วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เช่าซื้อรถผ่อนไม่ไหว คืนได้หรือไม่ (กฎหมายแพ่ง)

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


เช่าซื้อผ่อนไม่ไหว

        (คลิกป้ายโฆษณา ส่งกำลังให้ผู้จัดทำ)

        น่าจะเป็นคำถามของใครหลายๆคน และมีความสงสัย จะหาคำตอบจากที่ไหน จริงๆแล้ว เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อ จะมีหลักฐานให้ไว้ รายละเอียดในสัญญาเช่าซื้อจะมีอยู่ครบ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้อ่านเงื่อนไข เพราะมากมายเหลือเกิน เมื่อถึงจุดที่เป็นปัญหาจึงมาหาทางออก  ก็มาหาคำตอบในเรื่องนี้กัน

        เมื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ผ่อนไปได้สักระยะแล้วผ่อนไม่ไหว หรือไม่อยากผ่อนต่อ ถ้าไม่ขายต่อ จะคืนรถให้กับบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อ(ไฟแนนท์) ได้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้ แต่มีรายละเอียดที่ควรทราบอีกพอสมควร ดังนี้

        การซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ บริษัทหรือร้านที่ขายจะกำหนดราคารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไว้ในแต่ละรุ่น ถ้าเป็นซื้อโดยจ่ายเงินสด ก็รับรถกลับบ้าน ไม่ต้องผ่อนชำระ แต่ถ้ามีเงินสดไม่พอต้องการจ่ายบางส่วน (จ่ายดาวน์) โดยจะดาวน์ 5 10 15 20 25 30 เปอร์เซนต์ หรือจะดาวน์มากกว่านี้ ก็แล้วแต่ผู้ซื้อ เงินส่วนนี้ จะจ่ายให้บริษัทหรือร้านที่ขาย ส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนที่ไฟแนนท์รถจะมาเสนอวงเงินและดอกเบี้ยให้ผู้ซื้อกู้ยืม เมื่อตกลง เครดิตของผู้ซื้อผ่าน ก็ได้รับการอนุมัติวงเงินเพื่อจ่ายให้บริษัทหรือร้านขายรถ ผู้ซื้อรับรถกลับบ้าน พร้อมสัญญาเช่าซื้อที่จะต้องผ่อนชำระรายเดือนตามที่ตกลงในสัญญา 

        สัญญาเช่าซื้อจะมี ผู้ปล่อยสินเชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์(เจ้าของ)ในรถที่ซื้อเรียกว่า" ผู้ให้เช่าซื้อ"  ผู้ซื้อคือผู้ครอบครองรถในระหว่างการผ่อนชำระ ที่เรียกว่า "ผู้เช่าซื้อ"  สัญญาเช่าซื้อรถจึง ป็นสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณย์ มาตรา 572 สัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ เป็นโมฆะ โดยเมื่อผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบตามจำนวน ผู้ให้เช่าซื้อจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ หรือที่เรียกว่าโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งตามหลักในเรื่องของซื้อขาย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่ในการซื้อขายรถนี้ มีเงื่อนไขตามสัญญาเช่าซื้อที่ระบุให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ส่วนการโอนชื่อในทะเบียนรถ เป็นเพียงขั้นตอนของกรมขนส่งทางบกเท่านั้น 

        สัญญาเช่าซื้อ ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ตกเป็นโมฆะ เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับไว้ว่าสัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ จึงต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน หากจะบังคับฝ่ายใดให้ปฏิบัติตามสัญญา ต้องมีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญด้วย  ถ้าไม่ทำตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกเอาความเสียเปล่าขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่ให้บริการสินเชื่อไม่เคยพลาดเรื่องแบบนี้

            การเลิกสัญญาเช่าซื้อตามหลักกฎหมายกำหนดไว้ 2 กรณี คือ 
            1.ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง (มาตรา573) ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ การบอกเลิกสัญญาทำได้โดยการติดต่อส่งมอบรถคืนบริษัทไฟแนนท์ ถ้าตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ระบุให้ชำระส่วนใดเพิ่ม แล้วบริษัทรับรถคืนโดยไม่โต้แย้งหรือไม่มีกรณีบริษัทไม่ยอมรับรถจนกว่าจะชำระเงินตามเงื่อนไขในสัญญา ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยข้อสัญญา เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา14324/2558 จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4178/2564  การที่จำเลยส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์จะเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ.มาตรา 573 ต้องเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ เมื่อจำเลยผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อก่อนส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยผู้เช่าซื้อย่อมไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ และกรณีนี้ไม่ต้องด้วยเหตุการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ  14 ที่ระบุว่า ให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับในวันที่รับมอบรถไปจากเจ้าของพร้อมอุปกรณ์และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของและชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันทีเนื่องจากจำเลยได้มีการชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญา แต่การที่จำเลยส่งมอบรถจักรยานต์ที่เช่าซื่้อกลับคืนให้แก่โจทก์ เป็นผลสืบเนื่องมากจากการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผิดนัดเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าซื่้่อตามกำหนดให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกันเกิน  3 งวด ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ มิฉะนั้นให้ถือว่าหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยไม่รอให้ล่วงพ้นกำหนดเวลา 30 วัน กลับนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เท่ากับยอมรับว่าอย่างไรเสียจำเลยจะไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเป็นแน่และไม่ประสงค์จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพื่อให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันต่อไป ซึ่งจำเลยสามารถดำเนินการดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาเพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยผู้เช่าซื่้อทราบโดยชอบแล้ว โดยที่โจทก์หาจำต้องโต้แย้งคัดค้านการส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแต่อย่างใด สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันด้วยเหตุจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา
        ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ข้อ4(5) กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาโดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น ก่อนขายต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ..โจทก์ได้มีการแจ้งการกลับเข้าครอบครองรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อโดยแจ้งถึงราคาประเมินให้ท้องตลาดและให้สิทธิจำเลยผู้เช่าซื้อดำเนินการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของประกาศดังกล่าวแล้ว ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ขายโดยวิธีประมุลขายหรือขายทอดตลาดไปโดยทุจริตหรือไม่เหมาะสมแต่อย่างใด เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าขาดราคาตามสัญญาเช่าซื้อ 

         กรณีสัญญาเช่าซื้อกำหนดเงื่อนไขในการเลิกสัญญา โดยให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ โดยส่งมอบทรัพย์สินคืน พร้อมทั้งชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ  ถ้าผู้เช่าซื้อเพียงแต่ส่งทรัพย์สินคืน ไม่ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่ถือว่าเป็นเลิกสัญญาตามเงื่อนไขในสัญญา แต่เป็นการสมัครใจเลิกสัญญาโดยปริยาย เป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถใช้สิทธิตามสัญญาได้อีก เช่น 

          คำพิพากษาศาลฏีกา4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้
        
        2.การเลิกสัญญากรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์ และเจ้าของทรัพย์กลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ (มาตรา 574) ซึ่งเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามเงื่อนไขในสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อจะมีหนังสือทวงถามให้ชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาอันควร 

        กรณีเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญา เมื่อผิดนัดชำระติดต่อเกิน 3 งวด โดยกำหนดเวลาพอสมควรให้ชำระนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว หากไม่ชำระภายในเวลา ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่ผู้เช่าซื้อยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์สินก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่ทักท้วง  ถือว่าสมัครใจเเลิกสัญญาโดยปริยายในวันยึดครองทรัพย์สิน ถือเป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ไม่ใช่เลิกตามข้อสัญญา ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป กล่าวคือ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ  ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญา  แต่มีสิทธิเพียงฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ ต้องชดใช้คืนด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น   
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา15358/2558 แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 ติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว
         โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วเท่านั้น 
        คำพิพากษาศาลฎีกา3967/2564 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่า 3 งวด ติดต่อกัน โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 โดยชอบ  จากนั้นจำเลยที่ 1 มอบหมายให้ ท.นำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ดังกล่าว ไม่อาจถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตาม ป.พ.พ.มาตรา 573 เพราะจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อก่อนส่งมอบรถยต์คืนแก่โจทก์แล้ว 
        สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงให้จำเลยที่  1 ผู้เช่าซื้ออาจบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ในเวลาใดก็ได้ โดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์เป็นเจ้าของ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี แต่สัญญาดังกล่าวยังมีข้อความระบุเป็นเงื่อนไขต่อไปด้วยว่า"...ผู้เช่าตกลงที่จะชำระบรรดาหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วน..." แสดงให้เห็นว่า กรณีทีจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาของฝ่ายผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ณ 
ภูมิลำเนาของโจทก์ พร้อมกับตกลงที่จะชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วนด้วย เมื่อไม่ปรากฎว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์โดยมอบหมายให้ ท.เป็นตัวแทนในกิจการนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ตกลงที่จะชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จนครบถ้วน อันจะถือว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา แม้ ท.เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จะลงลายมือชื่อในบันทึกการส่งมอบรถยนต์ ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการตกลงที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ว่า "และภายหลังจากการขายทอดตลาด หากยังมีค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ตามสัญญา ผู้เช่าซื้อยินดีที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงทุกประการ" แต่เมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ ท.เป็นตัวแทนที่มีอำนาจยอมรับที่จะชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ด้วยแล้ว การที่ ท.ไปทำข้อตกลงยอมรับผิดในค่าเสียหายใดๆ นอกเหนืออำนาจในการเป็นตัวแทน โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 823 วรรคหนึ่ง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาตามสัญญาได้  
        การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดนัดมิได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือตามข้อสัญญา แตกลับมอบหมายให้ ท.ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และโจทก์รับมอบรถยนต์ไว้โดยไม่ปรากฏข้อคัดค้านหรือสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่านั้นไว้ ทั้งที่สามารถกระทำได้โดยชอบ พฤติการณ์ย่อมถือเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ไม่อาจอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้ว เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดราคาได้ 

                                                                         
        
             คำพิพากษาศาลฏีกา 8619/2559โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ไปยังจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุตามสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

           กรณีผ่อนผันการผิดนัด โดยผู้ให้เช่าซื้อยอมรับชำระค่าเช่าซื้อที่ชำระไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จึงไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุผิดนัด และภายหลังผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์สินแล้ว  ยังมีหนังสือเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าและนำทรัพย์สินคืนไป ซึ่งหากจะเลิกสัญญา  หนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาต้องกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน  จึงจะถือว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาเมื่อไม่ได้ทำ สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เลิกกัน เช่น 

           คำพิพากษาศาลฎีกา 1042/2561 แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา



        กรณีผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยผู้ให้เช่าซื้อยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดให้ผู้เช่าโดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที แต่ต่อย่างไรก็ดี การผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ก็ไม่ถือว่าผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา เมื่อผู้เช่ามิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดให้ หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามที่กำหนดในสัญญา ไม่มีเหตุที่จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 (มาตรา 387 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายจะกำหดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกฝ่ายจะเลิกสัญญาก็ได้)

        คำพิพากษาศาลฎีกา4651/2549โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนถึงงวดที่ 12 แล้วไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 13 ถึง 15 ต่อมางวดที่ 16 โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่คิดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ แสดงว่า จำเลยมิได้ยึดถือข้อสัญญาที่ว่า หากผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์โดยให้ระยะเวลาแก่โจทก์พอสมควร แม้จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระโดยอ้างว่าโจทก์ชำระน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระซึ่งมีดอกเบี้ย ค่าติดตามรถและค่าแอร์รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อสัญญาหรือข้อนำสืบว่า ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากการชำระล่าช้าได้หรือโจทก์ค้างชำระจริง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระหนี้อื่นนอกจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่มีเหตุจะอ้างตามกฎหมายจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยต้องส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ เมื่อจำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อและไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง
        สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่โจทก์มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทนด้วย ขณะจำเลยยึดรถยนต์คืนนั้นโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อรวม 4 งวด ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อระบุให้จำเลยมีสิทธิยึดรถคืนได้ในกรณีผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยยึดรถคืนแสดงว่าจำเลยไม่ยอมผ่อนผันให้โจทก์อีกจึงไม่ทำให้โจทก์เสียหายจากการใช้รถ แม้โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนเพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไปเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นรายวันนับแต่วันที่จำเลยยึดรถยนต์คืนได้อีก

        เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระมาแล้ว เข้าครอบครองทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เรียกได้เพียงค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น  ข้อตกลงให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนวันที่เลิกสัญญา ถือเป็นการกำหนดความรับผิดไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลพิจารณากำหนดค่าเสียหายตามที่เห็นสมควรได้ เช่น 
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา15107/2558 มื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


        ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสัญญาเลิกกันเมื่อใด เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 5836/2559 คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

              

          เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะพอเข้าใจได้ว่า ว่าถ้าผ่อนรถไม่ไหว ควรจะคืนรถให้กับบริษัทไฟแนนท์หรือไม่ ถ้าผ่อนไม่ไหว และอยากได้เงินบางส่วนคืน ก็อาจจะเลือกขายดาวน์ เอาเงินกลับคืนมาสักเล็กน้อย แต่ถ้าจะปล่อยให้ผู้อื่นรับรถไป แล้วผ่อนต่อ โดยไม่มีการเปลี่ยนชื่อสัญญาเช่าซื้อละก็ ไม่พ้นความรับผิดชอบครับ เพราะสัญญาเช่าซื้อยังเป็นชื่อเรา และมีโอกาสที่่บุคคลนั้นจะไม่ผ่อนต่อ นำรถเราไปจำนำหรือเอาไปขายต่อเพื่อรื้อทั้งคันขายเป็นอะไหล่ไม่เหลือซาก ยากที่จะติดตามเอาคืน และอาจเสียเงินเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามดำเนินคดี มีความเครียดสะสม อย่างเช่นในเฟสที่มีบางคนระบุว่าขายอะไหล่พร้อมระเบิดทั้งคัน ถ้าไม่ใช่รถที่เกิดอุบัติเหตุ  น่าสงสัยมั้ยว่ารถดีๆ จะระเบิดขายอะไหล่ทั้งคันทำไม อันนี้คือสงสัยไว้ก่อนครับยังไม่ฟันธงว่าใช่  และคนที่รับรถไปไม่ผ่อนต่อ ถ้ามีสัญญาทำกันไว้ มีหลักฐานชัดเจน ก็ไปฟ้องพิสูจน์ความผิดเอาครับว่าจะเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง หรือผิดอาญาฉ้อโกง หรือผิดลักทรัพย์ หรือผิดยักยอก ซึ่งถ้ามีเจตนาตั้งแต่แรกขณะรับรถไปแล้วว่าจะไม่ผ่อนต่อเอาไปขายต่อเลยแบบนี้ มีเจตนาทุจริตแน่นอนครับ แต่ถ้าเข้าข่ายความผิดอาญาข้อหาใดข้อหาหนึ่งดังที่กล่าว ที่แน่ๆ คนรับจำนำ คนรับไว้ คนที่ช่วยจำหน่ายนำรถมาระเบิดขายอะไหล่ คนรับซื้ออะไหล่ เข้าข่ายผิดอาญาข้อหารับซื้อของโจร   ก็ระวังๆไว้ก็ดีข้อนี้   

**************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search