วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การเรียกดอกเบี้ย ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี

การเรียกดอกเบี้ย


               เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ คือมีผลในวันที่ 11 เมษายน 2564 เนื้อหา เป็นการแก้ไข โดยยกเลิกมาตรา 7 มาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เดิม และมีการเพิ่มเติม มาตรา 224/1 เข้าไปใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยที่นิติกรรมหรือกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง  กับอัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดย  

                มาตรา 7 นั้นบัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี " หมายถึง ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่กันโดยในนิติกรรมต่างๆที่ตกลงทำต่อกัน ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง เมื่อเกิดข้อพิพาทเป็นคดีขึ้น ศาลจะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี  จากเดิมที่ถืออัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี 

                อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยกระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุก 3 ปี เพื่อให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์   

                มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คิดดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เช่น ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินกำหนดไว้ในการผิดนัด เป็นต้น   

                ในส่วนที่เพิ่มเติมใหม่ คือ มาตรา 224/1 ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น  ถ้าในนิติกรรมที่ทำกันไว้ตกลงไว้ขัดกับความในข้อนี้ ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ  ฉะนั้น ผิดนัดงวดใด คิดดอกเบี้ยผิดนัดเฉพาะงวดนั้น โดยใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนั้นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี  ไม่ใช่คิดจากต้นเงินที่คงค้างทั้งหมด

                แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการเรียกดอกเบี้ยตามมาตรา 7 และมาตรา 224  เดิมที่พอจะเป็นแนวทางในการใช้ เช่น  

               คำพิพากษาศาลฎีกา3874/2560 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224

advertisement

            

                ถ้าเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินกันโดยทำสัญญากู้ยืมเงินกัน ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี  ถือว่าเป็นนิติกรรมที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดแจ้ง และไม่ขัดกับ มาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี " ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 จึงบังคับกันได้  ไม่ต้องถืออัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามมาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่   

                ในเรื่องการกู้ยืมเงิน การคิดดอกเบี้ยห้ามเกินจากที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะตกเป็นโมฆะ บังคับกันไม่ได้ในส่วนของดอกเบี้ยในทางแพ่งแล้ว  ยังมีความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย โดย

                พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เนื้อหามีรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้  
               " มาตรา 4  บัญญัติว่า  บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพราง การให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
                (1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้
                (2) กําหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจํานวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืม หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนด หรือ
                (3) กําหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของ หรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน 
                มาตรา 5 บัญญัติว่า บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องจากบุคคลอื่นโดยรู้ว่าเป็นสิทธิที่ได้มาจาก การกระทําความผิดตามมาตรา 4 และใช้สิทธินั้นหรือพยายามถือเอาประโยชน์แห่งสิทธินั้น ต้องระวางโทษ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4
                มาตรา 6 บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะมีคําขอหรือไม่ ศาลอาจนําวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 (3) และ (5) แห่งประมวล กฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม "

advertisement



                พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จึงใช้บังคับกับการให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพราง การให้กู้ยืมเงิน  และมีการเรียกดอกเบี้ย หรือจะเอาหรือรับเอาประโยชน์อื่นนอกจากดอกเบี้ย เกินอัตราที่กำหนด เช่น

                  การกู้ยืมเงินกันแล้ว ในสัญญาที่ทำกันไว้คิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อเกิดเป็นข้อพิพาททางคดีสู่ศาล  ในคดีแพ่งที่เจ้าหนี้ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าว  ในส่วนดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวไม่สามารถนำมาคิดคำนวณรวมกับต้นเงินเพื่อฟ้องคดีได้ ศาลจะพิจารณาว่า ในส่วนดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ตกเป็นโมฆะ เพราะในส่วนดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ซึ่งลูกหนี้ ถ้าสามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญา เอาผิดเจ้าหนี้ ในฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากที่กฎหมายกำหนด ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เช่น  

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2562 พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) บัญญัติให้การให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดยังคงเป็นความผิด เพียงแต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฉบับใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว เพียงแต่กฎหมายใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม กรณีมิใช่การยกเลิกการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้อ้างกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องมาด้วย จึงถือว่าเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6)

               

                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น