอาชีพสุจริต ขณะเจ้าพนักงานเข้าตรวจยึดทรัพย์สินของนายยมหินและของนายมะขาม นายมะขามก็ไม่อยู่เพื่อแสดงหลักฐานพิสูจน์ถึงที่มาของทรัพย์สินของตน กลับหลบหนีไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนางเหลือง เพียงพอให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่านายมะขามเกี่ยวข้องและมีรายได้จำนวนมาก จากการลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในละแวกจังหวัดสมุทรปราการ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าก่อนการโอนเงินรายนี้ 2 เดือน เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านของนายมะขามที่จังหวัดเพชรบูรณ์และยึดทรัพย์สินหลายรายการ รวมทั้งเงินสดจำนวนมากถึง 1,350,000 บาท แม้ในเวลาต่อมานางเหลืองจะได้เงินจำนวนดังกล่าวคืนไป แต่เชื่อว่าเป็นเหตุให้นายมะขามต้องรีบยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้พ้นจากการตรวจยึด สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 นางสาวดำน้องของนายมะขามนำเงินจำนวน 500,000 บาท ฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสายลวดเพื่อโอนไปเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโพนพิสัย จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่นายมะขามโอนให้แก่จำเลยเป็นเงินที่นายมะขามได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเลิกร้างกับนายมะขามแล้วฟังไม่ขึ้นเพราะขัดแย้งกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนดังที่วินิจฉัยมา จำเลยซึ่งยังเป็นภริยาของนายมะขาม อยู่กินด้วยกันมานานถึงสิบกว่าปีและมีบุตรด้วยกันสองคน ย่อมต้องทราบดีว่านายมะขามได้เงินจำนวนดังกล่าวมาอย่างไร ประกอบกับที่ฟังได้ว่า หลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน จำเลยก็ถอนเงินจำนวน 1,500,000 บาท ออกจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว ล้วนเป็นพิรุธที่ทำให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยทราบดีว่าเงินที่รับโอนจากนายมะขามเป็นเงินที่นายมะขามได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า คดีความผิดมูลฐานไม่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยหรือนายมะขามในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษก็ดี ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3227/2548 ของศาลชั้นต้นที่นายมะขามถูกฟ้องในความผิดฐานฟอกเงินจำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้วก็ดีนั้น เห็นว่า เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับพวกฟอกเงินตามฟ้อง ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยได้ กรณีไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องมีการดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ ทั้งในการพิพากษาคดีอาญาก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน


หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
             การกระทำความผิดฉ้อโกง มีองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้หลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

              ความผิดฉ้อโกง เป็นความผิดอาญาอันยอมความได้ (ปอ.ม.348) ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด(ปอ.ม.96) เพื่อมิให้ขาดอายุความ ซึ่งความผิดฉ้อโกงมีอายุความดำเนินคดี โดยต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดไปยังศาลภายในสิบปี นับแต่วันที่กระทำผิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความ(ปอ.ม.95(3) 

              พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
              มาตรา ๕ ผู้ใด
              (๑) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือ ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว้าก่อน ขณะหรือหลังการกระทําความผิด มิให้ ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ 
              (๒) กระทําด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออําพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจําหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด
              (๓) ได้มาครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน นั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฟอกเงิน  

- - - - - - - -  - - - - - - - - - - -

          อ้างอิงจาก

                  คำพิพากษาศาลของฎีกาที่ 3385/2563 ,2021/2563,105/2561,9092/2553, ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น   ตุลาคม 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

                 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม ,สำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน,สืบค้น 29 พฤศจิกายน 2565,จากhttps://www.amlo.go.th/amlo-intranet/media/k2/attachments/amlaYupdateY091017_3831.pdf







วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

การบังคับจำนอง (กฎหมายแพ่ง)

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


การบังคับจำนอง

         การบังคับจำนอง  มีหลักฎหมายกำหนดขั้นตอนการบังคับจำนองไว้ การทำไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมาย มีผลอย่างไร ต้องไปทำความเข้าใจกัน

         จำนอง(702) เป็นสัญญาที่ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง  

         ผู้จำนอง จะจำนองทรัพย์สินของตนจำนองเพื่อประกันหนี้ของตนเอง (702) หรือจำนองเพื่อประกันหนี้ของบุคคลอื่นก็ได้(709)  โดยผู้เป็นเจ้าของในขณะจำนองเท่านั้นที่จะจำนองได้ (705)  สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์ซึ่งจำนอง(704) ต้องมีจำนองเงินระบุไว้เป็นเงินไทยจำนวนตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองตราไว้เป็นประกัน (708)  ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลหนึ่ง จะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้ (712) โดยสัญญา จำนอง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่(714) เป็นกรณีกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ เป็นโมฆะ (152) ซึ่งโมฆะกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ (172) 

        กรณี สัญญาจำนองที่ทำกันไว้เป็นหนังสือ แต่ไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ยึดโฉนดตัวจริงไว้ ไม่ถือว่าเป็นการจำนองตามกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ที่อาจจะอ้างเนื้อความในสัญญาให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในภายหน้าได้ 

          คำพิพากษาศาลฎีกา 6065/2565 อันโมฆะกรรมนั้นเป็นการกระทำที่เสียเปล่า ไม่มีผลอย่างใดในทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้มีส่วนได้เสียไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีที่ทำนิติกรรมเท่านั้น แต่บุคคลใดที่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 ของศาลชั้นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์  โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่เป็นโมฆะ โดยไม่จำต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียก่อน

          ทรัพย์ที่จำนอง (703)ได้แก่อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนแล้วตามกฎหมาย เช่น เรือมีระวางต้ังแต่ห้าตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ(ช้าง ม้า วัว ควาย ล่อ ลา) สังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จดทะเบียนเฉพาะการ เช่น

           รถยนต์ที่จะทะเบียนแล้ว รถพ่วง รถบดถนน รถแทรคเตอร์ที่จดเบียนแล้ว ให้เป็นทรัพย์สินประเภทจดจำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ โดยการจำนองต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด และต้องจดทะเบียนจำนองต่อนายทะเบียน  ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1  แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 15 พ.ศ.2551                 สิทธิการเช่าที่เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมที่กำหนดเวลาเช่าไว้เกิน 30ปีแต่ไม่เกิน 50 ปี ตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม พ.ศ.2542
           เรือที่มีขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป ที่เดินด้วยเครื่องจักรกล และเป็นเรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทางทะเล พ.ศ.2537
           เครื่องจักร ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2514 มาตรา 5 บัญญัติให้เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินีั้ให้ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ตามมาตรา 703(4)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้นำมาตรา 1299 มาตรา 1300 มาตรา 1301 มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

            การบังคับจำนอง (728) เป็นกรณีที่หนี้ถึงกำหนดชำระแล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ผู้รับจำนองต้องการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่จำนอง ซึ่งต้องทำดังนี้ 

            1.ผู้รับจำนองมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น 

           2.ถ้าบอกกล่าวแล้ว ลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว คือไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่เจ้าหนี้กำหนด  ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดได้ 

            3.ถ้าผู้จำนองเอาทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นที่ต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้จำนองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลา 15 วัน ให้ผู้จำนองหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น นับแต่วันที่พ้นกำหนด 15 วัน

            กรณีผู้ซื้อทรัพย์ที่ติดจำนองจากการขายทอดตลาด ก็ต้องชำระหนี้จำนองให้ผู้รับจำนองตามคำบอกกล่าวให้ชำระหนี้จำนอง 

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่2191/2564 จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรโดยติดจำนองและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องถือว่าผู้จำนองเดิมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป และจำเลยได้สิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 และโจทก์ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 735 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองและควรทราบถึงภาระหนี้จำนองมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง จึงต้องชำระหนี้จำนวนรวม 2,650,000 บาท พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญาจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 ประกอบมาตรา 738 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้จำนองรับผิดชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจึงต้องรับผิดไม่เกินกว่าภาระหนี้จำนองของผู้จำนองดังกล่าว

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1148/2564   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 (เดิม) ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษากำหนดไว้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้ว การดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย แม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นตามคำนิยามของมาตรา 280 (1) (เดิม) แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบตามบทบัญญัติมาตรา 306 (เดิม) นั้น ต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดโดยต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าจะปรากฏทางทะเบียนหรือโดยประการอื่นก็ตาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศขายทอดตลาดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด 

           กรณีที่บังคับจำนองได้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล (729/1 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ) เป็นกรณีที่ผู้จำนองมีหนังสือแจ้งแก่ผู้รับจำนองให้เอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล โดยมีเงื่อนไข

           1.หนี้ถึงกำหนดชำระ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์อันเดียวกัน และผู้จำนองแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้ผู้จำนองดำเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง โดยไม่ต้องส่งฟ้องเป็นคดีต่อศาล
          2.ผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น
          3.ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จำนองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด
          4.กรณีผู้รับจำนองไม่ได้ดำนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จำนองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันพ้นกำหนดดังกล่าว (แต่ยังต้องรับผิดในหนี้ที่จำนองไว้เป็นประกันอยู่) 
          5.เมื่อผู้รับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนอง ได้เงินสุทธิเท่าใด ผู้รับจำนองต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ามีเงินเหลือต้องส่งคืนผู้จำนอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

             แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ให้เป็นไปตาม 733 คือ เงินขาดจำนวนเท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น และในกรณีที่ผู้จำนอง เอาทรัพย์จำนองประกันหนี้บุคคลอื่น ผู้จำนองรับผิดเพียงเท่าที่ 727/1 กำหนดไว้ คือไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์ที่จำนองในเวลาบังคับจำนอง หรือเอาทรัพย์จำนองหลุด โดยข้อตกลงที่ให้ผู้รับจำนอง รับผิดเกินกว่าที่กำหนด( 727/1 ว 1)  หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก  

           เจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องให้บุคคลอื่น และแจ้งการโอนให้ลูกหนี้ทราบแล้ว(306) ถือว่าการโอนหนี้ประธานสมบูรณ์ตามกฎหมาย สิทธิจำนอง จำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกียวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้น สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้น ตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย(305)เจ้าหนี้ที่เป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิบังคับจำนองได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา2260/2562 ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงแต่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ หาได้กำหนดบังคับไม่ว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ความว่า ธ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อ ธ. ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้ต้องถือว่า การโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำตามแบบพิธีการ ด้วยการทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องคือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ส่วนมาตรา 6 พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่น ก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่าง ธ. กับโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (1)
         ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาท ถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ   
           เมื่อ ม. ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ม. ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจาก ธ. รับโอนหนี้จาก ม. จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 6 และมาตรา 95

            แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ข้อ 6 ระบุว่า "เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ" แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่าหนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น

             ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อน จึงจะบังคับจำนองได้ (735)
             ผู้ซื้อทรัพย์ที่ติดจำนอง(ผู้รับโอนทรัพย์จำนอง) ไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่เกินกว่าราคาทรัพย์ที่จำนอง แต่ทรัพย์สินที่จำนองย่อมประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ด้วย ถ้าสัญญากำหนดดอกเบี้ยของต้นเงินไว้ ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลผูกพันผู้ซื้อทรัพย์จำนองด้วย  แต่บังคับให้ชำระดอกเบี้ยย้อนหลังเกิน 5 ปีไม่ได้  

               คำพิพากษาศาลฏีกา3259/2562 จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้
              ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27

        เจ้าหนี้จำนอง เป็นผุ้มีทรัพย์สิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำนอง มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ และมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ ไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้ในคดีล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้ปลดจากการล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้จำนองยังมีสิทธิบังคับจำนองอยู่ 

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้

           ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดแทนการขายทอดตลาดได้(729) เมื่อ

           1.ลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ยมาเป็นเวลาถึง 5 ปี และ

           2.ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินจำนอง นั้นน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ

           ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์มีประมาณราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น (733)  

            ถ้าตกลงกันไว้เสียก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่าถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผุู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอืนอ่างใด นอกจากบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนอง ข้อตกลงนั้นไม่สมบูรณ์(711) บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากมาตรา 728 (การบังคับจำนอง)  มาตรา 729 (การเอาทรัพย์จำนองหลุด) และ มาตรา 735 (การบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนอง) เป็นโมฆะ

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3613/2564  โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันและในวันทำสัญญาจำนองจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้า มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนอง และเมื่อโจทก์ผิดนัดชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปโอนที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เสียเอง จึงไม่เป็นไปตามบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนองและเป็นผลให้ข้อตกลงที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่และพาณิชย์ มาตรา 728 729 735 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 714/1 ไม่อาจใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่อาจนำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปใช้เป็นหลักฐานในการโอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ปัญหาว่าข้อตกลงที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 729 และ 735 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 714/1 เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ปวิพ.142(5)ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252   

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

  อ้างอิงจาก

                  คำพิพากษาศาลของฎีกา , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 23-25 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/


วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

บันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีตกลงหย่า เป็นการหย่าโดยความยินยอม

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

           
        การหย่านั้น จะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือโดยคำพิพากษาของศาล โดยการหย่าด้วยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน เป็นหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 ซึ่งหย่าที่ว่านี้ เป็นการหย่าจากกรณีที่มีการสมรสโดยการจดทะเบียนสมรสตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยการยินยอมเป็นสามีภริยากัน และแสดงความยินยอมให้ปรากฎโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้  การหย่ากันก็ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อให้จดทะเบียนหย่าให้ จึงจะเป็นการหย่าที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
        
ถ้าเป็นการสมรสโดยมีแต่การจัดงานสมรส หรือมีงานฉลองสมรส โดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส ไม่ถือว่าเป็นการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
        กรณีสามีภริยามีปัญหาต้องการหย่ากัน โดยมีการท้ากันให้ฟ้องหย่า และมีการไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ โดยมีพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งลายมือชื่อเป็นพยาน ถือเป็นบันทึกข้อตกลงในการหย่าโดยความยินยอมหรือไม่  มีคำตอบจากคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้   

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 517/2560

            มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บันทึกข้อตกลงเป็นบันทึกข้อตกลงการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไปจึงได้ตกลงดังนี้ 2. ในเรื่องการหย่านั้น ฝ่ายหญิงจะดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปโดยมีโจทก์ จำเลย พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยตรง มีข้อความชัดเจนว่า ทั้งสองไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไป คือต้องการแยกทางกันหรือหย่ากันนั่นเอง แม้มีข้อความในข้อ 2 ว่า ฝ่ายหญิง คือโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปก็เป็นความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะต้องไปดำเนินการฟ้องหย่าต่อกันเท่านั้น ข้อความดังกล่าวมิได้ลบล้างเจตนาที่แท้จริงของทั้งโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไปแต่อย่างใด ดังนั้น บันทึกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยประสงค์จะหย่ากัน ตาม มาตรา 1514 ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกดังกล่าวมีพยานลงชื่อไม่ครบสองคนนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนบันทึก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้รับรู้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามข้อความในบันทึกดังกล่าว ถือได้ว่าคนทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานผู้ทำบันทึกแล้วจึงถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

           โดยสรุปคือ บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี สามีภริยาไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไป ศาลพิจารณาเป็นการต้องการแยกทางกันหรือหย่ากัน แม้จะให้ฝ่ายหญิงไปฟ้องหย่า ถือเป็นความเข้าใจของสามีภริยาคุู่นั้น บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว จึงถือเป็นหนังสือที่มีพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในการหย่าของสามีภริยาคู่นั้น ถือว่าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตามมาตรา 1514 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฝ่ายหญิง ไม่ต้องหาเหตุฟ้องหย่ามากล่าวอ้างและนำสืบพยานพิสูจน์ต่อศาลแต่อย่างใด สามารถนำคำพิพากษาของศาลและบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อให้จดทะเบียนหย่าได้ต่อไป  

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

  อ้างอิงจาก

                           คำพิพากษาศาลฎีกา 517/2560 , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 26 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

จ้างว่าความโดยตกลงค่าจ้างเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่พิพาทกัน

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


              ในการว่าจ้างทนายความ ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแทนคู่ความ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสัญญาจ้างว่าความ ที่ศาลพิจารณาเห็นว่าสัญญาเป็นโมฆะ ไม่สามารถบังคับกันได้ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง  เนื่องจากมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150  ตามคำพิพากษาศาลฎีกา  3511/2564    

                "การที่สัญญาว่าจ้างทนายความในคดีที่ฟ้องขับไล่ตกลงจ่ายค่าจ้างว่าความจำนวนร้อยละ 7 ของเนื้อที่ดิน 3,150 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนของเนื้อที่ดินของโฉนดที่ดินพิพาทที่คู่ความให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินพิพาทของลูกความ และถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างจำนวนเงินแน่นอน หากผลคดีฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างทนายความเป็นที่ดิน จึงเป็นการว่าจ้างทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีโดยปริยาย มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 

                    ส่วนสัญญาจ้างว่าความในคดีที่ ท. ฟ้องขอเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท การที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าจ้างเป็นเนื้อที่ดิน 600 ตารางวา จากที่ดินพิพาทโดยยินยอมให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ ท. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท เป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาท ส่วนข้อตกลงที่ให้โจทก์เลือกเอาการชำระเป็นเงินตามราคาประเมินของทางราชการได้ด้วยนั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างจำนวนเงินแน่นอน เนื่องจากโจทก์อาจถือเอาการชำระเป็นเงินตามราคาประเมินของทางราชการได้ซึ่งราคาประเมินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงได้ไม่คงที่ และข้อตกลงที่ว่าไม่คำนึงถึงผลคดีนั้น เห็นว่า หากโจทก์ว่าความแพ้คดีก็ไม่สามารถเข้าเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทได้เพราะ ท. คู่กรณียังเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท หาก ท. ไม่ยินยอมก็ไม่สามารถทำได้ โจทก์จะต้องชนะคดีเท่านั้น ดังนี้ จึงเป็นการว่าจ้างที่ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาทในผลแห่งคดีโดยปริยายเช่นกัน อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างว่าความจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150"

             จากคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปได้ว่า สัญญาว่าจ้างทนายความ ถ้ามีลักษณะเป็นข้อตกลงให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินพิพาทของลูกความ โดยถ้าแพ้คดีก็จะไม่ได้ตามข้อตกลง จึงเป็นค่าจ้างที่เป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน   จึงเป็นการว่าจ้างที่ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาทในผลแห่งคดี  อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150  เมื่อสัญญาเป็นโมฆะ  สัญญาจ้างดังกล่าวจึงนำมาฟ้องบังคับกันไม่ได้ 

-  - - - - - - - - - - - - - - - - -

               อ้างอิงจาก

                           คำพิพากษาศาลฎีกา 3511/2564 , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 21 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

            

             

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์ฉบับปี2565

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


          จะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำเป็นต้องรู้ว่าสัญญาเช่าซื้อมีผลในเรื่องใดบ้าง เพราะเชื่อได้ว่าผู้เช่าซื้อมักไม่ค่อยอ่านเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ เมื่อเกิดปัญหาแล้วค่อยมานั่งอ่านทำความเข้าใจและตีความ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เป็นข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับกฎหมายครองผู้บริโภค ในที่นี้คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อสัญญาเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบผุ้บริโภค คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีการประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  ฉบับ พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศ  โดยยกเลิก ฉบับ พ.ศ.2561  โดยมีรายละเอียด คือ

        1.ใช้กับการเช่าซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานต์ เพื่อใช้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น โดยไม่นำไปใช้ทำการขนส่ง เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง หรือเพื่อสินจ้าง

        2.ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ  เฉพาะเงินที่เรียกเก็บเพื่อเป็นการติดตามทวงถามหนี้เงินค่างวดเช่าซื้อ ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ ไม่รวมถึงค่าติดตามเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์กลับคืนของผู้ให้เช่าซื้อ

        3.อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate ) หมายความว่า อัตราดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้น คงเหลือในแต่ละงวด  

        4.สัญญาต้องมีรายละเอียด ยี่ห้อ รุ่น หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง สภาพรถว่ารถใหม่หรือใช้แล้ว และระยะทางที่ได้ใช้แล้ว เป็นกิโลเมตรหรือไมล์ ภาระผูกพัน(ถ้ามี)  ราคาเงินสด เงินจอง เงินดาวน์ เงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อไป จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนเงินค่าเช่าซื้อ ที่ผ่อนชำระในแต่ละงวด จำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด เริ่มชำระค่างวดแรกในวันที่ และชำระค่างวดต่อ ๆ ไปภายในวันที่
            ในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไว้เป็นการเฉพาะ ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate ) ดังนี้
            กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบต่อปี
           กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี 
           กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละยี่สิบสามต่อปี
           โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุกสามปี
           วิธีคำนวณจำนวนเงินค่าเช่าซื้อ  จำนวนค่าเช่าซื้อ จำนวนดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด ตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ที่แสดงรายละเอียดจำนวนงวดค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระ วันเดือนปีที่ชำระโดยแยกเป็นเงินต้น ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำนวนเงินค่าเช่าซื้อคงค้าง โดยแยกเป็นเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ รวมทั้งจำนวนส่วนลด ที่ผู้เช่าซื้อจะได้รับ 

         5.เมื่อผู้เช่าซื้อ ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บได้ ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าซื้อทันที

         6.ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิก สัญญาเช่าซื้อได้ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดรายงวดสามงวดติด ๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ใช้ค่าเช่าซื้อรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น 

        7. ในกรณีที่กฎหมายหรือสัญญาให้ผู้ให้เช่าซื้อส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือ   จะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในสัญญา หรือที่อยู่ที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือครั้งหลังสุด เว้นแต่กรณี ประสงค์จะขอรับเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์  

        8.กรณีขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อปิดบัญชี  ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลด ดังนี้ กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่เกินหนึ่งในสามของค่างวดที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับ ส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ   กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามแต่ไม่เกินสองในสามของค่างวดที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ70 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดช าระ  กรณีชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่าสองในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

        9.กรณีการขาย เมื่อเลิกสัญญาเช่าซื้อ โดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อ มีหน้าที่ดำเนินการ 
           1) มีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้ใช้สิทธิซื้อก่อนภายในระยะเวลา20 วันได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณตาม ข้อ 8  แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช้สิทธิดังกล่าว ภายในระยะเวลาให้ผู้ค้ำประกันใช้สิทธินั้น โดยให้ผู้ค้ำประกันได้รับสิทธิ เช่นเดียวกับผู้เช่าซื้อ ทั้งนี้ ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันอาจโอนสิทธิให้บุคคลภายนอกได้
               กรณีผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้เช่าซื้อต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุ ของการไม่ได้แจ้งแก่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกัน มูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อส่วนที่ขาด เป็นค่าเช่าซื้องวดที่ผิดนัด ค่าเช่าซื้องวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อก่อนมีการบอกเลิกสัญญา 
            2) มีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15วันก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาด ในหนังสือแจ้งนั้นอย่างน้อยต้องระบุชื่อผู้ทำการขาย วันและสถานที่ที่ทำการขายในแต่ละครั้งไว้ในหนังสือฉบับเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ เฉพาะการประมูลหรือ ขายทอดตลาดครั้งแรก ให้ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งราคาที่จะขายให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบด้วย และห้ามปรับลดราคาดังกล่าว เว้นแต่จะได้มีหนังสือแจ้งราคาที่จะปรับลดนั้นให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน ทราบก่อน
                 กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายตามวรรคหนึ่ง หากได้ราคา เกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ  ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงิน ส่วนที่เกินนั้น ให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาด เป็นค่าเช่าซื้องวดที่ผิดนัด ค่าเช่าซื้องวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อก่อนมีการบอกเลิกสัญญา 
            3) มีหนังสือแจ้งชื่อผู้ทำการขาย วัน สถานที่ที่ทำการขาย ราคาที่ขายได้ และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็น และมีเหตุผลอันสมควร รวมทั้งจำนวนเงินส่วนเกินที่คืนให้แก่ผู้เช่าซื้อ หรือจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อ ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ให้ผู้เช่าซื้อทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทำการขาย ทั้งนี้ ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระหลังจากที่บอกเลิกสัญญา กับผู้เช่าซื้อ
             4) กรณีจะนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายโดยวิธีประมูลหรือ ขายทอดตลาดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการเข้าร่วมประมูลหรือ การขายทอดตลาดของผู้ให้เช่าซื้อด้วย 

         10 ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เข้าสู้ราคาไม่ว่าโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดรถยนต์หรือ รถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม 

        โดยสรุป ตามประกาศฉบับปี พ.ศ.2565 เป็นการออกมายกเลิกฉบับปี พ.ศ.2561 ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดไม่ต่างจากฉบับเดิม เพิ่มเติมในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงใช้แบบลดต้นลดดอก โดยไม่มีคำว่า "เช่นเดียวกับการคํานวณดอกเบี้ย สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย" แต่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้ว และอัตราดอกเบี้ยรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะทำให้เป็นข้อสัญญาเป็นธรรมต่อผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภค เพื่อไม่ให้ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ  
        ในกรณีที่สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจ ออกให้แก่ผู้บริโภค ไม่ใช้ข้อสัญญาให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมสัญญาประกาศนี้  ถือว่าสัญญานั้นใช้ข้อสัญญาตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมสัญญาประกาศ  และถ้ากำหนดให้สัญญาต้องไม่ใช้ข้อสัญญาใดที่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเกินสมควร หรือใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  แต่มีการใช้สัญญานั้น ถือว่าสัญญานั้นไม่มีข้อสัญญาเช่นว่านั้น (มาตรา 35 ตรี และ มาตรา 35 จัตรา แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

  -- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- 

         อ้างอิงจาก

                 ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ,สืบค้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ,จาก  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/245/T_0026.PDF.

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เช่าซื้อรถผ่อนไม่ไหว คืนได้หรือไม่ (กฎหมายแพ่ง)

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


เช่าซื้อผ่อนไม่ไหว

        (คลิกป้ายโฆษณา ส่งกำลังให้ผู้จัดทำ)

        น่าจะเป็นคำถามของใครหลายๆคน และมีความสงสัย จะหาคำตอบจากที่ไหน จริงๆแล้ว เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อ จะมีหลักฐานให้ไว้ รายละเอียดในสัญญาเช่าซื้อจะมีอยู่ครบ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้อ่านเงื่อนไข เพราะมากมายเหลือเกิน เมื่อถึงจุดที่เป็นปัญหาจึงมาหาทางออก  ก็มาหาคำตอบในเรื่องนี้กัน

        เมื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ผ่อนไปได้สักระยะแล้วผ่อนไม่ไหว หรือไม่อยากผ่อนต่อ ถ้าไม่ขายต่อ จะคืนรถให้กับบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อ(ไฟแนนท์) ได้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้ แต่มีรายละเอียดที่ควรทราบอีกพอสมควร ดังนี้

        การซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ บริษัทหรือร้านที่ขายจะกำหนดราคารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไว้ในแต่ละรุ่น ถ้าเป็นซื้อโดยจ่ายเงินสด ก็รับรถกลับบ้าน ไม่ต้องผ่อนชำระ แต่ถ้ามีเงินสดไม่พอต้องการจ่ายบางส่วน (จ่ายดาวน์) โดยจะดาวน์ 5 10 15 20 25 30 เปอร์เซนต์ หรือจะดาวน์มากกว่านี้ ก็แล้วแต่ผู้ซื้อ เงินส่วนนี้ จะจ่ายให้บริษัทหรือร้านที่ขาย ส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนที่ไฟแนนท์รถจะมาเสนอวงเงินและดอกเบี้ยให้ผู้ซื้อกู้ยืม เมื่อตกลง เครดิตของผู้ซื้อผ่าน ก็ได้รับการอนุมัติวงเงินเพื่อจ่ายให้บริษัทหรือร้านขายรถ ผู้ซื้อรับรถกลับบ้าน พร้อมสัญญาเช่าซื้อที่จะต้องผ่อนชำระรายเดือนตามที่ตกลงในสัญญา 

        สัญญาเช่าซื้อจะมี ผู้ปล่อยสินเชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์(เจ้าของ)ในรถที่ซื้อเรียกว่า" ผู้ให้เช่าซื้อ"  ผู้ซื้อคือผู้ครอบครองรถในระหว่างการผ่อนชำระ ที่เรียกว่า "ผู้เช่าซื้อ"  สัญญาเช่าซื้อรถจึง ป็นสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณย์ มาตรา 572 สัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ เป็นโมฆะ โดยเมื่อผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบตามจำนวน ผู้ให้เช่าซื้อจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ หรือที่เรียกว่าโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งตามหลักในเรื่องของซื้อขาย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่ในการซื้อขายรถนี้ มีเงื่อนไขตามสัญญาเช่าซื้อที่ระบุให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ส่วนการโอนชื่อในทะเบียนรถ เป็นเพียงขั้นตอนของกรมขนส่งทางบกเท่านั้น 

        สัญญาเช่าซื้อ ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ตกเป็นโมฆะ เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับไว้ว่าสัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ จึงต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน หากจะบังคับฝ่ายใดให้ปฏิบัติตามสัญญา ต้องมีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญด้วย  ถ้าไม่ทำตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกเอาความเสียเปล่าขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่ให้บริการสินเชื่อไม่เคยพลาดเรื่องแบบนี้

            การเลิกสัญญาเช่าซื้อตามหลักกฎหมายกำหนดไว้ 2 กรณี คือ 
            1.ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง (มาตรา573) ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ การบอกเลิกสัญญาทำได้โดยการติดต่อส่งมอบรถคืนบริษัทไฟแนนท์ ถ้าตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ระบุให้ชำระส่วนใดเพิ่ม แล้วบริษัทรับรถคืนโดยไม่โต้แย้งหรือไม่มีกรณีบริษัทไม่ยอมรับรถจนกว่าจะชำระเงินตามเงื่อนไขในสัญญา ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยข้อสัญญา เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา14324/2558 จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4178/2564  การที่จำเลยส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์จะเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ.มาตรา 573 ต้องเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ เมื่อจำเลยผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อก่อนส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยผู้เช่าซื้อย่อมไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ และกรณีนี้ไม่ต้องด้วยเหตุการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ  14 ที่ระบุว่า ให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับในวันที่รับมอบรถไปจากเจ้าของพร้อมอุปกรณ์และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของและชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันทีเนื่องจากจำเลยได้มีการชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญา แต่การที่จำเลยส่งมอบรถจักรยานต์ที่เช่าซื่้อกลับคืนให้แก่โจทก์ เป็นผลสืบเนื่องมากจากการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผิดนัดเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าซื่้่อตามกำหนดให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกันเกิน  3 งวด ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ มิฉะนั้นให้ถือว่าหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยไม่รอให้ล่วงพ้นกำหนดเวลา 30 วัน กลับนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เท่ากับยอมรับว่าอย่างไรเสียจำเลยจะไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเป็นแน่และไม่ประสงค์จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพื่อให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันต่อไป ซึ่งจำเลยสามารถดำเนินการดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาเพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยผู้เช่าซื่้อทราบโดยชอบแล้ว โดยที่โจทก์หาจำต้องโต้แย้งคัดค้านการส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแต่อย่างใด สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันด้วยเหตุจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา
        ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ข้อ4(5) กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาโดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น ก่อนขายต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ..โจทก์ได้มีการแจ้งการกลับเข้าครอบครองรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อโดยแจ้งถึงราคาประเมินให้ท้องตลาดและให้สิทธิจำเลยผู้เช่าซื้อดำเนินการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของประกาศดังกล่าวแล้ว ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ขายโดยวิธีประมุลขายหรือขายทอดตลาดไปโดยทุจริตหรือไม่เหมาะสมแต่อย่างใด เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าขาดราคาตามสัญญาเช่าซื้อ 

         กรณีสัญญาเช่าซื้อกำหนดเงื่อนไขในการเลิกสัญญา โดยให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ โดยส่งมอบทรัพย์สินคืน พร้อมทั้งชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ  ถ้าผู้เช่าซื้อเพียงแต่ส่งทรัพย์สินคืน ไม่ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่ถือว่าเป็นเลิกสัญญาตามเงื่อนไขในสัญญา แต่เป็นการสมัครใจเลิกสัญญาโดยปริยาย เป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถใช้สิทธิตามสัญญาได้อีก เช่น 

          คำพิพากษาศาลฏีกา4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้
        
        2.การเลิกสัญญากรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์ และเจ้าของทรัพย์กลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ (มาตรา 574) ซึ่งเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามเงื่อนไขในสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อจะมีหนังสือทวงถามให้ชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาอันควร 

        กรณีเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญา เมื่อผิดนัดชำระติดต่อเกิน 3 งวด โดยกำหนดเวลาพอสมควรให้ชำระนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว หากไม่ชำระภายในเวลา ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่ผู้เช่าซื้อยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์สินก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่ทักท้วง  ถือว่าสมัครใจเเลิกสัญญาโดยปริยายในวันยึดครองทรัพย์สิน ถือเป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ไม่ใช่เลิกตามข้อสัญญา ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป กล่าวคือ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ  ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญา  แต่มีสิทธิเพียงฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ ต้องชดใช้คืนด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น   
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา15358/2558 แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 ติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว
         โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วเท่านั้น 
        คำพิพากษาศาลฎีกา3967/2564 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่า 3 งวด ติดต่อกัน โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 โดยชอบ  จากนั้นจำเลยที่ 1 มอบหมายให้ ท.นำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ดังกล่าว ไม่อาจถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตาม ป.พ.พ.มาตรา 573 เพราะจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อก่อนส่งมอบรถยต์คืนแก่โจทก์แล้ว 
        สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงให้จำเลยที่  1 ผู้เช่าซื้ออาจบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ในเวลาใดก็ได้ โดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์เป็นเจ้าของ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี แต่สัญญาดังกล่าวยังมีข้อความระบุเป็นเงื่อนไขต่อไปด้วยว่า"...ผู้เช่าตกลงที่จะชำระบรรดาหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วน..." แสดงให้เห็นว่า กรณีทีจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาของฝ่ายผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ณ 
ภูมิลำเนาของโจทก์ พร้อมกับตกลงที่จะชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วนด้วย เมื่อไม่ปรากฎว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์โดยมอบหมายให้ ท.เป็นตัวแทนในกิจการนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ตกลงที่จะชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จนครบถ้วน อันจะถือว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา แม้ ท.เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จะลงลายมือชื่อในบันทึกการส่งมอบรถยนต์ ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการตกลงที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ว่า "และภายหลังจากการขายทอดตลาด หากยังมีค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ตามสัญญา ผู้เช่าซื้อยินดีที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงทุกประการ" แต่เมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ ท.เป็นตัวแทนที่มีอำนาจยอมรับที่จะชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ด้วยแล้ว การที่ ท.ไปทำข้อตกลงยอมรับผิดในค่าเสียหายใดๆ นอกเหนืออำนาจในการเป็นตัวแทน โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 823 วรรคหนึ่ง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาตามสัญญาได้  
        การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดนัดมิได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือตามข้อสัญญา แตกลับมอบหมายให้ ท.ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และโจทก์รับมอบรถยนต์ไว้โดยไม่ปรากฏข้อคัดค้านหรือสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่านั้นไว้ ทั้งที่สามารถกระทำได้โดยชอบ พฤติการณ์ย่อมถือเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ไม่อาจอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้ว เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดราคาได้ 

                                                                         
        
             คำพิพากษาศาลฏีกา 8619/2559โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ไปยังจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุตามสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

           กรณีผ่อนผันการผิดนัด โดยผู้ให้เช่าซื้อยอมรับชำระค่าเช่าซื้อที่ชำระไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จึงไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุผิดนัด และภายหลังผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์สินแล้ว  ยังมีหนังสือเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าและนำทรัพย์สินคืนไป ซึ่งหากจะเลิกสัญญา  หนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาต้องกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน  จึงจะถือว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาเมื่อไม่ได้ทำ สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เลิกกัน เช่น 

           คำพิพากษาศาลฎีกา 1042/2561 แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา



        กรณีผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยผู้ให้เช่าซื้อยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดให้ผู้เช่าโดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที แต่ต่อย่างไรก็ดี การผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ก็ไม่ถือว่าผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา เมื่อผู้เช่ามิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดให้ หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามที่กำหนดในสัญญา ไม่มีเหตุที่จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 (มาตรา 387 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายจะกำหดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกฝ่ายจะเลิกสัญญาก็ได้)

        คำพิพากษาศาลฎีกา4651/2549โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนถึงงวดที่ 12 แล้วไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 13 ถึง 15 ต่อมางวดที่ 16 โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่คิดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ แสดงว่า จำเลยมิได้ยึดถือข้อสัญญาที่ว่า หากผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์โดยให้ระยะเวลาแก่โจทก์พอสมควร แม้จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระโดยอ้างว่าโจทก์ชำระน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระซึ่งมีดอกเบี้ย ค่าติดตามรถและค่าแอร์รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อสัญญาหรือข้อนำสืบว่า ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากการชำระล่าช้าได้หรือโจทก์ค้างชำระจริง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระหนี้อื่นนอกจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่มีเหตุจะอ้างตามกฎหมายจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยต้องส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ เมื่อจำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อและไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง
        สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่โจทก์มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทนด้วย ขณะจำเลยยึดรถยนต์คืนนั้นโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อรวม 4 งวด ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อระบุให้จำเลยมีสิทธิยึดรถคืนได้ในกรณีผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยยึดรถคืนแสดงว่าจำเลยไม่ยอมผ่อนผันให้โจทก์อีกจึงไม่ทำให้โจทก์เสียหายจากการใช้รถ แม้โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนเพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไปเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นรายวันนับแต่วันที่จำเลยยึดรถยนต์คืนได้อีก

        เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระมาแล้ว เข้าครอบครองทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เรียกได้เพียงค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น  ข้อตกลงให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนวันที่เลิกสัญญา ถือเป็นการกำหนดความรับผิดไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลพิจารณากำหนดค่าเสียหายตามที่เห็นสมควรได้ เช่น 
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา15107/2558 มื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


        ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสัญญาเลิกกันเมื่อใด เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 5836/2559 คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

              

          เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะพอเข้าใจได้ว่า ว่าถ้าผ่อนรถไม่ไหว ควรจะคืนรถให้กับบริษัทไฟแนนท์หรือไม่ ถ้าผ่อนไม่ไหว และอยากได้เงินบางส่วนคืน ก็อาจจะเลือกขายดาวน์ เอาเงินกลับคืนมาสักเล็กน้อย แต่ถ้าจะปล่อยให้ผู้อื่นรับรถไป แล้วผ่อนต่อ โดยไม่มีการเปลี่ยนชื่อสัญญาเช่าซื้อละก็ ไม่พ้นความรับผิดชอบครับ เพราะสัญญาเช่าซื้อยังเป็นชื่อเรา และมีโอกาสที่่บุคคลนั้นจะไม่ผ่อนต่อ นำรถเราไปจำนำหรือเอาไปขายต่อเพื่อรื้อทั้งคันขายเป็นอะไหล่ไม่เหลือซาก ยากที่จะติดตามเอาคืน และอาจเสียเงินเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามดำเนินคดี มีความเครียดสะสม อย่างเช่นในเฟสที่มีบางคนระบุว่าขายอะไหล่พร้อมระเบิดทั้งคัน ถ้าไม่ใช่รถที่เกิดอุบัติเหตุ  น่าสงสัยมั้ยว่ารถดีๆ จะระเบิดขายอะไหล่ทั้งคันทำไม อันนี้คือสงสัยไว้ก่อนครับยังไม่ฟันธงว่าใช่  และคนที่รับรถไปไม่ผ่อนต่อ ถ้ามีสัญญาทำกันไว้ มีหลักฐานชัดเจน ก็ไปฟ้องพิสูจน์ความผิดเอาครับว่าจะเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง หรือผิดอาญาฉ้อโกง หรือผิดลักทรัพย์ หรือผิดยักยอก ซึ่งถ้ามีเจตนาตั้งแต่แรกขณะรับรถไปแล้วว่าจะไม่ผ่อนต่อเอาไปขายต่อเลยแบบนี้ มีเจตนาทุจริตแน่นอนครับ แต่ถ้าเข้าข่ายความผิดอาญาข้อหาใดข้อหาหนึ่งดังที่กล่าว ที่แน่ๆ คนรับจำนำ คนรับไว้ คนที่ช่วยจำหน่ายนำรถมาระเบิดขายอะไหล่ คนรับซื้ออะไหล่ เข้าข่ายผิดอาญาข้อหารับซื้อของโจร   ก็ระวังๆไว้ก็ดีข้อนี้   

**************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search