วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ทวงถามหนี้ ไม่ถูกต้อง มีโทษทางปกครองและทางอาญา


 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี

ทวงถามหนี้ ไม่ถูกต้อง

            เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้กับการทวงถามหนี้ของผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำเป็นทางการค้าปกติหรือปกติธุระของเจ้าหนี้ ไม่ว่าหนี้นั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และหมายรวมถึงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย ซึ่ง หนี้ในที่นี้คือ หนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้ว 

            สินเชื่อ หมายความว่า สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน  ผู้ให้สินเชื่อ หมายความว่า บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือ บุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด

            ลูกหนี้ หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย  กฎหมายฉบับนี้ จึงไม่ใช้บังคับกับลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล 

            ทวงถามหนี้ ไม่ถูกต้อง มีโทษทางปกครองและโทษทางอาญา โดยลักษณะที่เป็นความผิดที่โทษทางอาญาเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ตามกฎหมายฉบับนี้ มีดังนี้

            1.บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน  ฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรั

            2.ห้ามผู้ทวงหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เพื่อทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ระบุไว้ฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้การติดต่อกับบุคคลอื่น ทำได้เพื่อสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อทวงถามหนี้เท่านั้น และห้ามแจ้งถึงความเป็นลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ และห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้ ฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกัน

advertisement


            3.ห้ามผู้ทวงถามหนี้ กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะ

              (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์ของลูกหนี้ หรือผู้อื่น ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              (2) ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ หรือผู้อื่น  หรือการแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ หรือการติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อใหทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่การบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในการติดต่อลูกหนี้ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ ไม่ได้สือให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (ยกเว้นการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล) ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

           4. ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความใจผิด ดังนี้
               (1) การแสดงหรือใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               (2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย หรือการแสดงหรือมีข้อความทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดอายัดทรัพย์ หรือเงินเดือน หรือ การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

            5.ห้ามผู้ทวงถามหนี้ กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม ดังนี้ คือ การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

            6.ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการดังต่อไปนี้
                (1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
                (2) ทวงถามหนี้ หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย 
            ฝ่าฝืนข้อนี้ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

advertisement



            ทวงถามหนี้ ไม่ถูกต้อง มีโทษทางปกครองด้วย นั่นคือ การถูกสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือการให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ทวงถามหนี้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อาจถูกลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยลักษณะการกระทำฝ่าฝืน คือ
            -ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ แล้วไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ หรือติดต่อหรอแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือ
            -บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ หรือปฏิบัติการทวงหนี้ไม่ถูกต้องตามมาตรา 9 เช่น ให้ติดต่อตามสถานที่ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ที่ได้แจ้งไว้ กรณีไม่ได้แจ้งไว้ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว  เวลาในการติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ในวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.หรือ
            -ติดต่อเกินจำนวนครั้งที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด หรือ
            -กรณีมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้หรือมอบอำนาจช่วง  ให้แจ้งชื่อตัวและชื่อสกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้   ถ้าเป็นการทวงถามต่อหน้าให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย หรือ
            -เมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ทวงถามแล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ด้วย หรือ
            -เป็นการทาวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการฯกำหนด หรือ 
            -เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

           เมื่อลูกหนี้หรือบุคคลอื่น ได้รับการปฏิบัติจากผู้ทวงถามหนี้ที่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ให้ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นนั้น มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัด ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอัยการจังหวัด ผู้บัญชามณฑลทหารบกในพื้นที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด คลังจังหวัด ประธานสถาทนายความจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มคร้องผู้บริโภคซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นกรรมการ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ  ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้แทนสภาทนายความ และผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งเป็นกรรมการ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ  มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน  สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ 

advertisement



            โดยให้ที่ทำการปกครองจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดและคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ในการเป็นสำนักทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้ หรือกำกับการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ฯ  

            ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ให้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจเป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ได้ด้วย และให้หัวหน้าหน่วยงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารเพื่อส่งเรื่องต่อไปยังที่ทำการปกครองจังหวัด หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วแต่กรณี 

           กรณีที่คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัด หรือประจำกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มีคำสั่งลงโทษผู้ทวงถามหนี้ที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นคำสั่งปรับทางปกครอง ผู้ทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับต่อคณะกรรมการได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และคณะกรรมการฯ ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด 

           เมื่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือกรุงเทพมหมานคร มีคำสั่งปรับทางปกครองแล้ว ไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครอง จะมีการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทาปกครอง และถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการบังคับตามคำสั่งหรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการบังคับทางปกครองได้ คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัดหรือประจำกรุงเทพมหานคร แล้วกรณี มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อบังคับชำระค่าปรับต่อไป และถ้าศาลเห็นว่าคำสั่งให้ชำระค่าปรับนั้นชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและบังคับให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าปรับได้ 

           คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือประจำกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบการทวงถามหนี้ได้ เมื่อปรากฎว่าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เคยถูกลงโทษปรับทางปกครองและถูกลงโทษซ้ำอีกจากการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน หรือ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ โดยผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนต่อคณะกรรมการฯ ได้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และคณะกรรมการฯ ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

            กรณีผู้ทวงถามหนี้ กระทำการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ ที่มีโทษจำคุกจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเป็นการกระทำฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบคดีได้ เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

            แต่ถ้าเป็นการกระทำฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ ที่มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่สามารถทำการเปรียบเทียบคดีได้ ต้องดำเนินคดีต่อไปในชั้นศาล ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความกันได้ 

            ที่นำเสนอเป็นเนื้อหาโดยสรุปของพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ ที่ลูกหนี้รวมถึงบุคคลที่ค้ำประกันลูกหนี้ หากถูกทวงถามหนี้ที่มีลักษณะที่ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ ก็สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัดหรือประจำกรุงเทพมหานคร โดยจะร้องเรียนที่ทำการปกครองจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจเป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ในเขตพื้นที่ที่มีการทวงถามหนี้โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น