วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

โกงเจ้าหนี้

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



            โกงเจ้าหนี้ เป็นความผิดทางอาญา แต่หลายคนคงไม่เข้าใจว่า เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้ต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เมื่อไม่ชำระหนี้ ก็เป็นเรื่องทางแพ่งที่เป็นปัญหาของเจ้าหนี้ที่จะต้องดำเนินคดีทางแพ่ง เมื่อชนะคดีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องดำเนินการสืบหาทรัพย์ของลูกหนี้เพื่อบังคับชำระหนี้ให้ได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แล้วจะมีความผิดทางอาญาในฐานโกงเจ้าหนี้ได้อย่างไร 

            เงื่อนไขที่จะทำให้ลูกหนี้มีความผิดอาญา ฐานโกงเจ้าหนี้ อยู่ตรงที่เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ ไม่ชำระหนี้ และลูกหนี้มีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ได้ เช่น มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ มีกรรมสิทธิ์ในที่บ้านและที่ดิน มีเงินในธนาคาร เป็นต้น  เมื่อลูกหนี้รู้ว่า เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องหรือจะใช้เรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ลูกหนี้ได้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดที่ตนมีกรรมสิทธิ์ดังกล่าว หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำดังกล่าวจึงเข้าองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

            ความผิดโกงเจ้าหนี้ จึงพิจารณาจากเจตนาของลูกหนี้ที่กระทำการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใด หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง โดยมีเจตนาเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้  แม้ความผิดโกงเจ้าหนี้จะเป็นความผิดอาญา แต่เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว สามารถตกลงยอมความกันได้ 

            ข้อเท็จจริงต้องได้ความว่าเป็นเจ้าหนี้ โดยมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อยู่ก่อน  เช่น เป็นหนี้ตามคำพิพากษา เป็นหนี้จากการกระทำละเมิด เป็นหนี้จากการผิดสัญญาที่ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้  เป็นหนี้จากการที่เป็นผู้จัดการมรดกเบียดเอาทรัพย์มรดกไว้ไม่แบ่งให้แก่ทายาท ฯ เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 10179/2557 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ..."
            เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้โดยมีจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมทราบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เมื่อโจทก์ติดตามยึดทรัพย์และยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่จำนองไว้แก่เจ้าหนี้อื่น จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปไถ่ถอนทรัพย์จำนองดังกล่าวและขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจงใจกำหนดราคาขายพอดีกับราคาไถ่ถอนจำนอง เพื่อไม่ให้มีเงินส่วนเกินจากราคาขายตกแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วน มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

advertisement



             คำพิพากษาศาลฎีกา 3140/2557 โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ฟ้องต่อศาลแพ่งว่าจำเลยกับพวกครอบครองเงินจากการขายที่ดินของกองมรดกที่จะต้องนำมาแบ่งแก่ทายาท แต่จำเลยเบียดบังไว้ไม่ยอมส่งมอบแก่กองมรดก ขอให้จำเลยกับพวกคืนเงินดังกล่าว ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นลูกหนี้จริงและให้จำเลยชำระเงิน 4,076,230.65 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีถึงที่สุด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้จริง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ธ. โอนขายหุ้นของจำเลยในบริษัทดังกล่าวแก่ ป. ก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาเพียง 1 เดือน จึงเป็นพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนซึ่งใช้สิทธิทางศาลแล้วได้รับชำระหนี้ อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

             คำพิพากษาศาลฎีกา 16070-16071/2555 ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว

               คำพิพากษาศาลฎีกา9202/2553 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 บังอาจจดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาซ่อนเร้นทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เพื่อให้พ้นไปเสียจากการที่โจทก์จะบังคับคดีเอากับทรัพย์ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีความหมายให้เข้าใจได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

            คำพิพากษาศาลฎีกา3973/2551การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนี้ จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้วขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่ เพียงใด เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350

advertisement


            คำพิพากษาศาลฎีกา8774/2550 ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

            คำพิพากษาศาลฎีกา 9076/2558 แม้ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น ว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า การกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้น เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้นแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) จึงเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
            ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
            คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 3,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยทราบตามกฎหมายแล้ว ระหว่างดำเนินการสืบหาทรัพย์เพื่อจะบังคับคดี โจทก์ทราบว่าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 27896 ไปขายให้แก่บุคคลภายนอก การกระทำของจำเลยเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนเองหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเป็นหนี้จำนวนใด อันไม่เป็นความจริงก็ดี โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่า จำเลยได้กระทำไปโดยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

            คำพิพากษาศาลฎีกา1698/2535 สภาพการเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างผู้ถูกละเมิดและผู้ต้องรับผิดจากมูลละเมิด เกิดขึ้นทันทีที่มีการทำละเมิดขึ้นคำพิพากษาของศาลในคดีแพ่งที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กันมิได้เป็นการก่อให้เกิดหนี้ แต่เป็นการบังคับตามความรับผิดแห่งหนี้ที่ได้มีต่อกัน ถือได้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์นับแต่ขณะที่ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้างทำให้โจทก์เสียหายแล้วและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ก็มิได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลให้รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญา เพียงแต่จำเลยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วได้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ก็เป็นความผิดแล้ว

             แม้ลูกหนี้จะได้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใด แต่ถ้าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้ ก็ไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

            คำพิพากษาศาลฎีกา680/2562 เหตุที่โจทก์ขอยึดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นเลขที่ 28/15 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดก็เพื่อบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้อง กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหนึ่งเท่านั้น แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นดังกล่าว โจทก์คงมีสิทธิได้ค่าเสียหายต่าง ๆ และต่อมาขอรับเงินไปเพียง 478,918.72 บาท ยังมีเงินเหลือที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 กว่า 600,000 บาท ดังนั้นในวันที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นอีกหลังหนึ่งเลขที่ 28/13 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพียงพอต่อการชำระค่าเสียหายพร้อมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งหมดแก่โจทก์อยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

advertisement



          

           ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อยู่ก่อน ถ้ายังไม่มีหนี้ต่อกันย่อมไม่มีความผิด เช่น 
          
           คำพิพากษาศาลฎีกา2893/2547ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ในเบื้องต้นต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ก่อน โดยโจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์อ้างสิทธิว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวจากจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องขับไล่โจทก์และ ด. กับพวก แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ด. มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวซึ่งเป็นส่วนของทรัพย์มรดกของ ด. ตกได้แก่โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินและตึกแถวนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินและตึกแถวที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างพี่น้องในส่วนของ ด. เป็นสิทธิในทรัพยสิทธิ มิใช่สิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้อันเป็นบุคคลสิทธิ สิทธิของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่อย่างไรย่อมไม่หมดไป เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แม้จำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ในราคาต่ำก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
        คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวนั้นให้จำเลยที่ 2 ไปในราคาต่ำและจำเลยที่ 1 นำไปจำนองไว้แก่ธนาคารก็เป็นเรื่องในทางแพ่งที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนที่ดินและตึกแถวดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ผู้โอนที่ดินและตึกแถวนั้นให้จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 350 ดังกล่าวด้วย

        ถ้าการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดนั้น กระทำกับเจ้าหนี้ที่ลูกหนี้นั้นเป็นหนี้อยู่ก่อน และไม่เป็นการสมยอมกันเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ก็ไม่มีความผิด เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา4183/2542 หลังจากจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยไปทำสัญญาขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยให้แก่ พ. ในภายหลังอีก เนื่องจากจำเลยและสามีจำเลยถูกธนาคารฟ้องให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้เงินกู้และธนาคารได้ขอบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยนำไปจำนองไว้เป็นประกันการกู้ยืมด้วยแม้ธนาคารจะฟ้องคดีหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วก็ตาม แต่หนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อธนาคารเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนและเป็นหนี้ที่มิได้เกิดจากการสมยอมระหว่างจำเลยกับธนาคาร ดังนั้น การที่จำเลยตกลงยินยอมให้ พ. เป็นผู้ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินต่อธนาคารแทนจำเลย และรับโอนที่ดินไปโดยมีข้อตกลงให้จำเลยซื้อที่ดินคืนกลับไปได้นั้นจึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องกระทำเพื่อมิให้ธนาคารผู้รับจำนองบังคับจำนองแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยถือไม่ได้ว่าจำเลยโอนขายทรัพย์สินของตนไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

        ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และลูกหนี้ได้รู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วย เช่น  

        คำพิพากษาศาลฎีกา184/2541 การโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น จะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และผู้กระทำก็ต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าจ้าง ว่าความแก่โจทก์ถึงกำหนดแล้วไม่ชำระ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1 หลบหน้า ต่อมาโจทก์จึงรู้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 2 และขายที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ อันเป็นการโอนโดยเจตนาทุจริต ประสงค์มิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งที่ตระหนักดีว่าโจทก์ ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอน เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มี ทรัพย์สินใดพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นคำฟ้องที่ มิได้ระบุว่าโจทก์ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำ ทั้งที่ตระหนักดีว่าโจทก์ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอนเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำไปทั้งที่คาดหมายว่าโจทก์ ฟ้องบังคับคดี ส่วนตัวโจทก์เองจะฟ้องร้องหรือไม่โจทก์ ไม่ได้กล่าวถึง คำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญ ไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

         คำพิพากษาศาลฎีกา1676/2557 การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอาแก่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
        คำพิพากษาศาลฎีกา2690/2535 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ได้โอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลย อันเป็นทรัพย์สินมูลค่า 28,000 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิทางศาลแล้วซึ่งครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 และเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) โจทก์ไม่จำต้องบรรยายข้อความที่มีความหมายอย่างเดียวกันซ้ำในฟ้องอีก


***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/


วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ทวงถามหนี้ ไม่ถูกต้อง มีโทษทางปกครองและทางอาญา


 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี

ทวงถามหนี้ ไม่ถูกต้อง

            เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้กับการทวงถามหนี้ของผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำเป็นทางการค้าปกติหรือปกติธุระของเจ้าหนี้ ไม่ว่าหนี้นั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และหมายรวมถึงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย ซึ่ง หนี้ในที่นี้คือ หนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้ว 

            สินเชื่อ หมายความว่า สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน  ผู้ให้สินเชื่อ หมายความว่า บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือ บุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด

            ลูกหนี้ หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย  กฎหมายฉบับนี้ จึงไม่ใช้บังคับกับลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล 

            ทวงถามหนี้ ไม่ถูกต้อง มีโทษทางปกครองและโทษทางอาญา โดยลักษณะที่เป็นความผิดที่โทษทางอาญาเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ตามกฎหมายฉบับนี้ มีดังนี้

            1.บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน  ฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรั

            2.ห้ามผู้ทวงหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เพื่อทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ระบุไว้ฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้การติดต่อกับบุคคลอื่น ทำได้เพื่อสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อทวงถามหนี้เท่านั้น และห้ามแจ้งถึงความเป็นลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ และห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้ ฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกัน

advertisement


            3.ห้ามผู้ทวงถามหนี้ กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะ

              (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์ของลูกหนี้ หรือผู้อื่น ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              (2) ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ หรือผู้อื่น  หรือการแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ หรือการติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อใหทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่การบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในการติดต่อลูกหนี้ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ ไม่ได้สือให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (ยกเว้นการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล) ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

           4. ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความใจผิด ดังนี้
               (1) การแสดงหรือใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               (2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย หรือการแสดงหรือมีข้อความทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดอายัดทรัพย์ หรือเงินเดือน หรือ การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

            5.ห้ามผู้ทวงถามหนี้ กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม ดังนี้ คือ การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

            6.ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการดังต่อไปนี้
                (1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
                (2) ทวงถามหนี้ หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย 
            ฝ่าฝืนข้อนี้ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

advertisement



            ทวงถามหนี้ ไม่ถูกต้อง มีโทษทางปกครองด้วย นั่นคือ การถูกสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือการให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ทวงถามหนี้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อาจถูกลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยลักษณะการกระทำฝ่าฝืน คือ
            -ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ แล้วไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ หรือติดต่อหรอแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือ
            -บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ หรือปฏิบัติการทวงหนี้ไม่ถูกต้องตามมาตรา 9 เช่น ให้ติดต่อตามสถานที่ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ที่ได้แจ้งไว้ กรณีไม่ได้แจ้งไว้ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว  เวลาในการติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ในวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.หรือ
            -ติดต่อเกินจำนวนครั้งที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด หรือ
            -กรณีมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้หรือมอบอำนาจช่วง  ให้แจ้งชื่อตัวและชื่อสกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้   ถ้าเป็นการทวงถามต่อหน้าให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย หรือ
            -เมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ทวงถามแล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ด้วย หรือ
            -เป็นการทาวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการฯกำหนด หรือ 
            -เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

           เมื่อลูกหนี้หรือบุคคลอื่น ได้รับการปฏิบัติจากผู้ทวงถามหนี้ที่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ให้ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นนั้น มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัด ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอัยการจังหวัด ผู้บัญชามณฑลทหารบกในพื้นที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด คลังจังหวัด ประธานสถาทนายความจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มคร้องผู้บริโภคซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นกรรมการ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ  ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้แทนสภาทนายความ และผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งเป็นกรรมการ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ  มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน  สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ 

advertisement



            โดยให้ที่ทำการปกครองจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดและคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ในการเป็นสำนักทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้ หรือกำกับการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ฯ  

            ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ให้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจเป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ได้ด้วย และให้หัวหน้าหน่วยงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารเพื่อส่งเรื่องต่อไปยังที่ทำการปกครองจังหวัด หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วแต่กรณี 

           กรณีที่คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัด หรือประจำกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มีคำสั่งลงโทษผู้ทวงถามหนี้ที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นคำสั่งปรับทางปกครอง ผู้ทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับต่อคณะกรรมการได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และคณะกรรมการฯ ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด 

           เมื่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือกรุงเทพมหมานคร มีคำสั่งปรับทางปกครองแล้ว ไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครอง จะมีการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทาปกครอง และถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการบังคับตามคำสั่งหรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการบังคับทางปกครองได้ คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัดหรือประจำกรุงเทพมหานคร แล้วกรณี มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อบังคับชำระค่าปรับต่อไป และถ้าศาลเห็นว่าคำสั่งให้ชำระค่าปรับนั้นชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและบังคับให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าปรับได้ 

           คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือประจำกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบการทวงถามหนี้ได้ เมื่อปรากฎว่าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เคยถูกลงโทษปรับทางปกครองและถูกลงโทษซ้ำอีกจากการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน หรือ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ โดยผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนต่อคณะกรรมการฯ ได้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และคณะกรรมการฯ ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

            กรณีผู้ทวงถามหนี้ กระทำการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ ที่มีโทษจำคุกจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเป็นการกระทำฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบคดีได้ เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

            แต่ถ้าเป็นการกระทำฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ ที่มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่สามารถทำการเปรียบเทียบคดีได้ ต้องดำเนินคดีต่อไปในชั้นศาล ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความกันได้ 

            ที่นำเสนอเป็นเนื้อหาโดยสรุปของพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ ที่ลูกหนี้รวมถึงบุคคลที่ค้ำประกันลูกหนี้ หากถูกทวงถามหนี้ที่มีลักษณะที่ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ ก็สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัดหรือประจำกรุงเทพมหานคร โดยจะร้องเรียนที่ทำการปกครองจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจเป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ในเขตพื้นที่ที่มีการทวงถามหนี้โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้  


วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

การกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


        การกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ที่จะนำเสนอในบทความนี้ จะนำเสนอเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ซึ่งพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที 2 ได้ยกเลิกมาตรา 14 ที่บัญญัติไว้เดิม แก้ไขใหม่ เป็น

        “มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
         (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา 
        (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 
        (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา 
        (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
        (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) 
        ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้" 

        การกระทำความผิดตามมาตรา 14(1) ต้องมีเจตนาทุจริต คือ มีเจตนาแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือเป็นการหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงของข้อมูลนั้นว่าบิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา  ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดทางอาญา รวมถึงผู้ที่เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยผู้เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลนั้นรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม หรือเป็นเท็จ ถ้าเป็นกระทำต่อประชาชน เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินยอมความไม่ได้ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไมเกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
        
        แต่ถ้าความผิดตามมาตรา 14(1) กระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดที่ยอมความกันได้ รวมทั้งผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวด้วย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

advertisement



        คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นแนวทางในการพิจารณา เช่น 

    
    คำพิพากษาศาลฎีกา6794/2561ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยดูหมิ่นซึ่งหน้าด้วยการพิมพ์ข้อความ "สรุป...ทริป "พาไปขำ" ...นะคะ..." ...ลงในโปรแกรมไลน์ อันเป็นการใส่ความโจทก์ซึ่งหน้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องอับอาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ถูกเหยียดหยาม ...การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ต่อสมาชิกในกลุ่มซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่เห็นข้อความของจำเลยก็ย่อมจะเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี เป็นคนชั่ว... ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 391 (ที่ถูก 393) เห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
        คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียวในประเด็นความผิดที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานหมิ่นประมาท และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 หรือไม่ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน เมื่อโจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยมิได้ยืนยันว่าข้อความตามคำฟ้องมีข้อความใดบ้างที่เป็นเท็จ และที่ถูกต้องตามความจริงแล้วเป็นเช่นไร เมื่อพิจารณาข้อความตามคำฟ้องแล้วมีลักษณะเชิงเปรียบเทียบ และข้อความบางตอนกล่าวในทำนองเสียดสี ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ หรือเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อคดีฟังได้เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
        คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) หรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา..." ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน แต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ   พิพากษายืน

advertisement



        การกระทำความผิดตามมาตรา 14(2) ผู้กระทำต้องรู้เท็จจริงว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน รวมถึงผู้ที่เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยผู้เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลนั้นรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  

        การกระทำความผิดตามมาตรา 14 (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลอันลามกนั้น คำว่า "ลามก" พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า "ว. หยาบช้าต่ำทราม หยาบโลน อันเป็นที่น่ารังเกียจของคนดีมีศีลธรรม เช่น หนังสือลามก พูดลามก ทำลามก. (ป.)." ดังนั้น การนำเข้าซึ่งภาพลามก ภาพอนาจาร สื่อลามกอนาจาร ภาพโป๊ ภาพการกระทำทางเพศ ภาพการร่วมเพศ หรือเผยแพร่ ส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้  ก็มีความผิดทางอาญาที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ โทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ  

        แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับสิ่งลามก เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 3278/2554 การที่จำเลยส่งเอกสารที่มีข้อความประณามว่าโจทก์ร่วมมีชู้และพฤติกรรมทางเพศของโจทก์ร่วม ภาพถ่ายเปลือยกายของโจทก์ร่วม ภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงการร่วมเพศของโจทก์ร่วมกับจำเลยอันเป็นสิ่งลามกทางไปรษณีย์ไปยังราษฎรในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าเป็นการทำให้แพร่หลายโดยมีเจตนาเพื่อการแจกจ่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งลามก แม้ราษฎรในหมู่บ้านที่เกิดเหตุได้รับเอกสาร รวมทั้งภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงจะไม่ได้อ่านเอกสารหรือดูภาพถ่ายหรือฟังแถบบันทึกเสียง ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในความผิดฐานทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งลามกตาม ป.อ. มาตรา 287 (1)

        นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ตามมาตรา 14 ใหม่ ดังนี้ 
        "มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด ตามมาตรา 14 ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้อง รับโทษ"

        พระราชบัญญัติที่แก้ไขฉบับที่ 2 นี้ ยังมีการยกเลิกมาตรา 16 เดิม และแก้ไขใหม่ เป็น   
        มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 
        “มาตรา 16 ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท 
          ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย และการกระทํานั้นน่าจะทําให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง 
          ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริตอันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ผ้กระทำไม่มีความผิด                 ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”

        มาตรา 16 ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ปรากฎเป็นภาพของผู้อื่นโดยเป็นภาพที่สร้างขึ้น ตัดต่อ หรือดัดแปลง ที่ประชาชนอาจเข้าถึงได้  โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่ยอมความกันได้ และถ้าเป็นภาพของผู้ตาย ที่น่าจะทําให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

advertisement



         แนวคำพิพากศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว  เช่น

         คำพิพากษาศาลฏีกา2778/2561 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า " (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน " โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า " (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา " กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

        คำพิพากษาศาลฏีกา1188/2561โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
        จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์

        

การเรียกดอกเบี้ย ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี

การเรียกดอกเบี้ย


               เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ คือมีผลในวันที่ 11 เมษายน 2564 เนื้อหา เป็นการแก้ไข โดยยกเลิกมาตรา 7 มาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เดิม และมีการเพิ่มเติม มาตรา 224/1 เข้าไปใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยที่นิติกรรมหรือกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง  กับอัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดย  

                มาตรา 7 นั้นบัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี " หมายถึง ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่กันโดยในนิติกรรมต่างๆที่ตกลงทำต่อกัน ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง เมื่อเกิดข้อพิพาทเป็นคดีขึ้น ศาลจะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี  จากเดิมที่ถืออัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี 

                อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยกระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุก 3 ปี เพื่อให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์   

                มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คิดดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เช่น ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินกำหนดไว้ในการผิดนัด เป็นต้น   

                ในส่วนที่เพิ่มเติมใหม่ คือ มาตรา 224/1 ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น  ถ้าในนิติกรรมที่ทำกันไว้ตกลงไว้ขัดกับความในข้อนี้ ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ  ฉะนั้น ผิดนัดงวดใด คิดดอกเบี้ยผิดนัดเฉพาะงวดนั้น โดยใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนั้นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี  ไม่ใช่คิดจากต้นเงินที่คงค้างทั้งหมด

                แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการเรียกดอกเบี้ยตามมาตรา 7 และมาตรา 224  เดิมที่พอจะเป็นแนวทางในการใช้ เช่น  

               คำพิพากษาศาลฎีกา3874/2560 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224

advertisement

            

                ถ้าเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินกันโดยทำสัญญากู้ยืมเงินกัน ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี  ถือว่าเป็นนิติกรรมที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดแจ้ง และไม่ขัดกับ มาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี " ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 จึงบังคับกันได้  ไม่ต้องถืออัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามมาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่   

                ในเรื่องการกู้ยืมเงิน การคิดดอกเบี้ยห้ามเกินจากที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะตกเป็นโมฆะ บังคับกันไม่ได้ในส่วนของดอกเบี้ยในทางแพ่งแล้ว  ยังมีความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย โดย

                พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เนื้อหามีรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้  
               " มาตรา 4  บัญญัติว่า  บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพราง การให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
                (1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้
                (2) กําหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจํานวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืม หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนด หรือ
                (3) กําหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของ หรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน 
                มาตรา 5 บัญญัติว่า บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องจากบุคคลอื่นโดยรู้ว่าเป็นสิทธิที่ได้มาจาก การกระทําความผิดตามมาตรา 4 และใช้สิทธินั้นหรือพยายามถือเอาประโยชน์แห่งสิทธินั้น ต้องระวางโทษ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4
                มาตรา 6 บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะมีคําขอหรือไม่ ศาลอาจนําวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 (3) และ (5) แห่งประมวล กฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม "

advertisement



                พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จึงใช้บังคับกับการให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพราง การให้กู้ยืมเงิน  และมีการเรียกดอกเบี้ย หรือจะเอาหรือรับเอาประโยชน์อื่นนอกจากดอกเบี้ย เกินอัตราที่กำหนด เช่น

                  การกู้ยืมเงินกันแล้ว ในสัญญาที่ทำกันไว้คิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อเกิดเป็นข้อพิพาททางคดีสู่ศาล  ในคดีแพ่งที่เจ้าหนี้ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าว  ในส่วนดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวไม่สามารถนำมาคิดคำนวณรวมกับต้นเงินเพื่อฟ้องคดีได้ ศาลจะพิจารณาว่า ในส่วนดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ตกเป็นโมฆะ เพราะในส่วนดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ซึ่งลูกหนี้ ถ้าสามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญา เอาผิดเจ้าหนี้ ในฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากที่กฎหมายกำหนด ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เช่น  

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2562 พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) บัญญัติให้การให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดยังคงเป็นความผิด เพียงแต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฉบับใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว เพียงแต่กฎหมายใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม กรณีมิใช่การยกเลิกการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้อ้างกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องมาด้วย จึงถือว่าเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6)

               

                

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง และทางอาญา

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

            เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ได้มีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ประกาศลงในราชกิจจานุกเบกษา มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบิกษาเป็นต้นไป เนื้อหาเป็นเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง  การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เหตุผลในการประกาศใช้ คือ ปัจจุบันข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เห็นควรให้นำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนักและข้อพิพาททางอาญาบางประเภทมากำหนดเป็นกฎหมายกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ พนักงานสอบสวน หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม ลดงบประมาณแผ่นดิน และเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข 

            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง  ข้อพิพาทที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ คือ ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์  ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก  ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤกษฎีกา ข้อพิพาทอื่นนอกจากที่กล่าวที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ถ้าข้อพิพาทนั้นเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันได้  

            วิธีการ คือ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานซึ่งดำเนินงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เมื่อหน่วยงานฯ สอบถามความสมัครใจของคู่กรณีอีกฝ่ายแล้ว อีกฝ่ายสมัครใจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามคำร้องของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องตกลงแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยคนหนึ่งหรือหลายคนจากบัญชีผู้ไกล่เกลี่ยที่หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจัดทำไว้  การแต่งตั้งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คู่กรณีมีสิทธิเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันได้โดยอิสระ โดยข้อตกลงต้องไม่เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาจอนุญาตให้ทนายความหรือที่ปรึกษาของคู่กรณีหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ คู่กรณีมีสิทธิถอนตัวจากการไกล่เกลี่ยโดยทำเป็นหนังสือแจ้งต่อผู้ไกล่เกลี่ย 

            เมื่อคู่กรณีได้มีข้อตกลงเป็นประการใดแล้ว ให้ผู้ไกล่เกลี่ยบันทึกข้อตกลงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  และกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะสิ้นสุดลงในกรณี คือ คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทกันได้  หรือคู่กรณีถอนตัวจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามมาตรา 27 หรือผู้ไกล่เกลี่ยเห็นว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์และให้ยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 

            เมื่อตกลงระงับข้อพิพาทกันได้แล้ว คู่กรณีก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้น เมื่อคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพาท ฝ่ายที่เรียกร้องอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลยุติธรรมที่มีการทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทในเขตศาลนั้น หรือศาลยุติธรรมที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งมีการไกล่เกลี่ยนั้น  เพื่อให้บังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทได้  การร้องขอต้องกระทำภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทได้ ถ้าไม่ได้ร้องขอ ให้มูลหนี้ตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้น ระงับไป

            ศาลมีคำบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท เว้นแต่
            (1) คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถที่จะเข้าทำข้อตกลงระงับข้อพิพาท                (2) มูลเหตุแห่งข้อพิพาทหรือข้อตกลงระงับข้อพิพาทมีลักษณะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 
            (3) ข้อตกลงระงับข้อพิพาทเกิดจากกลฉ้อฉล บังคับ ขู่เข็ญ หรือกระทำการโดยมิชอบด้วยประการใดๆ 
            (4) มีเหตุเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยตามมาตรา 24 ที่มีผลต่อการทำบันทึกข้อตกลงอย่างมีนัยสำคัญ 
            ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งตามเหตุข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อดังกล่าว ต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งศาล เว้นแต่
           (1) ศาลมีคำสั่งไม่บังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท
           (2) ศาลมีคำสั่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท
           (3) ศาลมีคำสั่งบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทโดยฝ่าฝืนเหตุตามข้อดังกล่าว โดยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
   

            กล่าวโดยสรุปคือ เป็นข้อพิพาททางแพ่งที่เข้าเงื่อนไขที่จะทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันได้  คู่กรณีสมัครใจและประสงค์ทำการไกล่เกลี่ย เมื่อไกล่เกลี่ยได้ ทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร และปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง คู่กรณีอีกฝ่ายร้องขอให้ศาลบังคับตามข้อตกลงนั้นได้  

advertisement


      

            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา กระทำได้ในกรณีเป็นความผิดอันยอมความได้ หรือเป็นความผิดลหุโทษตามมาตรา 390(ประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) มาตรา 391(ใช้กำลังทำร้าย โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) มาตรา 392 (ทำให้ความกลัว ความตกใจ โดยการขุู่เข็ญ) มาตรา 393 (ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา) มาตรา 394 (ไล่ ต้อนหรือทำให้สัตว์ใดๆ เข้าไปในสวน ไร่ หรือนา ที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธ์ุไว้ หรือมีพืชพันธุ์ หรือผลิตผลอยู่) มาตรา 395(ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เข้าสวนไร่หรือนาผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธ์ุไว้ หรือมีพืชพันธุ์ หรือผลิตผลอยู่) และมาตรา 397 (กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพะราชกฤษฎีกา  ซึ่งเมื่อคู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันแล้ว ให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเฉพาะคู่กรณีซึ่งทำข้อตกลงดังกล่าว     

           หากคดีอยู่ในระหว่างการสอบสวน หรือพิจารณาคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลให้หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนแจ้งให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล ทราบ ซึ่งอาจรอการสอบสวน การสั่งคดี การพิจารณาคดีหรือการพิพากษาคดีไว้ก่อนจนกว่าจะรู้ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็ได้ และเมื่อคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันได้ ให้แจ้งผลและส่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลทราบ  กรณีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่เป็นผล จะมีการดำเนินคดีอาญาต่อไป

            กรณีคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาททางอาญา หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเมื่อคู่กรณีได้ปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทในส่วนแพ่งแล้ว กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทในส่วนแพ่ง  อีกฝ่ายดำเนินการขอให้ศาลบังคับตามข้อตกลงนั้นได้  

            กล่าวโดยสรุปคือ เป็นข้อพิพาททางอาญา ที่เป็นคดีในความผิดตามกฎหมายตามเงื่อนไขที่กำหนด หน่วยงานดำเนินการไกล่เกลี่ย หากผู้เสียหายและผู้ต้องหา ซึ่งเป็นคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันได้ ให้ทำบันทีกข้อตกลง แล้วแจ้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลทราบ ขึ้นอยู่ว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนใด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ต่อเมื่อมีการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ไกล่เกี่ยกันแล้วครบถ้วน ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จะมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 

advertisement



            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวน ทำได้ใน คดีความผิดอันยอมความได้ คดีความผิดลหุโทษตามมาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 393 มาตรา 394 มาตรา 395 และมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพะราชกฤษฎีกา  ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีตามบัญชีทายพระราชบัญญัติ คือ ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีผู้ถึงแก่ความตายจากการชุลมุนต่อสู้นั้นตามมาตรา 294 วรรคหนึ่ง  ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยมีเหตุฉกรรณ์ ตามมาตรา 296 ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสจากการชุลมุนต่อสู้นั้น ตามมาตรา 299 นั้น  ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 300 ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334  การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป 

            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนจัดให้คู่กรณีในคดีอาญามีโอกาสเจรจาตกลงหรือเยียวยาความเสียหายเพื่อระงับคดีอาญา คู่กรณีคือ ผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา แต่ไม่รวมคดีอาญาที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหาย โดยผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดหรือฝืนความประสงค์ของผู้เสียหาย 

            เมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมัครใจและประสงค์เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา และคดีนั้นมิได้อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ให้คู่กรณียื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยฯต่อพนักงานสอบสวน และให้พนักงานสอบสวนเสนอความเห็น หากพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งเห็นว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดไม่ร้ายแรงและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยรวม ให้พิจารณาออกคำสั่งให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา 

            ให้พนักงานสอบสวนกำหนดนัดไกล่เกลี่ยฯครั้งแรกภายใน 7 วันนับแต่วันแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย และกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่กำหนดนัดไกล่เกลี่ยครั้งแรก เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าคู่กรณีสามารถตกลงกันได้ อาจดำเนินการต่อไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน โดยให้บันทึกเหตุดังกล่าวไว้ คู่กรณีต้องเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยด้วยตนเองและมีสิทธิให้ผู้ซึ่งตนไว้ววางใจไม่เกินสองคนเข้าฟังการไกล่เกลี่ยได้ ถ้าคู่กรณีซึ่งเป็นผู้ต้องหาเป็นผู้เยาว์ ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยฯด้วย การไกล่เกลี่ยให้ทำเป็นการลับ ในการไกล่เกลี่ย คู่กรณีมีสิทธิเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันได้โดยอิสระ ทั้งนี้ ข้อตกลงนั้นต้องไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ข้อตกลงต้องไม่ขัดหรือฝืนความประสงค์ของผู้เยาว์ด้วย เมื่อได้มีข้อตกลงเป็นประการใด ให้บันทึกข้อตกลงหรือจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้คู่กรณีและผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อไว้แล้วส่งบันทึกข้อตกลงไปยังพนักงานสอบสวน โดยมีสาระสำคัญ เช่น การชดใช้เยียวยาความเสียหาย เงื่อนไขที่คู่กรณีต้องปฏิบัติหรืองดเว้นปฏิบัติและระยะเวลาดำเนินการ หรือข้อตกลงไม่ติดใจที่จะรับการชดใช้เยียวยาความเสียหาย 

            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวนจะยุติเมื่อ คู่กรณีคนใดคนหนึ่งถอนตัวเพื่อยุติการไกล่เกลี่ย เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด คือ
            (1) คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาโดยไม่แจ้งหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา
            (2) มีเหตุอันควรสงสัยว่าความตกลงนั้นมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ
            (3) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาไม่อาจบรรลุผลได้โดยแท้
            (4) เห็นได้ชัดว่าการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาต่อไปจะเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นผู้เยาว์
            (5) คู่กรณีไม่สามารถเจรจาเพื่อตกลงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้  หรือเมื่อความปรากฎต่อผู้ไกล่เกลี่ยว่าผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลไม่ว่าก่อนการสอบสวนหรือระหว่างการสอบสวน หรือปรากฎแก่ผู้ไกล่เกลี่ยว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ 
            กรณีคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหมายบท หากความผิดต่อกฎหมายซึ่งเป็นบทหนักที่สุดสามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ ให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดบทอื่นระงับไปด้วย แต่หากความผิดที่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ เป็นความผิดที่มีโทษบทเบากว่าหรือเบาที่สุด ไม่เป็นเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดที่มีโทษหนักกว่า หรือหนักที่สุดระงับไป

            เมื่อคู่กรณีได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง ให้แจ้งพนักงานสอบสวน จัดทำบันทึกการปฏิบัติตามข้อตกลง ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมสำนวนสอบสวนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาสั่งยุติคดี ในกรณีที่มีการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงไม่ครบถ้วน ผู้มีอำนาจออกคำสั่งพิจารณามีคำสั่งดำเนินคดีต่อไป เว้นแต่ผู้เสียหายพอใจในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่ได้กระทำไปแล้ว  หรือ ความปรากฎแก่พนักงานสอบสวนว่าคู่กรณีที่เป็นผู้ต้องหาจงใจไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยไม่เหตุอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งมีคำสั่งดำเนินคดีต่อไป 

            เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งยุติคดี สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ กรณีที่มีผู้เสียหายหลายคน หากผู้เสียหายคนหนึ่งคนใดไม่สามารถทำข้อตกลงกับผู้ต้องหาได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของผู้เสียหายดังกล่าวยังไม่ระงับ 

            กล่าวโดยสรุปคือ เป็นคดีอาญาที่มีความผิดตามเงื่อนไขที่กำหนด และเป็นคดีที่ไม่ได้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล แต่อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คู่กรณี คือผู้เสียหายและผู้ต้องหา สมัครใจและประสงค์จะทำการไกล่เกลี่ยโดยยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งเห็นว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดไม่ร้ายแรงและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยรวม จะพิจารณาออกคำสั่งให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาได้ แต่ก็ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป  เมื่อคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทกันได้จะทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท และเมื่อมีการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงครบถ้วน ให้แจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อจัดทำบันทึกการปฏิบัติตามข้อตกลง ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมสำนวนการสอบสวน เพื่อพิจารณาว่า จะสั่งยุติคดีหรือไม่ หากพนักงานอัยการมีคำสั่งให้ยุติคดี จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป แต่หากพนักงานอัยการเห็นควรให้ดำเนินคดีต่อไป ก็ต้องดำเนินคดีต่อไป 

advertisement



            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ย  ในกรณี 
            (1) ข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าแสนบาท หรือไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
            (2) ข้อพิพาททางแพ่งอื่นนอกจาก(1) ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฏีกา
            (3) ข้อพิพาททางอาญาตามมาตรา 35 คือ 
เป็นความผิดอันยอมความได้ หรือเป็นความผิดลหุโทษตามมาตรา 390(ประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) มาตรา 391(ใช้กำลังทำร้าย โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) มาตรา 392 (ทำให้ความกลัว ความตกใจ โดยการขุู่เข็ญ) มาตรา 393 (ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา) มาตรา 394 (ไล่ ต้อนหรือทำให้สัตว์ใดๆ เข้าไปในสวน ไร่ หรือนา ที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธ์ุไว้ หรือมีพืชพันธุ์ หรือผลิตผลอยู่) มาตรา 395(ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เข้าสวนไร่หรือนาผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธ์ุไว้ หรือมีพืชพันธุ์ หรือผลิตผลอยู่) และมาตรา 397 (กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพะราชกฤษฎีก

             โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้  กรณีเห็นว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนในเรื่องใดได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และออกหนังสือรับรองแล้ว ให้ข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้นบังคับกันได้ หรือให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามพระราชบัญญัตินี้