วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สถานศึกษาให้เด็กการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

        บทความนี้ เสนอแง่มุมของความรับผิดของสถานศึกษาที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายความว่า การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา ดังนั้น สถานศึกษาที่ต้องรับเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วให้เด็กออกกลางคัน หรือจำหน่ายออกจากระบบทะเบียนของนักเรียน อันมีผลให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับไม่ได้เข้าเรียนตามกฎหมาย จะมีความรับผิดอย่างไร  

        ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 การศึกษาภาคบังคับ หมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ  เด็ก หมายความว่า เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่เด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว  

         ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ผู้ปกครองที่มีเด็กอยู่ในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับจะต้องส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา ถ้าไม่ส่งเข้าเรียนในสถานศึกษามีโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท  ผู้ซึ่งมิใช่ผู้ปกครอง มีเด็กซึ่งไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาอาศัยอยู่ด้วย ต้องแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เด็กมาอาศัยอยู่ เว้นแต่ผุ้ปกครองอาศัยอยู่ด้วย ถ้าไม่แจ้งหรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  และผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  โทษดังกล่าวถือเป็นโทษทางปกครองของผู้ปกครอง หรือผู้ใดที่ไม่ได้ส่งเด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับเข้าเรียนในสถานศึกษา

         เมื่อการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ  ถ้าสถานศึกษาของรัฐ ให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนการจัดศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ผู้อำนวยการสถานศึกษา ถือเป็นผู้กระทำความผิดวินัย ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานทางการศึกษา
มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล โดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน และไม่ให้เกิดความเสียหายแต่ทางราชการ และสำหรับโทษทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ถือเป็นการกระทำผิดฐาน ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่โทษทางปกครอง ที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การบังคับทางปกครองให้หน่วยงานชำระเงินค่าปรับดังกล่าว ไม่ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐด้วยกัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 63/1 ซึ่งเป็นการแก้ไขฉบับที่ 3 พ.ศ.2562    

            ถ้าเป็นสถานศึกษาเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากราชการให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้  ถ้าให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนการจัดศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545  ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ถือเป็นการกระทำผิดฐาน ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  และถือเป็นการกระทำที่เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชน เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบและสั่งให้มีการแก้ไขได้ตามมาตรา 93 และมาตรา 95 การไม่ปฏิบัติตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่ง อาจมีผลกระทบต่อใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษาในระบบได้ 

            การให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย  ยังถือเป็นการกระทำละเมิด ที่ผู้ปกครองมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากสถานศึกษาในการกระทำละเมิดดังกล่าวได้ด้วย  ดังเช่นคำพิพากษาศาลภีกาที่ 6234/2564 ดังนี้      

 คำพิพากษาศาลฎีกา 6234/2564

            ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ “การศึกษาภาคบังคับ” “สถานศึกษา” “เด็ก” แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับจึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนมีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียนกับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432

             ดังนั้น ความรับผิดของสถานศึกษาที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน หรือจำหน่ายออกจากระบบทะเบียนของนักเรียน อันมีผลให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับไม่ได้เข้าเรียนตามกฎหมาย ย่อมมีความรับผิดตามที่ได้นำเสนอ โดยในส่วนของความรับผิดทางละเมิดนั้น สถานศึกษาของรัฐ ย่อมต้องรับผิดในความเสียหายทางละเมิดเช่นเดียวกัน กับสถานศึกษาเอกชนที่มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีดังกล่าว 

-----------------------------------------------
อ้างอิง

            พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545
            พระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564 ,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้นวันที่ 16 ธันวาคม 2565,จากhttp://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น