วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เงื่อนไขที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ หรือโมฆียะ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


เงื่อนไขการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะ

         (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังให้ผู้จัดทำ)

          การสมรส จะมีได้แต่เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น แม้ไม่มีขบวนขันหมาก ไม่มีงานแต่งงาน ไม่มีงานเลี้ยงฉลอง ก็เป็นการสมรสตามกฎหมายที่มีผลให้เป็นสามีภริยากัน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางครอบครัว ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน แต่การสมรส หากมีกรณีที่เข้าเงื่อนไขตามข้อกฎหมาย จะทำให้การสมรสเป็นโมฆะ หรือโมฆียะได้เหมือนกัน

          โมฆะ คือ ความเสียเปล่า ไม่อาจให้สัตยาบันได้  โมฆียะ คือ ความไม่สมบูรณ์ ที่อาจถูกเพิกถอนได้ ซึ่งการสมรสแม้จะเข้าเงื่อนไขให้เป็นโมฆะ หรือโมฆียะ แต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงความเป็นโมฆะ และแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส หรือการสมรสจะสิ้นสุดเมื่อมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะ  ซึ่งเป็นการสิ้นสุดลงของการสมรสรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากการสิ้นสุดลงด้วยความตาย หย่า (ม.1501)  ดังนั้น เงื่อนไขที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ หรือโมฆียะ มีดังนี้

        1.ผู้เยาว์ทำการสมรส 

        การสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว(ม.1448) ถ้าชายและหญิงมีอายุไม่ถึงทำการสมรสกัน จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ  แต่การสมรสที่เป็นโมฆียะจะสิ้นสุดลงเมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอน (ม.1502) ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1511) ผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลเพิกถอนได้ แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมแล้วจะขอให้เพิกถอนไม่ได้ ถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนจนชายหญิงมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์หรือหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส(ม.1504) 

        ผู้เยาว์จะทำการสมรสต้องได้รับความยินยอม(ม.1454) จากบิดาและมารดา ในกรณีมีทั้งบิดามารดา หรือได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้ หรือได้รับความยินยอมจากผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม หรือได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง กรณีที่ไม่มีบุคคลที่ให้ความยินยอมตามที่กล่าวข้างต้น หรือมีแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง(ม.1436) ถ้าผู้เยาวทำการสมรสโดยไม่ได้ความยินยอม จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ (ม.1509) บุคคลที่อาจให้ความยินยอมเท่านั้นที่อาจขอให้เพิกถอนการสมรสได้ สิทธิขอเพิกถอนเป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือหญิงมีครรภ์ การฟ้องให้เพิกถอนมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันทราบการสมรส(ม.1510)      

        บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์ แต่เมื่อผู้เยาว์ทำการสมรสย่อมบรรลุนิติภาวะ โดยการสมรส  (ม.19-20) 


        2.ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

        การสมรสจะทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (ม.1449) ฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ(ม.1495) คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้ (ม.1496) เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส(ม.1497/1) 

        การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง (ม.1498) แต่ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1499) แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500)

        3.ชายหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิต

        ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป หรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติถือตามสายโลหิต(ม.1450) ฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ(ม.1495) คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้ (ม.1496) เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส(ม.1497/1) 

        การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง (ม.1498) แต่ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1499) แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500)


        4.ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม

        ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ (ม.1451) การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืน(ม.1598/32) มีผลยกเลิกโดยผลของกฎหมาย ไม่ต้องจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ทำให้ไม่มีฐานะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม  

        ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี จะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้ ต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี (ม.1598/19) ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ต้องได้รับความยินยอม การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมของบิดาและมารดา กรณีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมหรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมปราศจากเหตุผลอันควรและเป็นปรปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้การยินยอมก็ได้ (ม.1598/21)

       5.ทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรส

        ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ (ม.1452) ฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ(ม.1495) ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น(ไม่ต้องร้องขอต่อศาล)  หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ (ม.1497) เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส(ม.1497/1) 

        การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง (ม.1498) ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนที่รู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่รู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ (ม.1499) แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500) 


           6.ยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงความยินยอมให้ปรากฎ

            การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงความยินยอมให้ปรากฎโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย (ม.1458) ฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ(ม.1495) คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้ (ม.1496) เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส(ม.1497/1) 

            การสมรสทีเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง (ม.1498) แต่ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1499) แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500)

            7.สำคัญผิดตัวคู่สมรส

            การสมรสที่ได้กระทำไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสำคัญผิดตัวคู่สมรส เป็นโมฆียะ สิทธิขอเพิกถอนเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว 90วันนับแต่วันสมรส(ม.1505) 

            8.ถูกกลฉ้อฉลถึงขนาด

            ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรส เป็นโมฆียะ แต่ไม่ใช้บังคับกรณีกลฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นโดยบุคคลที่สาม โดยคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้เห็นด้วย สิทธิขอเพิกถอนเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้พ้นไปแล้ว 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงกลฉ้อฉล หรือเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่วันสมรส (ม.1506)

            9.ถูกข่มขู่อันถึงขนาด

            ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่ถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส เป็นโมฆียะ สิทธิขอเพิกถอนเป็นอันระงับเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นจาการข่มขู่ (ม.1507)

            การสมรสที่เป็นโมฆียะจะสิ้นสุดลงเมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอน (ม.1502) ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1511)  ถ้าไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนยังมีผลเป็นการสมรสอยู่ 


     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น