วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กู้ยืมเงินเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ผิดอาญา

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


            กู้ยืมเงินกันระหว่างบุคคล ถ้ามีการตกลงกำหนดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถนำมาฟ้องร้องบังคับกันได้ มีผลให้ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตราแล้ว  ผู้ให้กู้จะเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษทางอาญา ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560  ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในการต่อสู้คดีในศาล ผู้กู้ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวกันไว้ ศาลก็สามารถหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้  

            สาระสำคัญตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 มีว่า 

            บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            (1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

            (2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยที่เกินอัตรา ที่กฎหมายกำหนด หรือ

            (3) กำหนดจะเอาหรือรับเอา ซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของ หรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควร ตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

            บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องจากบุคคลอื่นโดยรู้ว่าเป็นสิทธิที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือใช้สิทธินั้นหรือพยายามถือเอาประโยชน์แห่งสิทธินั้น ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4

            ซึ่งในการกู้ยืมเงินกัน ผู้ให้กู้ยืมย่อมรู้ข้อกฎหมายนี้ดีอยู่แล้ว อาจจะมีการกำหนดข้อความให้เป็นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงินกัน เพื่อเหตุผลที่จะมีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือต้องการรับเอาผลประโยชน์จากการให้กู้ยืมเงินมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเข้าเงื่อนไขข้อ (2) หรือ(3) ผู้กระทำย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน ซึ่งสำเร็จทันทีที่มีการให้กู้ยืมเงินกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2565

             ความผิดฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยให้ผู้เสียหายทั้งห้ากู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มิใช่ว่าจำเลยจะต้องได้รับดอกเบี้ยจากผู้เสียหายทั้งห้าก่อน

           การกู้ยืมเงินกันกว่าสองพันบาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งในการทำสัญญากู้ยืมเงินกันที่มีการลงลายมือชื่อของทั้งผู้กุ้และผู้ให้กู้และพยาน ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีการขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้นด้วย มิฉะนั้น จะนำหลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ว่ามีการกู้ยืมเงินกันมิได้ มีผลถือว่าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4574/2561

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์นำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8175/2551

             หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 นั้นอาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กัน แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น

            การคิดดอกเบี้ยกู้ยืมตามกฎหมาย มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561
               โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761-8763/2561
                 ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177
  •           เมื่อการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การนำสืบการใช้เงิน เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือขื่อผู้ให้ยืม หรือ เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืน หรือแทนเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว แสดงว่าเมื่อมีการชำระหนี้เงินกู้ที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้ให้กู้ยืมต้องออกหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานในการรับเงินให้ผู้กู้  หรือหลักฐานการปิดบัญชีเงินกู้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้กู้ที่จะต้องติดตามและเก็บหลักฐานใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการชำระหนี้เงินกู้ไว้ต่อสู้ผู้ให้กู้ 
 คำพิพากษาศาลฎีกา 1655/2549

        จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว จำเลยจะต้องมีหลักฐานตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดมานำสืบ จำเลยมีแต่เพียงตัวจำเลยและน้องของจำเลยเป็นพยาน ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง สัญญากู้ยืมเงินก็ยังคงอยู่ที่โจทก์และยังไม่มีการแทงเพิกถอน จำเลยจึงต้องห้ามมิให้นำสืบการใช้เงินตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555

        การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 36/2555

        เอกสารหมาย จ.2 นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าจำเลยรับโฉนดที่ดินจาก ส. แล้ว เอกสารดังกล่าวยังมีข้อความที่แสดงว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินจาก ส. จำนวน 2,000,000 บาท จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ไม่เจตนาให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ตาม การที่คู่สัญญาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือไว้แล้ว หามีผลทำให้เอกสารฉบับนี้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงใช้เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือฟ้องให้จำเลยรับผิดได้

        การกู้ยืมเงินระหว่าง ส. กับจำเลยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยอ้างว่าชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม ไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5863/2549

         จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินไว้ จำเลยจะนำสืบการใช้เงินต้นเงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่สำเนาสัญญากู้ยืมที่โจทก์ส่งคืนจำเลยไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนหลักฐานแห่งการกู้ยืมแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่สามารถนำสืบการใช้ต้นเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ ส่วนการนำสืบการชำระดอกเบี้ยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยนำสืบได้

          กรณีนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ถือว่าไม่ใช่การนำสืบการใช้เงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง  เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป(321) สามารถนำสืบการใช้เงินได้ไม่ต้องห้าม   

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10227/2551

         การนำสืบการชำระหนี้โดยนำเงินฝากเข้าบัญชีให้โจทก์ และการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นผู้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์ เป็นการนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่การนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดง ซึ่งต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบได้

คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 6823/2551

        จำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ว่า จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร ก. ให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีของจำเลยทุกเดือน และโจทก์ยอมรับว่าได้รับบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวไว้ถอนเงินจากบัญชีของจำเลย จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลให้ศาลเห็นถึงวิธีการชำระหนี้ว่าได้ปฏิบัติต่อกันเช่นใด ไม่อยู่ในบทบังคับเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2550

         ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ใช้บังคับกับกรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบพยานบุคคลในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยจึงนำสืบได้

        สรุปคือ  การกู้ยืมเงิน บุคคลใดจะให้กู้ยืมเงินกัน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ยืม และต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่กฎหมายกฎหมายกำหนด   การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ในส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ผู้กู้ไม่ต้องชำระ รับผิดเฉพาะเงินต้น ผู้ให้กู้มีความผิดเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำหรือปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560  ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เพราะอ้างว่า ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงินกัน เช่น สัญญาขายฝากที่ดินอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน   

---------------------------------------------------

อ้างอิง
           คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ,สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม 2565,จาก http://deka.supremecourt.or.th/printing/deka

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น