วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

โกงเจ้าหนี้

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



            โกงเจ้าหนี้ เป็นความผิดทางอาญา แต่หลายคนคงไม่เข้าใจว่า เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้ต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เมื่อไม่ชำระหนี้ ก็เป็นเรื่องทางแพ่งที่เป็นปัญหาของเจ้าหนี้ที่จะต้องดำเนินคดีทางแพ่ง เมื่อชนะคดีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องดำเนินการสืบหาทรัพย์ของลูกหนี้เพื่อบังคับชำระหนี้ให้ได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แล้วจะมีความผิดทางอาญาในฐานโกงเจ้าหนี้ได้อย่างไร 

            เงื่อนไขที่จะทำให้ลูกหนี้มีความผิดอาญา ฐานโกงเจ้าหนี้ อยู่ตรงที่เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ ไม่ชำระหนี้ และลูกหนี้มีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ได้ เช่น มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ มีกรรมสิทธิ์ในที่บ้านและที่ดิน มีเงินในธนาคาร เป็นต้น  เมื่อลูกหนี้รู้ว่า เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องหรือจะใช้เรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ลูกหนี้ได้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดที่ตนมีกรรมสิทธิ์ดังกล่าว หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำดังกล่าวจึงเข้าองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

            ความผิดโกงเจ้าหนี้ จึงพิจารณาจากเจตนาของลูกหนี้ที่กระทำการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใด หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง โดยมีเจตนาเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้  แม้ความผิดโกงเจ้าหนี้จะเป็นความผิดอาญา แต่เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว สามารถตกลงยอมความกันได้ 

            ข้อเท็จจริงต้องได้ความว่าเป็นเจ้าหนี้ โดยมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อยู่ก่อน  เช่น เป็นหนี้ตามคำพิพากษา เป็นหนี้จากการกระทำละเมิด เป็นหนี้จากการผิดสัญญาที่ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้  เป็นหนี้จากการที่เป็นผู้จัดการมรดกเบียดเอาทรัพย์มรดกไว้ไม่แบ่งให้แก่ทายาท ฯ เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 10179/2557 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ..."
            เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้โดยมีจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมทราบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เมื่อโจทก์ติดตามยึดทรัพย์และยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่จำนองไว้แก่เจ้าหนี้อื่น จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปไถ่ถอนทรัพย์จำนองดังกล่าวและขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจงใจกำหนดราคาขายพอดีกับราคาไถ่ถอนจำนอง เพื่อไม่ให้มีเงินส่วนเกินจากราคาขายตกแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วน มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

advertisement



             คำพิพากษาศาลฎีกา 3140/2557 โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ฟ้องต่อศาลแพ่งว่าจำเลยกับพวกครอบครองเงินจากการขายที่ดินของกองมรดกที่จะต้องนำมาแบ่งแก่ทายาท แต่จำเลยเบียดบังไว้ไม่ยอมส่งมอบแก่กองมรดก ขอให้จำเลยกับพวกคืนเงินดังกล่าว ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นลูกหนี้จริงและให้จำเลยชำระเงิน 4,076,230.65 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีถึงที่สุด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้จริง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ธ. โอนขายหุ้นของจำเลยในบริษัทดังกล่าวแก่ ป. ก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาเพียง 1 เดือน จึงเป็นพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนซึ่งใช้สิทธิทางศาลแล้วได้รับชำระหนี้ อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

             คำพิพากษาศาลฎีกา 16070-16071/2555 ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว

               คำพิพากษาศาลฎีกา9202/2553 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 บังอาจจดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาซ่อนเร้นทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เพื่อให้พ้นไปเสียจากการที่โจทก์จะบังคับคดีเอากับทรัพย์ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีความหมายให้เข้าใจได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

            คำพิพากษาศาลฎีกา3973/2551การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนี้ จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้วขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่ เพียงใด เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350

advertisement


            คำพิพากษาศาลฎีกา8774/2550 ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

            คำพิพากษาศาลฎีกา 9076/2558 แม้ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น ว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า การกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้น เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้นแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) จึงเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
            ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
            คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 3,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยทราบตามกฎหมายแล้ว ระหว่างดำเนินการสืบหาทรัพย์เพื่อจะบังคับคดี โจทก์ทราบว่าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 27896 ไปขายให้แก่บุคคลภายนอก การกระทำของจำเลยเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนเองหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเป็นหนี้จำนวนใด อันไม่เป็นความจริงก็ดี โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่า จำเลยได้กระทำไปโดยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

            คำพิพากษาศาลฎีกา1698/2535 สภาพการเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างผู้ถูกละเมิดและผู้ต้องรับผิดจากมูลละเมิด เกิดขึ้นทันทีที่มีการทำละเมิดขึ้นคำพิพากษาของศาลในคดีแพ่งที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กันมิได้เป็นการก่อให้เกิดหนี้ แต่เป็นการบังคับตามความรับผิดแห่งหนี้ที่ได้มีต่อกัน ถือได้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์นับแต่ขณะที่ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้างทำให้โจทก์เสียหายแล้วและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ก็มิได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลให้รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญา เพียงแต่จำเลยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วได้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ก็เป็นความผิดแล้ว

             แม้ลูกหนี้จะได้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใด แต่ถ้าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้ ก็ไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

            คำพิพากษาศาลฎีกา680/2562 เหตุที่โจทก์ขอยึดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นเลขที่ 28/15 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดก็เพื่อบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้อง กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหนึ่งเท่านั้น แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นดังกล่าว โจทก์คงมีสิทธิได้ค่าเสียหายต่าง ๆ และต่อมาขอรับเงินไปเพียง 478,918.72 บาท ยังมีเงินเหลือที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 กว่า 600,000 บาท ดังนั้นในวันที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นอีกหลังหนึ่งเลขที่ 28/13 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพียงพอต่อการชำระค่าเสียหายพร้อมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งหมดแก่โจทก์อยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

advertisement



          

           ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อยู่ก่อน ถ้ายังไม่มีหนี้ต่อกันย่อมไม่มีความผิด เช่น 
          
           คำพิพากษาศาลฎีกา2893/2547ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ในเบื้องต้นต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ก่อน โดยโจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์อ้างสิทธิว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวจากจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องขับไล่โจทก์และ ด. กับพวก แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ด. มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวซึ่งเป็นส่วนของทรัพย์มรดกของ ด. ตกได้แก่โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินและตึกแถวนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินและตึกแถวที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างพี่น้องในส่วนของ ด. เป็นสิทธิในทรัพยสิทธิ มิใช่สิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้อันเป็นบุคคลสิทธิ สิทธิของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่อย่างไรย่อมไม่หมดไป เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แม้จำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ในราคาต่ำก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
        คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวนั้นให้จำเลยที่ 2 ไปในราคาต่ำและจำเลยที่ 1 นำไปจำนองไว้แก่ธนาคารก็เป็นเรื่องในทางแพ่งที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนที่ดินและตึกแถวดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ผู้โอนที่ดินและตึกแถวนั้นให้จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 350 ดังกล่าวด้วย

        ถ้าการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดนั้น กระทำกับเจ้าหนี้ที่ลูกหนี้นั้นเป็นหนี้อยู่ก่อน และไม่เป็นการสมยอมกันเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ก็ไม่มีความผิด เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา4183/2542 หลังจากจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยไปทำสัญญาขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยให้แก่ พ. ในภายหลังอีก เนื่องจากจำเลยและสามีจำเลยถูกธนาคารฟ้องให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้เงินกู้และธนาคารได้ขอบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยนำไปจำนองไว้เป็นประกันการกู้ยืมด้วยแม้ธนาคารจะฟ้องคดีหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วก็ตาม แต่หนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อธนาคารเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนและเป็นหนี้ที่มิได้เกิดจากการสมยอมระหว่างจำเลยกับธนาคาร ดังนั้น การที่จำเลยตกลงยินยอมให้ พ. เป็นผู้ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินต่อธนาคารแทนจำเลย และรับโอนที่ดินไปโดยมีข้อตกลงให้จำเลยซื้อที่ดินคืนกลับไปได้นั้นจึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องกระทำเพื่อมิให้ธนาคารผู้รับจำนองบังคับจำนองแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยถือไม่ได้ว่าจำเลยโอนขายทรัพย์สินของตนไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

        ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และลูกหนี้ได้รู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วย เช่น  

        คำพิพากษาศาลฎีกา184/2541 การโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น จะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และผู้กระทำก็ต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าจ้าง ว่าความแก่โจทก์ถึงกำหนดแล้วไม่ชำระ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1 หลบหน้า ต่อมาโจทก์จึงรู้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 2 และขายที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ อันเป็นการโอนโดยเจตนาทุจริต ประสงค์มิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งที่ตระหนักดีว่าโจทก์ ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอน เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มี ทรัพย์สินใดพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นคำฟ้องที่ มิได้ระบุว่าโจทก์ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำ ทั้งที่ตระหนักดีว่าโจทก์ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอนเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำไปทั้งที่คาดหมายว่าโจทก์ ฟ้องบังคับคดี ส่วนตัวโจทก์เองจะฟ้องร้องหรือไม่โจทก์ ไม่ได้กล่าวถึง คำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญ ไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

         คำพิพากษาศาลฎีกา1676/2557 การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอาแก่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
        คำพิพากษาศาลฎีกา2690/2535 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ได้โอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลย อันเป็นทรัพย์สินมูลค่า 28,000 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิทางศาลแล้วซึ่งครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 และเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) โจทก์ไม่จำต้องบรรยายข้อความที่มีความหมายอย่างเดียวกันซ้ำในฟ้องอีก


***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น