วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ครูละเว้นไม่สอน เสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ (การดำเนินการทางวินัย)

 บทความโดย ก้องทภพ  แก้วศรี


        ครูละเว้นไม่สอน 

             เมื่อบุคคลได้รับการบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งตามกฎหมายที่ ให้อำนาจบรรจุและแต่งตั้ง บุคคลนั้นย่อมถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๑๖)เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการตามตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง อีกทั้งเมื่อไปประจำหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นจะมอบหมายหน้าที่ราชการให้ปฏิบัติ ดังนั้น เจ้าพนักงานจึงมีหน้าที่ราชการตามกฎหมายและตามที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ เมื่อเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีความผิดทางวินัยข้าราชการด้วยนี่คือ กฎหมายเบื้องต้นที่ผู้ที่เข้ารับราชการพึงต้องรู้ไว้เสมอ

            เมื่อบุคคลนั้นได้รับการบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ย่อมถือว่าครูเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้วว่าครูมีหน้าที่อย่างไร และเมื่อได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาแห่งใด ผู้บริหารสถานศึกษาจะมอบหมายหน้าที่ราชการให้ครูรายนั้นปฏิบัติ ครูจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายและหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเช่นเดียวกัน เมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติให้คำนิยามของครูว่า “บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆในสถานศึกษา...” เมื่อครูถูกกล่าวหาว่าละเลยต่อการสอน ย่อมเกิดความเสียหายแก่ผู้เรียนและราชการ จะมีความผิดทางวินัยและอาจเป็นความผิดอาญาได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป ในเรื่องนี้ มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของครูไว้อย่างน่าสนใจ ที่ครูพึงตระหนักไว้ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างถูกต้อง เกิดประโยชน์แก่นักเรียนและราชการ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ คดีหมายเลขแดง ที่ อ.๑๖๔/๒๕๖๐



            ในคดีนี้ ข้าราชการครู ในโรงเรียนแห่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชาเสริมทักษะคณิตวิทย์ ชั้นมัธยมศึกษา ถูกผู้ปกครองนักเรียน ร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่จะเป็นครู เพราะขาดจริยธรรม ทำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ในห้องที่ครูนั้นสอนอยู่ ได้ผลสอบเป็น ๐ จำนวน ๒๑ คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด ๔๗ คน ทำให้ถูกดำเนินการทางวินัยและลงโทษตัดเงินเดือน ซึ่งครูที่ถูกลงโทษทางวินัยนำเรื่องมาฟ้องคดี เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว ในคดีดังกล่าวศาลวินิจฉัยที่เป็นประเด็นที่สำคัญของการทำหน้าที่ครูผู้สอนว่า “...การประเมินผลหลังเรียนเรื่องระบบจำนวนจริงที่มีผู้สอบได้คะแนนไม่ถึง ๕๐%(๑๕คะแนน)จำนวน ๓๙ คน ในจำนวนดังกล่าวมีผู้ได้คะแนน ๐ คะแนน จำนวน ๘ คน เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎอย่างชัดแจ้งว่า ผลการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวไม่เป็นไปตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมเสริมผู้เรียนให้บรรจุผลการเรียนที่คาดหวัง การไม่ดำเนินการข้างต้นส่งผลโดยตรงกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา มีผลการเรียนเป็น ๐ จำนวน ๒๑ คน จากนักเรียนทั้งหมด ๔๗ คน จึงเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานครูงานวิชาการโรงเรียน ปีการศึกษา ๒๕๔๘-๒๕๔๙ ที่ใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ปฏิบัติตามคู่มือแนะนำนักเรียนเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาของงานทะเบียนวัดผล นั้นไม่อาจรับฟังได้ การกระทำของผู้ฟ้องคดีถือได้ว่านักเรียนจำนวนดังกล่าวได้รับความเสียหายโดยตรงและเสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ(โรงเรียน) โดยส่วนรวม ทำให้สังคมเสื่อมศรัทธาต่อวิชาชีพครู พฤติการณ์เป็นการกระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ...”

โฆษณา(คลิก)



              จากคำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าว จะเห็นว่าครูละเว้นไม่สอน  เสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ โดยละเว้นไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานครูงานวิชาการที่ใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท  ถือได้ว่านักเรียนจำนวนดังกล่าว(นักเรียนที่ได้รับคะแนน ๐ ) ได้รับความเสียหายโดยตรงและเสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ(โรงเรียน) โดยส่วนรวม เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดอาญาตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ หากมีการแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดในข้อหาดังกล่าว ครูจะต้องเหนื่อยในการพิสูจน์เจตนาของตนว่ามีเจตนาพิเศษ จากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นักเรียนและองค์การดังกล่าวตาม ข้อกฎหมายหรือไม่ ทางที่ดีเมื่อทราบแนวคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องนี้แล้ว ครูควรปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตามกฎหมายและที่ได้รับมอบหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดต่อไป เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกดำเนินการทางวินัยและถูกฟ้องคดีอาญา  


****************
ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

คดีอาญายกฟ้อง แต่ยังผิดทางวินัย (การดำเนินการทางวินัยข้าราชการ)

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

 

    คดีอาญายกฟ้อง แต่ยังผิดทางวินัย 

   เมื่อข้าราชการต้องหาคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย ให้รายงานให้ต้นสังกัดทราบโดยด่วน เพื่อทราบความเป็นไปของบุคคลดังกล่าว (หนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ น.๘๒๖/๒๕๘๒ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๒) การไม่รายงาน ถือเป็นการกระทำความผิดวินัย และอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย เช่น ข้าราชการถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย (ภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย) ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา ๓๐ (๙) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๐ แต่เมื่อข้าราชการไม่ได้รายงาน ทำให้ราชการไม่ทราบว่าข้าราชการดังกล่าวขาดคุณสมบัติ ต่อมาเมื่อพ้นกำหนด ๓ ปี ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย จึงมาทราบข้อเท็จจริง ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการและตีความ และราชการเสียหายจากการที่มีการจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เป็นต้น

    หากข้าราชการต้องหาคดีอาญา ที่เป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แล้วมีการควบคุมขังระหว่างสอบสวนและฟ้องคดี โดยไม่ได้รับการประกันตัว (ไม่เกิน ๑๕ วัน) จะทำให้ข้าราชการคนนั้นไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาอนุญาตให้ลากิจหรือลาพักผ่อนในระหว่างการถูกควบคุมขังได้หรือไม่ นั้น มีหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร ๐๙๐๔/๕๖๖ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลาของข้าราชการและลูกจ้างไว้ว่า “เมื่อข้าราชการ ลูกจ้าง ถูกจับ ถูกควบคุม ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน ฟ้องคดี ไม่ได้รับการประกันตัวผู้บังคับบัญชาจะอนุญาตให้ลากิจหรือลาพักผ่อนไม่ได้ เนื่องจากมิใช่การลาประเภทใดๆตามระเบียบว่าด้วยการลาฯ จึงไม่มีกรณีที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาอนุญาต” “ในช่วงที่มีการควบคุมตัว คุมขัง ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา รอการจ่ายเงินเดือน เงินค่าจ้าง ระหว่างที่ถูกควบคุม หรือขังไว้ก่อน จนกว่าคดีจะถึงที่สุด (การพิจารณาจ่ายเงินเดือนจะจ่ายตาม พระราชบัญญัติเงินเดือนของข้าราชการผู้สั่งพักราชการ พ.ศ.๒๕๐๒)” จากหนังสือดังกล่าว ผู้บังคับบัญชา จึงไม่สามารถพิจารณาอนุญาตให้ลากิจหรือลาพักผ่อนให้แก่ข้าราชการรายที่ถูกควบคุมขังได้ และต้องรอการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างไว้ แล้วดำเนินการตามพระราชบัญญัติเงินเดือนของข้าราชการผู้สั่งพักราชการ พ.ศ.๒๕๐๒ 

โฆษณา(คลิก)


    เมื่อข้าราชการต้องหาว่ากระทำอาญา จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเกียรติของตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่หากตรวจสอบแล้วพบว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัย สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยไม่ต้องรอคดีอาญาถึงที่สุด

    กรณีเมื่อดำเนินการทางวินัยและมีคำสั่งลงโทษข้าราชการรายนั้นไปแล้วต่อมาคดีอาญาศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง จะทำให้ข้าราชการรายนั้น มีสิทธิยื่นคำขอต่อหน่วยงานขอให้พิจารณาเรื่องการลงโทษ ทางวินัยใหม่ และจะทำให้ ผู้นั้นพ้นจากการกระทำความผิดวินัย ที่ราชการจะต้องยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยหรือไม่นั้น มีคำวินิจฉัยจากศาลปกครองสุงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๗๕๕/๒๕๖๑ วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าเมื่อคู่กรณีมีคำขอ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ตามส่วนที่ (๕)ได้ ในกรณีต่อไปนี้...(๔) ถ้าคำสั่งทางปกครองได้ออกโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฏหมายใดและต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณี...ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โดยศาลจังหวัดราชบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ กรณีจึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้รู้ถึงเหตุที่จะขอพิจารณาใหม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี..พิจารณาทบทวนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการใหม่ จึงเป็นการยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ได้ ตามมาตรา ๕๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ อย่างไรก็ตามผู้ฟ้องคดียื่นคำขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างเหตุว่า ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสาระสำคัญ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงเห็นว่าแม้พฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีอาญาและดำเนินการทางวินัยจะเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันพยายาฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนหรือกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน ชุมชน โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน แต่โดยที่กฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการ...ได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา โดยโทษทางวินัยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นผู้เหมาะสมและสมควรแก่ความไว้วางใจแก่สาธารณชนที่จะใช้อำนาจรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนการดำเนินคดีอาญา เป็นการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิด การลงโทษในคดีอาญาจึงต้องกระทำโดยมีพยานหลักฐานอันประจักษ์ หากมีความสงสัยตามสมควรว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหา การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี ผู้บังคับบัญชาจึงไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญา เมื่อ...มีคำสั่ง...ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและอนุกรรมการ...เกี่ยวกับอุทธรณ์...มีมติยกอุทธรณ์ผู้ฟ้องคดี โดยรับฟังพยานหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง...ดังนั้นแม้ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ก็เนื่องเห็นว่าพยานหลักฐานยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัยตามสมควรว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๒๒๗ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้การลงโทษผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาต้องกระทำโดยมีพยานหลักฐานอันประจักษ์แจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยเท่านั้น กรณีจึงมิได้หมายความว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นผลให้ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้พิจารณายกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดี ในอันที่จะทำให้ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ ตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙"



    จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ย่อมชัดแจ้งว่า คดีอาญายกฟ้อง แต่ยังผิดทางวินัย เนื่องจาก กฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา โดยโทษทางวินัยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นผู้เหมาะสมและสมควรแก่ความไว้วางใจแก่สาธารณชนที่จะใช้อำนาจรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนการดำเนินคดีอาญา เป็นการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิด การลงโทษในคดีอาญาจึงต้องกระทำโดยมีพยานหลักฐานอันประจักษ์ หากมีความสงสัยตามสมควรว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหา การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาจึงไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญา
โฆษณา(คลิก)


 ****************

ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผู้มีอำนาจทำคำสั่ง จะฟ้องให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้หรือไม่ (วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง)

 บทความโดย ก้องทภพ  แก้วศรี


      ผู้มีอำนาจทำคำสั่ง จะฟ้องให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้หรือไม่ 

         การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต อนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ที่ผู้ใช้อำนาจจะต้องแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งนั้นไว้ด้วย ว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาเท่าใดและยื่นต่อใคร รวมทั้งระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งนั้น

             ในกรณีกฎหมายที่ให้อำนาจออกคำสั่งทางปกครอง ไม่ได้กำหนดขั้นตอนอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้ ต้องถือปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ นั่นคือ ต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นต่อผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่ง คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย ซึ่งการอุทธรณ์ไม่มีผลเป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง (หมายถึงคำสั่งทางปกครองยังมีผลในการบังคับจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ ยกเลิกหรือมีคำสั่งให้ทุเลาคำบังคับไว้) 

  

             เมื่อผู้ทำคำสั่งทางปกครองได้รับคำอุทธรณ์แล้ว ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า กรณีผู้ทำคำสั่งไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ ให้รายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ชั้นเหนือขึ้นไปตามกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน หากพิจารณาไม่ทันให้แจ้งผู้อุทธรณ์ก่อนครบกำหนด มีผลให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดดังกล่าว (มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙)รวมระยะเวลาในการพิจารณาเป็นจำนวน ๙๐ วัน หากครบกำหนด ๙๐ วันแล้ว ผู้อุทธรณ์ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ย่อมเกิดสิทธิฟ้องคดีปกครองได้ภายในกำหนด ๙๐ วันนับแต่วันพ้นกำหนด ๙๐ วัน ตามมาตรา ๔๒ ประกอบมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง   พ.ศ.๒๕๔๒

        ในการพิจารณาอุทธรณ์ หากผู้ทำคำสั่งทางปกครองไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ แล้วรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์พิจารณา ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ ให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของผู้มีอำนาจทำคำสั่งทั้งหมด ผู้มีอำนาจทำคำสั่งจะฟ้องคดีปกครอง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว โดยเห็นว่าคำสั่งทางปกครองของตนเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วได้หรือไม่



         ในกรณีนี้มีแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสุงสุดตามคำสั่งที่ ๖๘๓/๒๕๔๘  ว่า “...แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นในการออกคำสั่งดังกล่าวก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ...ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นการควบคุมตรวจสอบคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ชั้นต้น โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามกระบวนการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครองที่กฎหมายฉบับที่ให้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองบัญญัติไว้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นทั้งเรื่อง ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นที่ออกคำสั่งทางปกครองซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์กลับ แก้ หรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของตน และโดยนิตินัยผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากคำวินิจฉัยอุทธรณ์...”

       ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีผลให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำคำสั่งทางปกครองต้องปฏิบัติตาม ไม่สามารถฟ้องขอให้ศาลพิพากษาคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นได้ 

*********************

 ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/


ข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบที่ใช้เป็นข้อมูลการพิจารณาย้าย เปิดเผยได้หรือไม่ (ข้อมูลข่าวสารทางราชการ)

 บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี


     ข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบที่ใช้เป็นข้อมูลการพิจารณาย้าย เปิดเผยได้หรือไม่

           ในการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา หรือย้ายครูผู้สอน จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาย้ายโดยมีการกำหนดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการให้คะแนนไว้ในแต่ละองค์ประกอบ ผู้ที่ไม่ได้รับการพิจารณาย้ายทั้งที่มีตำแหน่งว่างตรงตามที่เขียนขอย้าย ย่อมมีความคับข้องใจและรู้สึกว่าเป็นการพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม จึงต้องการจะขอข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบที่ใช้พิจารณาย้ายของตนเอง กับของคนอื่นที่ได้รับการพิจารณาย้าย หน่วยงานราชการจะให้ได้หรือไม่ มีคำตอบ

            เรื่องนี้เกิดขึ้นกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาคนหนึ่งได้ยื่นคำร้องขอย้ายไว้แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ย้ายจึงยื่นคำร้องขอข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบทุกข้อที่มีการประเมินเป็นข้อมูลเกียวกับการพิจารณาย้ายของตนเองและของผู้ยื่นคำร้องขอย้ายคนอื่น แต่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแห่งนั้นได้ปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้นั้น จึงประเด็นว่าข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบทุกข้อที่มีการประเมินเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาย้ายเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้หรือไม่  

              โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๕๙ บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย หน่วยงานของรัฐ จึงต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครอง ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่จำต้องเปิดเผย คือ ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ จากข้อกฎหมายดังกล่าวจึงถือเป็นหลักที่ว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

                 ในเรื่องของข้อมูลข่าวสารราชการ มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งบัญญัติให้ราชการต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไว้แล้ว โดยกำหนดประเภท วิธีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไว้ แต่ก็บัญญัติให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ในบางประเภท เช่น ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๔ ที่ห้ามเปิดเผยโดยเด็ดขาด หรือข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนเกี่ยวข้องประกอบกัน มาตรา ๑๗ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใด เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งให้ผู้นั้นเสนอคำคัดค้านภายในเวลากำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และตามมาตรา ๒๔ หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เป็นต้น 

               แม้มาตรา ๒๕ ที่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ กำหนดให้บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน และเมื่อบุคคลนั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ซึ่งในการขอข้อมูลข่าวสารกับทางราชการ หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะปฎิเสธมิให้ข้อมูลข่าวสาร โดยมักอ้างเป็นข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๒๔  มาเป็นเหตุผลในการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ผู้นั้นยังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น โดยยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ

              ผู้บริหารสถานศึกษารายดังกล่าว ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามกำหนด ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาเห็นว่า “ ข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบทุกข้อที่มีการประเมินเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด พิจารณาจากผลการปฏิบัติงาน วิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ คุณวุฒิ การรักษาวินัย ความอาวุโส ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและนำมาให้คะแนน ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติที่การพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกประเมินรายอื่นที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติย้ายให้ผู้ร้องขอทราบนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ร้องขอแล้ว ยังจะแสดงให้เห็นถึงความถูกต้อง โปร่งใส ว่ามีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาหรือไม่ ดังนั้น ข้อมูลในส่วนของผลคะแนนของผู้ถูกประเมินรายที่ได้พิจารณาอนุมัติให้ย้ายจึงเปิดเผยให้ผู้ร้องขอทราบได้”(หนังสือคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๑๐๘/๔๙๗๖ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙...ที่มาบทความกฎหมายในหนังสือ วินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ โดยนางสาวบุณยวีร์ อดิศัยเดชรินทร์ นิติกรชำนาญการพิเศษ)



             คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้เป็นที่สุด ตามมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ และถือว่าเป็นการผูกพันเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐให้มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ครบถ้วนถูกต้องตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจะตัดทอนบางหน้าหรือบางข้อความไม่ได้ อีกทั้งต้องมีหน้าที่สำเนาซึ่งมีคำรับรองถูกต้องด้วย (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๘๙/๒๕๕๖ )

              แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด มีผลผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติตามเท่านั้น ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนหรือเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ร้องขอ ผู้นั้นจำต้องยื่นอุทธรณ์ และฟ้องคดีตามลำดับ เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารนั้น  

****************
ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/