วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง และทางอาญา

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

            เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ได้มีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ประกาศลงในราชกิจจานุกเบกษา มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบิกษาเป็นต้นไป เนื้อหาเป็นเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง  การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เหตุผลในการประกาศใช้ คือ ปัจจุบันข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เห็นควรให้นำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนักและข้อพิพาททางอาญาบางประเภทมากำหนดเป็นกฎหมายกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ พนักงานสอบสวน หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม ลดงบประมาณแผ่นดิน และเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข 

            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง  ข้อพิพาทที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ คือ ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์  ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก  ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤกษฎีกา ข้อพิพาทอื่นนอกจากที่กล่าวที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ถ้าข้อพิพาทนั้นเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันได้  

            วิธีการ คือ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานซึ่งดำเนินงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เมื่อหน่วยงานฯ สอบถามความสมัครใจของคู่กรณีอีกฝ่ายแล้ว อีกฝ่ายสมัครใจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามคำร้องของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องตกลงแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยคนหนึ่งหรือหลายคนจากบัญชีผู้ไกล่เกลี่ยที่หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจัดทำไว้  การแต่งตั้งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คู่กรณีมีสิทธิเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันได้โดยอิสระ โดยข้อตกลงต้องไม่เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาจอนุญาตให้ทนายความหรือที่ปรึกษาของคู่กรณีหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ คู่กรณีมีสิทธิถอนตัวจากการไกล่เกลี่ยโดยทำเป็นหนังสือแจ้งต่อผู้ไกล่เกลี่ย 

            เมื่อคู่กรณีได้มีข้อตกลงเป็นประการใดแล้ว ให้ผู้ไกล่เกลี่ยบันทึกข้อตกลงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  และกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะสิ้นสุดลงในกรณี คือ คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทกันได้  หรือคู่กรณีถอนตัวจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามมาตรา 27 หรือผู้ไกล่เกลี่ยเห็นว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์และให้ยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 

            เมื่อตกลงระงับข้อพิพาทกันได้แล้ว คู่กรณีก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้น เมื่อคู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพาท ฝ่ายที่เรียกร้องอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลยุติธรรมที่มีการทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทในเขตศาลนั้น หรือศาลยุติธรรมที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งมีการไกล่เกลี่ยนั้น  เพื่อให้บังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทได้  การร้องขอต้องกระทำภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทได้ ถ้าไม่ได้ร้องขอ ให้มูลหนี้ตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้น ระงับไป

            ศาลมีคำบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท เว้นแต่
            (1) คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถที่จะเข้าทำข้อตกลงระงับข้อพิพาท                (2) มูลเหตุแห่งข้อพิพาทหรือข้อตกลงระงับข้อพิพาทมีลักษณะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 
            (3) ข้อตกลงระงับข้อพิพาทเกิดจากกลฉ้อฉล บังคับ ขู่เข็ญ หรือกระทำการโดยมิชอบด้วยประการใดๆ 
            (4) มีเหตุเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยตามมาตรา 24 ที่มีผลต่อการทำบันทึกข้อตกลงอย่างมีนัยสำคัญ 
            ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งตามเหตุข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อดังกล่าว ต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งศาล เว้นแต่
           (1) ศาลมีคำสั่งไม่บังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท
           (2) ศาลมีคำสั่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท
           (3) ศาลมีคำสั่งบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทโดยฝ่าฝืนเหตุตามข้อดังกล่าว โดยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
   

            กล่าวโดยสรุปคือ เป็นข้อพิพาททางแพ่งที่เข้าเงื่อนไขที่จะทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันได้  คู่กรณีสมัครใจและประสงค์ทำการไกล่เกลี่ย เมื่อไกล่เกลี่ยได้ ทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร และปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง คู่กรณีอีกฝ่ายร้องขอให้ศาลบังคับตามข้อตกลงนั้นได้  

advertisement


      

            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา กระทำได้ในกรณีเป็นความผิดอันยอมความได้ หรือเป็นความผิดลหุโทษตามมาตรา 390(ประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) มาตรา 391(ใช้กำลังทำร้าย โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) มาตรา 392 (ทำให้ความกลัว ความตกใจ โดยการขุู่เข็ญ) มาตรา 393 (ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา) มาตรา 394 (ไล่ ต้อนหรือทำให้สัตว์ใดๆ เข้าไปในสวน ไร่ หรือนา ที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธ์ุไว้ หรือมีพืชพันธุ์ หรือผลิตผลอยู่) มาตรา 395(ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เข้าสวนไร่หรือนาผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธ์ุไว้ หรือมีพืชพันธุ์ หรือผลิตผลอยู่) และมาตรา 397 (กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพะราชกฤษฎีกา  ซึ่งเมื่อคู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันแล้ว ให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเฉพาะคู่กรณีซึ่งทำข้อตกลงดังกล่าว     

           หากคดีอยู่ในระหว่างการสอบสวน หรือพิจารณาคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลให้หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนแจ้งให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล ทราบ ซึ่งอาจรอการสอบสวน การสั่งคดี การพิจารณาคดีหรือการพิพากษาคดีไว้ก่อนจนกว่าจะรู้ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็ได้ และเมื่อคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันได้ ให้แจ้งผลและส่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลทราบ  กรณีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่เป็นผล จะมีการดำเนินคดีอาญาต่อไป

            กรณีคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาททางอาญา หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเมื่อคู่กรณีได้ปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทในส่วนแพ่งแล้ว กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทในส่วนแพ่ง  อีกฝ่ายดำเนินการขอให้ศาลบังคับตามข้อตกลงนั้นได้  

            กล่าวโดยสรุปคือ เป็นข้อพิพาททางอาญา ที่เป็นคดีในความผิดตามกฎหมายตามเงื่อนไขที่กำหนด หน่วยงานดำเนินการไกล่เกลี่ย หากผู้เสียหายและผู้ต้องหา ซึ่งเป็นคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันได้ ให้ทำบันทีกข้อตกลง แล้วแจ้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลทราบ ขึ้นอยู่ว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนใด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ต่อเมื่อมีการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ไกล่เกี่ยกันแล้วครบถ้วน ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จะมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 

advertisement



            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวน ทำได้ใน คดีความผิดอันยอมความได้ คดีความผิดลหุโทษตามมาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 393 มาตรา 394 มาตรา 395 และมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพะราชกฤษฎีกา  ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีตามบัญชีทายพระราชบัญญัติ คือ ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีผู้ถึงแก่ความตายจากการชุลมุนต่อสู้นั้นตามมาตรา 294 วรรคหนึ่ง  ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยมีเหตุฉกรรณ์ ตามมาตรา 296 ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสจากการชุลมุนต่อสู้นั้น ตามมาตรา 299 นั้น  ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 300 ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334  การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป 

            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนจัดให้คู่กรณีในคดีอาญามีโอกาสเจรจาตกลงหรือเยียวยาความเสียหายเพื่อระงับคดีอาญา คู่กรณีคือ ผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา แต่ไม่รวมคดีอาญาที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหาย โดยผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดหรือฝืนความประสงค์ของผู้เสียหาย 

            เมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมัครใจและประสงค์เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา และคดีนั้นมิได้อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ให้คู่กรณียื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยฯต่อพนักงานสอบสวน และให้พนักงานสอบสวนเสนอความเห็น หากพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งเห็นว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดไม่ร้ายแรงและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยรวม ให้พิจารณาออกคำสั่งให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา 

            ให้พนักงานสอบสวนกำหนดนัดไกล่เกลี่ยฯครั้งแรกภายใน 7 วันนับแต่วันแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย และกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่กำหนดนัดไกล่เกลี่ยครั้งแรก เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าคู่กรณีสามารถตกลงกันได้ อาจดำเนินการต่อไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน โดยให้บันทึกเหตุดังกล่าวไว้ คู่กรณีต้องเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยด้วยตนเองและมีสิทธิให้ผู้ซึ่งตนไว้ววางใจไม่เกินสองคนเข้าฟังการไกล่เกลี่ยได้ ถ้าคู่กรณีซึ่งเป็นผู้ต้องหาเป็นผู้เยาว์ ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยฯด้วย การไกล่เกลี่ยให้ทำเป็นการลับ ในการไกล่เกลี่ย คู่กรณีมีสิทธิเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันได้โดยอิสระ ทั้งนี้ ข้อตกลงนั้นต้องไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ข้อตกลงต้องไม่ขัดหรือฝืนความประสงค์ของผู้เยาว์ด้วย เมื่อได้มีข้อตกลงเป็นประการใด ให้บันทึกข้อตกลงหรือจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้คู่กรณีและผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อไว้แล้วส่งบันทึกข้อตกลงไปยังพนักงานสอบสวน โดยมีสาระสำคัญ เช่น การชดใช้เยียวยาความเสียหาย เงื่อนไขที่คู่กรณีต้องปฏิบัติหรืองดเว้นปฏิบัติและระยะเวลาดำเนินการ หรือข้อตกลงไม่ติดใจที่จะรับการชดใช้เยียวยาความเสียหาย 

            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวนจะยุติเมื่อ คู่กรณีคนใดคนหนึ่งถอนตัวเพื่อยุติการไกล่เกลี่ย เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด คือ
            (1) คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาโดยไม่แจ้งหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา
            (2) มีเหตุอันควรสงสัยว่าความตกลงนั้นมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ
            (3) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาไม่อาจบรรลุผลได้โดยแท้
            (4) เห็นได้ชัดว่าการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาต่อไปจะเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นผู้เยาว์
            (5) คู่กรณีไม่สามารถเจรจาเพื่อตกลงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้  หรือเมื่อความปรากฎต่อผู้ไกล่เกลี่ยว่าผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลไม่ว่าก่อนการสอบสวนหรือระหว่างการสอบสวน หรือปรากฎแก่ผู้ไกล่เกลี่ยว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ 
            กรณีคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหมายบท หากความผิดต่อกฎหมายซึ่งเป็นบทหนักที่สุดสามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ ให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดบทอื่นระงับไปด้วย แต่หากความผิดที่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ เป็นความผิดที่มีโทษบทเบากว่าหรือเบาที่สุด ไม่เป็นเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดที่มีโทษหนักกว่า หรือหนักที่สุดระงับไป

            เมื่อคู่กรณีได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง ให้แจ้งพนักงานสอบสวน จัดทำบันทึกการปฏิบัติตามข้อตกลง ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมสำนวนสอบสวนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาสั่งยุติคดี ในกรณีที่มีการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงไม่ครบถ้วน ผู้มีอำนาจออกคำสั่งพิจารณามีคำสั่งดำเนินคดีต่อไป เว้นแต่ผู้เสียหายพอใจในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่ได้กระทำไปแล้ว  หรือ ความปรากฎแก่พนักงานสอบสวนว่าคู่กรณีที่เป็นผู้ต้องหาจงใจไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยไม่เหตุอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งมีคำสั่งดำเนินคดีต่อไป 

            เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งยุติคดี สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ กรณีที่มีผู้เสียหายหลายคน หากผู้เสียหายคนหนึ่งคนใดไม่สามารถทำข้อตกลงกับผู้ต้องหาได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของผู้เสียหายดังกล่าวยังไม่ระงับ 

            กล่าวโดยสรุปคือ เป็นคดีอาญาที่มีความผิดตามเงื่อนไขที่กำหนด และเป็นคดีที่ไม่ได้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล แต่อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คู่กรณี คือผู้เสียหายและผู้ต้องหา สมัครใจและประสงค์จะทำการไกล่เกลี่ยโดยยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งเห็นว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดไม่ร้ายแรงและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยรวม จะพิจารณาออกคำสั่งให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาได้ แต่ก็ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป  เมื่อคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทกันได้จะทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท และเมื่อมีการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงครบถ้วน ให้แจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อจัดทำบันทึกการปฏิบัติตามข้อตกลง ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมสำนวนการสอบสวน เพื่อพิจารณาว่า จะสั่งยุติคดีหรือไม่ หากพนักงานอัยการมีคำสั่งให้ยุติคดี จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป แต่หากพนักงานอัยการเห็นควรให้ดำเนินคดีต่อไป ก็ต้องดำเนินคดีต่อไป 

advertisement



            การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ย  ในกรณี 
            (1) ข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าแสนบาท หรือไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
            (2) ข้อพิพาททางแพ่งอื่นนอกจาก(1) ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฏีกา
            (3) ข้อพิพาททางอาญาตามมาตรา 35 คือ 
เป็นความผิดอันยอมความได้ หรือเป็นความผิดลหุโทษตามมาตรา 390(ประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) มาตรา 391(ใช้กำลังทำร้าย โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) มาตรา 392 (ทำให้ความกลัว ความตกใจ โดยการขุู่เข็ญ) มาตรา 393 (ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา) มาตรา 394 (ไล่ ต้อนหรือทำให้สัตว์ใดๆ เข้าไปในสวน ไร่ หรือนา ที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธ์ุไว้ หรือมีพืชพันธุ์ หรือผลิตผลอยู่) มาตรา 395(ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เข้าสวนไร่หรือนาผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธ์ุไว้ หรือมีพืชพันธุ์ หรือผลิตผลอยู่) และมาตรา 397 (กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพะราชกฤษฎีก

             โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้  กรณีเห็นว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนในเรื่องใดได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และออกหนังสือรับรองแล้ว ให้ข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้นบังคับกันได้ หรือให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามพระราชบัญญัตินี้ 

             

            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น