วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 


          การที่จะกล่าวถึง ความเสียหายอย่างอื่นอัมมิใช่ตัวเงิน ต้องเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการการกระทำละเมิด ซึ่งมีหลักกฎหมาย คือ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น   ซึ่งการกระทำละเมิดอาจจะเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่ง หรือเป็นการกระทำผิดทางอาญา ก็จะทำให้เกิดสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากกระทำดังกล่าวได้ 

           ค่าสินไหมทดแทน ที่ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องได้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ คือ การคืนทรัพย์ที่เสียหายไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์นั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะถึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอันได้ก่อขึ้น และมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากการใช้ราคาทรัพย์นั้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นหนี้อย่างหนึ่ง ที่ในทางบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องหนี้ ให้ถือว่า หนี้อันเกิดจากมูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด การใช้ราคาทรัพย์ เป็นการชำระหนี้ที่เป็นเงิน ที่จะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ผิดนัดได้ ปัจจุบันใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่เวลาที่ทำละเมิด  

คำพิพากษาศาลฎีกา 4189/2563

              การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินที่ผู้บริโภคเสียไปจากการถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือราคาทรัพย์นั้น ... ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อจนได้เงินไปจากผู้บริโภค นอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ โดยถือว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคแต่ละคนเสียไปจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง คือจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้

คำพิพากษาศาลฎีกา 4028/2564

             เมื่อรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมสูญหายไปโดยความประมาทของจำเลย และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อม เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

           ถ้าทำให้เขาถึงตาย ค่าสินไหม ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการปลงศพ เช่น ค่าส่งศพกลับภูมิลำเนา ค่าซื้อที่ฝังศพ ค่าอาหารเลี้ยงแขก ค่าพิมพ์หนังสืองานศพ เป็นต้น (จากแนวคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกา)

           ถ้ามิได้ตายทันที ค่าสินไหม ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้น  ถ้าเหตุที่ตายทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายได้อุปการะไว้หรือไม่ 

          ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน นั้น เกิดจากการกระทำละเมิดที่ทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย เสรีภาพแก่ผู้นั้น ทำให้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้ 
เช่น  

คำพิพากษาศาลฎีกา 4404/2564

               แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญตาม ป.อ. มาตรา 392 แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายการกระทำดังกล่าวมาในคำฟ้อง ทั้งไม่ระบุในคำขอท้ายฟ้องไว้ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้การที่จำเลยใช้อาวุธปืนเล็งข่มขู่ผู้ร้อง แม้จะไม่ได้ทำให้ผู้ร้องบาดเจ็บ แต่ก็เป็นการทำให้ผู้ร้องเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของผู้ร้อง เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ผู้ร้องถูกกระทำละเมิดจึงชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกา3945/2558

                   ผลของการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาขวาท่อนล่าง ซึ่งมี 2 ท่อนคู่กันกระดูกแต่ละท่อนได้หัก 2 แห่ง และมีแผลฉีกขาดที่ปลายขาขวา ยาว 20 เซนติเมตร แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาใส่แผลที่ฉีกขาด ต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกที่หัก ถึง 2 ครั้ง โจทก์ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนานนับปี ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก มีรอยแผลเป็นและไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเพราะขายาวไม่เท่ากัน เห็นได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง และการที่โจทก์ต้องรับการผ่าตัดกระดูกขาขวานั้นเอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานขับรถจักรยานยนต์ส่งเอกสารได้จนถูกบริษัทนายจ้างสั่งให้ออกจากงาน แม้ต่อมาโจทก์จะได้กลับไปทำงานขับรถส่งเอกสารอีก แต่ก็ไม่สามารถขับไปส่งในระยะไกล ๆ ได้ดังเดิม ทำให้รายได้โจทก์ลดลงจากเดิมเดือนละ 15,000 บาท เหลือเพียง 8,000 บาท อันถือได้ว่า เป็นการเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วนที่คิดเป็นเงินได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา ส่วนจำนวนค่าเสียหายโจทก์ควรจะได้เท่าใดนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกา 811/2558

             ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายอนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายเรียกร้องเอาได้ สำหรับค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านของโจทก์ร่วมนั้น การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย ไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้

----------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้นวันที่ 22 ธันวาคม 2565,จากhttp://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น