วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 


          การที่จะกล่าวถึง ความเสียหายอย่างอื่นอัมมิใช่ตัวเงิน ต้องเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการการกระทำละเมิด ซึ่งมีหลักกฎหมาย คือ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น   ซึ่งการกระทำละเมิดอาจจะเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่ง หรือเป็นการกระทำผิดทางอาญา ก็จะทำให้เกิดสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากกระทำดังกล่าวได้ 

           ค่าสินไหมทดแทน ที่ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องได้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ คือ การคืนทรัพย์ที่เสียหายไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์นั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะถึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอันได้ก่อขึ้น และมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากการใช้ราคาทรัพย์นั้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นหนี้อย่างหนึ่ง ที่ในทางบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องหนี้ ให้ถือว่า หนี้อันเกิดจากมูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด การใช้ราคาทรัพย์ เป็นการชำระหนี้ที่เป็นเงิน ที่จะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ผิดนัดได้ ปัจจุบันใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่เวลาที่ทำละเมิด  

คำพิพากษาศาลฎีกา 4189/2563

              การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินที่ผู้บริโภคเสียไปจากการถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือราคาทรัพย์นั้น ... ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อจนได้เงินไปจากผู้บริโภค นอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ โดยถือว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคแต่ละคนเสียไปจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง คือจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้

คำพิพากษาศาลฎีกา 4028/2564

             เมื่อรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมสูญหายไปโดยความประมาทของจำเลย และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อม เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

           ถ้าทำให้เขาถึงตาย ค่าสินไหม ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการปลงศพ เช่น ค่าส่งศพกลับภูมิลำเนา ค่าซื้อที่ฝังศพ ค่าอาหารเลี้ยงแขก ค่าพิมพ์หนังสืองานศพ เป็นต้น (จากแนวคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกา)

           ถ้ามิได้ตายทันที ค่าสินไหม ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้น  ถ้าเหตุที่ตายทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายได้อุปการะไว้หรือไม่ 

          ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน นั้น เกิดจากการกระทำละเมิดที่ทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย เสรีภาพแก่ผู้นั้น ทำให้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้ 
เช่น  

คำพิพากษาศาลฎีกา 4404/2564

               แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญตาม ป.อ. มาตรา 392 แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายการกระทำดังกล่าวมาในคำฟ้อง ทั้งไม่ระบุในคำขอท้ายฟ้องไว้ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้การที่จำเลยใช้อาวุธปืนเล็งข่มขู่ผู้ร้อง แม้จะไม่ได้ทำให้ผู้ร้องบาดเจ็บ แต่ก็เป็นการทำให้ผู้ร้องเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของผู้ร้อง เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ผู้ร้องถูกกระทำละเมิดจึงชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกา3945/2558

                   ผลของการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาขวาท่อนล่าง ซึ่งมี 2 ท่อนคู่กันกระดูกแต่ละท่อนได้หัก 2 แห่ง และมีแผลฉีกขาดที่ปลายขาขวา ยาว 20 เซนติเมตร แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาใส่แผลที่ฉีกขาด ต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกที่หัก ถึง 2 ครั้ง โจทก์ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนานนับปี ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก มีรอยแผลเป็นและไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเพราะขายาวไม่เท่ากัน เห็นได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง และการที่โจทก์ต้องรับการผ่าตัดกระดูกขาขวานั้นเอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานขับรถจักรยานยนต์ส่งเอกสารได้จนถูกบริษัทนายจ้างสั่งให้ออกจากงาน แม้ต่อมาโจทก์จะได้กลับไปทำงานขับรถส่งเอกสารอีก แต่ก็ไม่สามารถขับไปส่งในระยะไกล ๆ ได้ดังเดิม ทำให้รายได้โจทก์ลดลงจากเดิมเดือนละ 15,000 บาท เหลือเพียง 8,000 บาท อันถือได้ว่า เป็นการเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วนที่คิดเป็นเงินได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา ส่วนจำนวนค่าเสียหายโจทก์ควรจะได้เท่าใดนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกา 811/2558

             ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายอนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายเรียกร้องเอาได้ สำหรับค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านของโจทก์ร่วมนั้น การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย ไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้

----------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้นวันที่ 22 ธันวาคม 2565,จากhttp://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สถานศึกษาให้เด็กการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

        บทความนี้ เสนอแง่มุมของความรับผิดของสถานศึกษาที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายความว่า การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา ดังนั้น สถานศึกษาที่ต้องรับเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วให้เด็กออกกลางคัน หรือจำหน่ายออกจากระบบทะเบียนของนักเรียน อันมีผลให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับไม่ได้เข้าเรียนตามกฎหมาย จะมีความรับผิดอย่างไร  

        ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 การศึกษาภาคบังคับ หมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ  เด็ก หมายความว่า เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่เด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว  

         ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ผู้ปกครองที่มีเด็กอยู่ในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับจะต้องส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา ถ้าไม่ส่งเข้าเรียนในสถานศึกษามีโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท  ผู้ซึ่งมิใช่ผู้ปกครอง มีเด็กซึ่งไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาอาศัยอยู่ด้วย ต้องแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เด็กมาอาศัยอยู่ เว้นแต่ผุ้ปกครองอาศัยอยู่ด้วย ถ้าไม่แจ้งหรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  และผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  โทษดังกล่าวถือเป็นโทษทางปกครองของผู้ปกครอง หรือผู้ใดที่ไม่ได้ส่งเด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับเข้าเรียนในสถานศึกษา

         เมื่อการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ  ถ้าสถานศึกษาของรัฐ ให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนการจัดศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ผู้อำนวยการสถานศึกษา ถือเป็นผู้กระทำความผิดวินัย ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานทางการศึกษา
มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล โดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน และไม่ให้เกิดความเสียหายแต่ทางราชการ และสำหรับโทษทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ถือเป็นการกระทำผิดฐาน ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่โทษทางปกครอง ที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การบังคับทางปกครองให้หน่วยงานชำระเงินค่าปรับดังกล่าว ไม่ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐด้วยกัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 63/1 ซึ่งเป็นการแก้ไขฉบับที่ 3 พ.ศ.2562    

            ถ้าเป็นสถานศึกษาเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากราชการให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้  ถ้าให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนการจัดศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545  ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ถือเป็นการกระทำผิดฐาน ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร กระทำด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  และถือเป็นการกระทำที่เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชน เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบและสั่งให้มีการแก้ไขได้ตามมาตรา 93 และมาตรา 95 การไม่ปฏิบัติตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่ง อาจมีผลกระทบต่อใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษาในระบบได้ 

            การให้เด็กในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากระบบนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย  ยังถือเป็นการกระทำละเมิด ที่ผู้ปกครองมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากสถานศึกษาในการกระทำละเมิดดังกล่าวได้ด้วย  ดังเช่นคำพิพากษาศาลภีกาที่ 6234/2564 ดังนี้      

 คำพิพากษาศาลฎีกา 6234/2564

            ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ “การศึกษาภาคบังคับ” “สถานศึกษา” “เด็ก” แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับจึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนมีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียนกับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432

             ดังนั้น ความรับผิดของสถานศึกษาที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน หรือจำหน่ายออกจากระบบทะเบียนของนักเรียน อันมีผลให้เด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับไม่ได้เข้าเรียนตามกฎหมาย ย่อมมีความรับผิดตามที่ได้นำเสนอ โดยในส่วนของความรับผิดทางละเมิดนั้น สถานศึกษาของรัฐ ย่อมต้องรับผิดในความเสียหายทางละเมิดเช่นเดียวกัน กับสถานศึกษาเอกชนที่มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีดังกล่าว 

-----------------------------------------------
อ้างอิง

            พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545
            พระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564 ,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้นวันที่ 16 ธันวาคม 2565,จากhttp://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กู้ยืมเงินเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ผิดอาญา

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


            กู้ยืมเงินกันระหว่างบุคคล ถ้ามีการตกลงกำหนดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถนำมาฟ้องร้องบังคับกันได้ มีผลให้ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตราแล้ว  ผู้ให้กู้จะเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษทางอาญา ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560  ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในการต่อสู้คดีในศาล ผู้กู้ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวกันไว้ ศาลก็สามารถหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้  

            สาระสำคัญตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 มีว่า 

            บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            (1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

            (2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยที่เกินอัตรา ที่กฎหมายกำหนด หรือ

            (3) กำหนดจะเอาหรือรับเอา ซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของ หรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควร ตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

            บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องจากบุคคลอื่นโดยรู้ว่าเป็นสิทธิที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือใช้สิทธินั้นหรือพยายามถือเอาประโยชน์แห่งสิทธินั้น ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4

            ซึ่งในการกู้ยืมเงินกัน ผู้ให้กู้ยืมย่อมรู้ข้อกฎหมายนี้ดีอยู่แล้ว อาจจะมีการกำหนดข้อความให้เป็นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงินกัน เพื่อเหตุผลที่จะมีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือต้องการรับเอาผลประโยชน์จากการให้กู้ยืมเงินมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเข้าเงื่อนไขข้อ (2) หรือ(3) ผู้กระทำย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน ซึ่งสำเร็จทันทีที่มีการให้กู้ยืมเงินกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2565

             ความผิดฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยให้ผู้เสียหายทั้งห้ากู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มิใช่ว่าจำเลยจะต้องได้รับดอกเบี้ยจากผู้เสียหายทั้งห้าก่อน

           การกู้ยืมเงินกันกว่าสองพันบาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งในการทำสัญญากู้ยืมเงินกันที่มีการลงลายมือชื่อของทั้งผู้กุ้และผู้ให้กู้และพยาน ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีการขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้นด้วย มิฉะนั้น จะนำหลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ว่ามีการกู้ยืมเงินกันมิได้ มีผลถือว่าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4574/2561

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์นำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8175/2551

             หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 นั้นอาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กัน แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น

            การคิดดอกเบี้ยกู้ยืมตามกฎหมาย มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561
               โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761-8763/2561
                 ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177
  •           เมื่อการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การนำสืบการใช้เงิน เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือขื่อผู้ให้ยืม หรือ เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืน หรือแทนเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว แสดงว่าเมื่อมีการชำระหนี้เงินกู้ที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้ให้กู้ยืมต้องออกหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานในการรับเงินให้ผู้กู้  หรือหลักฐานการปิดบัญชีเงินกู้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้กู้ที่จะต้องติดตามและเก็บหลักฐานใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการชำระหนี้เงินกู้ไว้ต่อสู้ผู้ให้กู้ 
 คำพิพากษาศาลฎีกา 1655/2549

        จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว จำเลยจะต้องมีหลักฐานตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดมานำสืบ จำเลยมีแต่เพียงตัวจำเลยและน้องของจำเลยเป็นพยาน ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง สัญญากู้ยืมเงินก็ยังคงอยู่ที่โจทก์และยังไม่มีการแทงเพิกถอน จำเลยจึงต้องห้ามมิให้นำสืบการใช้เงินตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555

        การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 36/2555

        เอกสารหมาย จ.2 นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าจำเลยรับโฉนดที่ดินจาก ส. แล้ว เอกสารดังกล่าวยังมีข้อความที่แสดงว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินจาก ส. จำนวน 2,000,000 บาท จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ไม่เจตนาให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ตาม การที่คู่สัญญาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือไว้แล้ว หามีผลทำให้เอกสารฉบับนี้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงใช้เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือฟ้องให้จำเลยรับผิดได้

        การกู้ยืมเงินระหว่าง ส. กับจำเลยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยอ้างว่าชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม ไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5863/2549

         จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินไว้ จำเลยจะนำสืบการใช้เงินต้นเงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่สำเนาสัญญากู้ยืมที่โจทก์ส่งคืนจำเลยไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนหลักฐานแห่งการกู้ยืมแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่สามารถนำสืบการใช้ต้นเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ ส่วนการนำสืบการชำระดอกเบี้ยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยนำสืบได้

          กรณีนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ถือว่าไม่ใช่การนำสืบการใช้เงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง  เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป(321) สามารถนำสืบการใช้เงินได้ไม่ต้องห้าม   

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10227/2551

         การนำสืบการชำระหนี้โดยนำเงินฝากเข้าบัญชีให้โจทก์ และการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นผู้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์ เป็นการนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่การนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดง ซึ่งต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบได้

คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 6823/2551

        จำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ว่า จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร ก. ให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีของจำเลยทุกเดือน และโจทก์ยอมรับว่าได้รับบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวไว้ถอนเงินจากบัญชีของจำเลย จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลให้ศาลเห็นถึงวิธีการชำระหนี้ว่าได้ปฏิบัติต่อกันเช่นใด ไม่อยู่ในบทบังคับเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2550

         ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ใช้บังคับกับกรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบพยานบุคคลในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยจึงนำสืบได้

        สรุปคือ  การกู้ยืมเงิน บุคคลใดจะให้กู้ยืมเงินกัน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ยืม และต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่กฎหมายกฎหมายกำหนด   การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ในส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ผู้กู้ไม่ต้องชำระ รับผิดเฉพาะเงินต้น ผู้ให้กู้มีความผิดเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำหรือปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560  ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เพราะอ้างว่า ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงินกัน เช่น สัญญาขายฝากที่ดินอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน   

---------------------------------------------------

อ้างอิง
           คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ,สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม 2565,จาก http://deka.supremecourt.or.th/printing/deka

 

หย่ากัน แต่ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา การหย่าเป็นโมฆะ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


        การหย่า เป็นกรณีสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน(1461)กันอีกต่อไปแล้ว จึงได้ทำการหย่ากัน ซึ่งจะมีผลเป็นการหย่าต้องเกิดจากเจตนาที่แท้จริงที่จะหย่า และไปแสดงความประสงค์หย่า โดยอาจจะฟ้องคดีต่อศาล หรือหย่าโดยความยินยอม ที่ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน(1514) และนำความประสงค์นั้นไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน(1515) จะทำให้การหย่ามีผลในทางกฎหมาย ทำให้สิ้นสุดการสมรส ไม่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ไม่เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
 
        การหย่ากันโดยเหตุผลทางธุรกิจ หรือเหตุผลอื่นๆ  แต่ในความจริงภายหลังการจดทะเบียนหย่าแล้ว ยังคงอยู่บ้านเดียวกัน อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ในยามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดป่วยไข้ยังมีการดูแลรักษากันอยู่  ถือว่าไม่มีเจตนาหย่า ในทางกฎหมายถือว่า การจดทะเบียนหย่ามีผลเป็นโมฆะ ใช้บังคับมิได้ จึงยังถือเป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันอยู่  โดยมีคำพิพากษาของศาลฎีกา วินิจฉัยไว้ดังนี้ 

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8333/2560

              ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้



----------------------------------------------------

อ้างอิง
ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ,สืบค้นวันที่ 9 ธันวาคม 2565,จาก http://deka.supremecourt.or.th/printing/deka