วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

การกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


        การกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ที่จะนำเสนอในบทความนี้ จะนำเสนอเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ซึ่งพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที 2 ได้ยกเลิกมาตรา 14 ที่บัญญัติไว้เดิม แก้ไขใหม่ เป็น

        “มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
         (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา 
        (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 
        (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา 
        (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
        (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) 
        ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้" 

        การกระทำความผิดตามมาตรา 14(1) ต้องมีเจตนาทุจริต คือ มีเจตนาแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือเป็นการหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงของข้อมูลนั้นว่าบิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา  ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดทางอาญา รวมถึงผู้ที่เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยผู้เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลนั้นรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม หรือเป็นเท็จ ถ้าเป็นกระทำต่อประชาชน เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินยอมความไม่ได้ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไมเกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
        
        แต่ถ้าความผิดตามมาตรา 14(1) กระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดที่ยอมความกันได้ รวมทั้งผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวด้วย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

advertisement



        คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นแนวทางในการพิจารณา เช่น 

    
    คำพิพากษาศาลฎีกา6794/2561ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยดูหมิ่นซึ่งหน้าด้วยการพิมพ์ข้อความ "สรุป...ทริป "พาไปขำ" ...นะคะ..." ...ลงในโปรแกรมไลน์ อันเป็นการใส่ความโจทก์ซึ่งหน้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องอับอาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ถูกเหยียดหยาม ...การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ต่อสมาชิกในกลุ่มซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่เห็นข้อความของจำเลยก็ย่อมจะเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี เป็นคนชั่ว... ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 391 (ที่ถูก 393) เห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
        คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียวในประเด็นความผิดที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานหมิ่นประมาท และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 หรือไม่ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน เมื่อโจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยมิได้ยืนยันว่าข้อความตามคำฟ้องมีข้อความใดบ้างที่เป็นเท็จ และที่ถูกต้องตามความจริงแล้วเป็นเช่นไร เมื่อพิจารณาข้อความตามคำฟ้องแล้วมีลักษณะเชิงเปรียบเทียบ และข้อความบางตอนกล่าวในทำนองเสียดสี ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ หรือเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อคดีฟังได้เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
        คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) หรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา..." ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน แต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ   พิพากษายืน

advertisement



        การกระทำความผิดตามมาตรา 14(2) ผู้กระทำต้องรู้เท็จจริงว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน รวมถึงผู้ที่เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยผู้เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลนั้นรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  

        การกระทำความผิดตามมาตรา 14 (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลอันลามกนั้น คำว่า "ลามก" พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า "ว. หยาบช้าต่ำทราม หยาบโลน อันเป็นที่น่ารังเกียจของคนดีมีศีลธรรม เช่น หนังสือลามก พูดลามก ทำลามก. (ป.)." ดังนั้น การนำเข้าซึ่งภาพลามก ภาพอนาจาร สื่อลามกอนาจาร ภาพโป๊ ภาพการกระทำทางเพศ ภาพการร่วมเพศ หรือเผยแพร่ ส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้  ก็มีความผิดทางอาญาที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ โทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ  

        แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับสิ่งลามก เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 3278/2554 การที่จำเลยส่งเอกสารที่มีข้อความประณามว่าโจทก์ร่วมมีชู้และพฤติกรรมทางเพศของโจทก์ร่วม ภาพถ่ายเปลือยกายของโจทก์ร่วม ภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงการร่วมเพศของโจทก์ร่วมกับจำเลยอันเป็นสิ่งลามกทางไปรษณีย์ไปยังราษฎรในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าเป็นการทำให้แพร่หลายโดยมีเจตนาเพื่อการแจกจ่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งลามก แม้ราษฎรในหมู่บ้านที่เกิดเหตุได้รับเอกสาร รวมทั้งภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงจะไม่ได้อ่านเอกสารหรือดูภาพถ่ายหรือฟังแถบบันทึกเสียง ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในความผิดฐานทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งลามกตาม ป.อ. มาตรา 287 (1)

        นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ตามมาตรา 14 ใหม่ ดังนี้ 
        "มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด ตามมาตรา 14 ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้อง รับโทษ"

        พระราชบัญญัติที่แก้ไขฉบับที่ 2 นี้ ยังมีการยกเลิกมาตรา 16 เดิม และแก้ไขใหม่ เป็น   
        มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 
        “มาตรา 16 ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท 
          ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย และการกระทํานั้นน่าจะทําให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง 
          ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริตอันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ผ้กระทำไม่มีความผิด                 ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”

        มาตรา 16 ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ปรากฎเป็นภาพของผู้อื่นโดยเป็นภาพที่สร้างขึ้น ตัดต่อ หรือดัดแปลง ที่ประชาชนอาจเข้าถึงได้  โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่ยอมความกันได้ และถ้าเป็นภาพของผู้ตาย ที่น่าจะทําให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

advertisement



         แนวคำพิพากศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว  เช่น

         คำพิพากษาศาลฏีกา2778/2561 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า " (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน " โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า " (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา " กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

        คำพิพากษาศาลฏีกา1188/2561โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
        จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์

        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น