วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

สิทธิเรียกเงินคืนของราชการ กรณีทุจริต และกรณีรับไปโดยไม่มีสิทธิ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


       (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังให้คนจัดทำ)                                   

        เรื่องที่จะเสนอในบทความนี้ จะเกี่ยวข้องกับกรณีที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้สิทธิเบิกเงินจากทางราชการโดยทุจริต และกรณีการได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ สิทธิเรียกเงินคืนของทางราชการ จะเป็นประการใดนั้น มีรายละเอียดดังนี้ 

        เบิกเงินจากราชการโดยทุจริต

        การใช้สิทธิเบิกเงินจากราชการโดยทุจริต ต้องเริ่มต้นที่มีเจตนาแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เจตนาในที่นี้ คือ รู้สำนึกในการกระทำว่าเป็นการทุจริต โดยประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น การที่ข้าราชการมีเจตนาทุจริต ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง  ซึ่งมีอัตราโทษไล่ออกจากราชการ   เช่น

        การเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ มีมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541 ลงมติเห็นชอบว่า เมื่อมีการตรวจสอบการใช้สิทธิแล้วพบว่า ข้าราชการรายใดใช้สิทธิเบิกไม่ถูกต้องขัดกับพระราชกฤษฏีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ ให้ถือว่าเป็นการทุจริต มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อสอบสวนแล้วพบว่ากระทำผิดจริงให้พิจารณาลงโทษไล่ออก โดยไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0204/ว61 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2541 ซึ่งในการเรียกเงินคืนนั้น ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0209.5/ว75 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2547 ให้ต้นสังกัดปฏิบัติตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และหากเกิดความเสียหายจะต้องมีการสอบสวนหาผู้ทีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังมีหนังสือ ที่ กค 0422.3/ว122 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2558 โดยระบุว่า "ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าใช้สิทธิโดยไม่ถูกต้อง เช่น นำเอกสารหลักฐานปลอมหรือหลักฐานเท็จมาใช้ในการเบิกค่าเช่าบ้านราชการ  พักอาศัยอยู่ในบ้านของบิดามารดาหรือบุคคลอื่นโดยไม่มีการเช่าจริง แต่เป็นการทำนิติกรรมอำพรางว่าเป็นการเช่าซึ่งโดยสภาพที่แท้จริงเป็นการอาศัย หรือไม่ได้พักอาศัยอยู่จริง เป็นปกติวิสัยในบ้านที่ตนใช้สิทธิ เป็นต้น ให้ต้นสังกัดชะลอการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านของข้าราชการรายนั้นไว้ก่อน 

        ในการเรียกเงินคืนให้ทางราชการปฏิบัติตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งบัญญัติว่า "การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการใช้เงินหรือให้ทรัพย์สิน หรือให้ประโยชน์อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน 
        ความเชื่อโดยสุจริตตามวรรหนึ่ง จะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ใช้ประโยชน์อันเกิดจากคำสั่งทางปกครองหรือได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินไปแล้วโดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายเกินควรแก่กรณี
        ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะอ้างความเชื่อโดยสุจริตไม่ได้
        (1) ผู้นั้นได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง หรือข่มขู่ หรือชักจูงโดยการให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย
        (2)ผู้นั้นได้ให้ข้อความซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ
        (3)ผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่งทางปกครองหรือการไม่รู้นั้นจะเป็นไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        ในกรณีที่เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไป ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยถ้าเมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือควรได้รู้เช่นนั้น หากผู้นั้นมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ถือว่าผุู้นั้นตกอยู่ในฐานะไม่สุจริตตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป และในกรณีตามวรรคสาม ผู้นั้นต้องรับผิดในการคืนเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน"

        จากกรณีเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ โดยนำเอกสารหลักฐานปลอมหรือหลักฐานเท็จมาใช้ในการเบิกค่าเช่าบ้านราชการ  หรือพักอาศัยอยู่ในบ้านของบิดามารดาหรือบุคคลอื่นโดยไม่มีการเช่าจริง แต่เป็นการทำนิติกรรมอำพรางว่าเป็นการเช่า ซึ่งโดยสภาพที่แท้จริงเป็นการอาศัย หรือไม่ได้พักอาศัยอยู่จริง เป็นปกติวิสัยในบ้านที่ตนใช้สิทธิ ย่อมถือว่าผู้นั้นไม่สุจริต ไม่ถือเป็นลาภมิควรได้ แต่เป็นการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องคืนเงินที่ได้รับไปเต็มจำนวน  สิทธิติดตามเอาเงินของทางราชการจากผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับ  ไม่มีกำหนดอายุความ เพราะราชการใช้สิทธิความเป็นเจ้าของเงิน ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

        
        การเบิกเงินจากราชการโดยไม่มีสิทธิ

        การเบิกเงินจากราชการโดยไม่มีสิทธิ อาจจะเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในระเบียบกฎหมายของเจ้าหน้าที่ และผู้อนุมัติ หรือมีข้อเท็จจริงปรากฎในภายหลังอนุมัติว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิเบิก ในกรณีนี้ ถ้าไม่มีเจตนาทุจริต เงินที่ผู้นั้นได้รับไป ไม่ใช่ลาภมิควรได้ เพราะราชการไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระผู้นั้น เงินที่ผู้นั้นได้รับไปต้องคืนเต็มจำนวน และหน่วยงานราชการมีสิทธิติดตามเอาคืนได้โดยไม่มีกำหนดอายุความ เพราะใช้สิทธิความเป็นเจ้าของเงิน ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

       กรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าใจว่ามีสิทธิเบิก หรือปิดบังข้อเท็จจริงบางเรื่อง แต่ในความเป็นจริงไม่มีสิทธิเบิกหรืออนุมัติให้เบิกผิดไปจากระเบียบกฎหมายที่กำหนดโดยสำคัญผิด เมื่อมีการตรวจสอบพบในภายหลัง จึงแจ้งให้ส่งเงินคืนเพราะถือว่าเป็นการได้ไปโดยมิชอบ ไม่ใช่นิติกรรมทางแพ่ง เงินที่ราชการจ่ายไปจึงไม่ใช่ลาภมิควรได้ เพราะไม่ใช่กรณีหน่วยราชการกระทำการชำระหนี้ให้ข้าราชการ  เงินที่ได้รับไปจึงต้องคืนเต็มจำนวน ซี่งหน่วยงานของรัฐใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของเงินนั้น จึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนได้ โดยไม่มีกำหนดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติว่า " ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่วยทรัพย์ของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"

        จากที่กล่าวมีแนวคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

        คำพิพากษาศาลฏีกา7894/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับ การได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบซึ่งไม่ใช่กรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยจะได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยไม่ชอบก็ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)

        คำพิพากษาศาลฏีกา6915/2562 ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 กำหนดคำนิยามว่า การฝึกอบรม หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงาน หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาจัดที่แน่นอน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร "กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง" อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าวได้ จำเลยต้องคืนเงินที่เบิกไปแก่โจทก์ คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลย ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 และรับเงินไปจากโจทก์แล้วโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับหรือยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีจึงไม่ขาดอายุความ


        คำพิพากษาศาลฏีกา7900/2561โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)


**************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     

                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   

 


        




วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564

การจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (วิธีพิจารณาความอาญา)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


การจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

         บทความนี้ ขอเสนอหัวข้อเรื่อง "การจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา " ว่าการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา มีหลักกฎหมายอย่างไร  การจับโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลให้จับ ทำได้หรือไม่ มีหลักกฎหมายที่จะต้องทำความเข้าใจพอสมควร      

          คำว่า "ผู้ต้องหา" และ "จำเลย" ตามมาตรา ๒ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ให้ความหมายไว้ ดังนี้  

        ผู้ต้องหา หมายความถึง บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล   

        จำเลย หมายความถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้ว โดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด"

        จากคำนิยามตามกฎหมาย ผู้ต้องหากับจำเลย จึงเป็นผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดอาญาเหมือนกัน แต่ผู้ต้องหา คือผู้ที่ยังไม่ได้ถูกฟ้องไปยังศาล อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนรวมรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดี  แต่จำเลย คือ ผู้ถูกฟ้องยังศาลแล้ว กรณีพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา และกรณีราษฎร์ยื่นฟ้องคดีอาญาและศาลรับฟ้องไว้พิจารณา 

        ในการจับ หรือคุมขังบุคคลใด มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด  มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ " ตามบทบัญญัติดังกล่าว การจับและคุมขังบุคคลใด จะทำได้เมื่อมีคำสั่งหรือหมายของศาล   หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น การจับบุคคลใด จึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะเมื่อมีคำสั่งหรือหมายของศาลเท่านั้น ยังมีเหตุอื่นที่สามารถจับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล จึงต้องมาเรียนรู้กัน

         การจับผู้ต้องหา  

         ตามหลักกฎหมายพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลไม่ได้  แต่มีข้อยกเว้นที่กฎหมายให้อำนาจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาล (ม.78) ข้อยกเว้นนั้นคือ (1)เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซี่งหน้า (ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ) หรือ(2)เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด หรือ(3)เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้น แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ หรือ(4)เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว 

        ราษฎร ก็สามารถจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้ คือ ราษฎรที่เห็นบุคคลใดกำลังกระทำผิดอาญา หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ ถ้าเป็นความผิดที่ระบุไว้ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

        ความผิดที่ระบุไว้ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าไม่เห็นขณะกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเข้าได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ ถ้ามีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งหน้า คือ เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ หรือเมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้น และมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น 

        ความผิดที่ระบุไว้ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล ขบถภายในพระราชอาณาจักร ขนบภายนอกพระราชอาณาจักร ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำอันตรายแก่ธง หรือเครื่องหมายของต่างประเทศ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน หลบหนีจากที่คุมขัง ความผิดต่อศาสนา ก่อการจลาจล กระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชน กระทำให้สาธารณชนปราศจากความสะดวกในการไปมาและการส่งข่าวและของถึงกันและกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสุขสบาย ปลอมแปลงเงินตรา ข่มขืนกระทำชำเรา ประทุษร้ายแก่ชีวิต ประทุษร้ายแก่ร่างกาย ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ ลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และโจรสลัด กรรโชก 

        ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อกฎหมายดังกล่าว พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใด ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาล ซึ่ง เหตุในการออกหมายจับผู้ต้องหาตามหลักกฎหมาย (ม.66) คือ เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น การที่ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร ย่อมตกอยู่ในข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี ทำให้ออกหมายจับได้ 

        อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้ามีหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ขอให้ศาลออกหมายจับได้  หรือเมื่อมีหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำผิดอาญา อัตราโทษจำคุกเท่าใดก็ได้ แต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งการที่ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ก็เข้าข้อสันนิษฐานว่าจะหลบหนี ขอให้ศาลออกหมายจับได้ ซึ่งในข้อนี้ ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจสามารถจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาลให้จับ  เช่น     

        คำพิพากษาศาลฎีกา3803/2562 การจับกุมโจทก์ทั้งสี่มีมูลเหตุมาจากการที่ ช. แจ้งเรื่องไปที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ว่าโจทก์ที่ 2 อ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดจาเชิงข่มขู่ให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ต จำเลยที่ 13 จึงไปร้านที่เกิดเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ 7 ช. ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่แจ้ง จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก จึงติดตามจนพบรถกระบะที่โจทก์ทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะ ขอตรวจค้นพบบัตรคอนเสิร์ต 5 ใบ กับเงินสด 7,000 บาท ในกระเป๋าสะพายของโจทก์ที่ 1 กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวกเชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุการณ์ดังที่ ช. แจ้งเกิดขึ้นจริง จึงมีหลักฐานตามสมควรว่าโจทก์ทั้งสี่น่าจะได้กระทำความผิดอาญา ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบว่าโจทก์ทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่ใด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่จะหลบหนี และหากต้องไปขอให้ศาลออกหมายจับก่อน อาจจะไม่ได้ตัวโจทก์ทั้งสี่มาดำเนินคดี ถือได้ว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับ การจับกุมโจทก์ทั้งสี่จึงต้องด้วยข้อยกเว้นของการจับโดยไม่มีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ประกอบมาตรา 66 (2) จึงเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมาย

      แม้จะมีเหตุให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับ แต่ต้องแสดงให้ผู้ต้องหาทราบว่าเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่แสดงผู้ต้องหาอาจเข้าใจว่าจะเข้ามาทำร้าย จึงมีสิทธิป้องกันไม่ให้จับ ไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำตามการตามหน้าที่ เช่น 

       คำพิพากษาศาลฎีกา5802/2537 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ห้ามมิให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับเว้นแต่กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตามบทมาตราดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันที่ไปจับกุมจำเลยทั้งสอง ผู้เสียหายในคดีที่ถูกทำร้ายร่างกายร่วมไปกับจ่าสิบตำรวจส.และพลตำรวจท.ด้วย และเป็นผู้ชี้แจ้งให้เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสอง กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4) เจ้าพนักงานตำรวจที่ไปจับกุมจำเลยที่ 1 ไม่มีผู้ใดแต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการตามหน้าที่การที่เจ้าพนักงานตำรวจสวมกางเกงสีกากีเสื้อคอกลม บางคนก็สวมกางเกงยีนจะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจเอาเองว่าบุคคลที่เข้ามาจับกุมนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเป็นไปไม่ได้ ที่พลตำรวจ ท. เบิกความว่าขณะวิ่งไล่ตามจำเลยที่ 1ได้ร้องบอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอจับกุม แต่ลักษณะการเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 มีพวกญาติของผู้เสียหายหลายคนวิ่งกรูเข้าไปร่วมจับกุมด้วย จึงอาจทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าจะเข้ามาทำร้ายเมื่อจำเลยทั้งสองไม่เคยรู้จักหรือเคยเห็นหน้าจ่าสิบตำรวจ ส.และพลตำรวจ ท. กับพวกมาก่อน แม้จะได้ต่อสู้ขัดขวางไม่ให้จับกุม จำเลยทั้งสองก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่

        การจับผู้ต้องหา ภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว ระหว่างสอบสวน โดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกัน นั้น เมื่อผู้ต้องหาหนี หรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าว มีอำนาจจับผู้ต้องหาได้(โดยไม่ต้องมีหมายหรือคำสั่งศาล (ม.78(4)) หรือเป็นกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นผู้ต้องหาหนีหรือจะหลบหนี ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด (ม.117)

advertisement


        การจับจำเลย

       จำเลย คือ ผู้ถูกฟ้องยังศาลแล้ว กรณีพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา และกรณีราษฎร์ยื่นฟ้องคดีอาญาและศาลรับฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งในวันยื่นฟ้องต้องมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปศาล เว้นแต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังอยู่ในอำนาจศาล 

        กรณีจำเลย ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล โดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกัน  เมื่อจำเลยหนี หรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าว มีอำนาจจับจำเลยได้  โดยไม่ต้องมีหมายหรือคำสั่งของศาล (ม.78(4)  นอกจากนี้ บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด (ม.117)   

        เมื่อจับผู้ต้องหาไว้แล้ว พนักงานสอบสวนอาจขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน  ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายมีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขัง   เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 4265/2561ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ตามคำร้องของผู้ร้องมีกำหนด 12 วัน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาฎีกา เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังโดยทันที... กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม..." มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 66 บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี" ตามบทบัญญัติข้างต้นให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการก่อนฟ้องซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของผู้ร้อง

**************************
ขอขอบคุณ 

           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    


วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

การฟ้องเพิกถอนกฎ และคำสั่งทางปกครอง

 บทความโดยนายก้องทภพ แก้วศรี


การฟ้องเพิกถอนกฎและคำสั่งทางปกครอง

(คลิกโฆษณาในบล๊อก ส่งกำลังใจให้ผู้จัดทำ)

           การยื่นฟ้องคดีปกครอง ผู้มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง  คือ ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  

           กรณีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (มาตรา 9(1) ซึ่งต้องการให้ศาลกำหนดคำบังคับให้เพิกถอนกฎ หรือคำสั่ง หรือสั่งห้ามกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน (มาตรา 72) โดยที่ 

            กฎ หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ (มาตรา 5 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539)

            การฟ้องเพิกถอนกฎ  จะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี (มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครอง ครั้งที่ 3/2554 วินิจฉัยวางหลักเกี่ยวกับวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เพื่อให้เพิกถอนกฎว่า "เมื่อกฎมีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา หรือมีประกาศโดยวิธีอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและมีผลใช้บังคับแล้ว หากบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกฎเช่นว่านั้นประสงค์จะฟ้องต่อศาลปกครองว่า กฎไม่ชอบด้วยกฎหมาย วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่มีการประกาศโดยวิธีการอื่นดังกล่าว และกฎนั้นมีผลใช้บังคับแล้ว กรณีกฎมิได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา หรือมิได้มีการประกาศโดยวิธีการอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นได้รู้หรือควรรู้ถึงกฎหมายนั้นตามความเป็นจริง " (ที่มาบทความ "กำหนดเวลาฟ้องเพิกถอน ข้อบัญญัติท้องถิ่น" ของนางณัฐท์เนตร เศวตอริยพงษ์ เจ้าหน้าที่ศาลปกครองชำนาญการพิเศษ)


            สำหรับ คำสั่งทางปกครองนั้น หมายความว่า (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงการออกกฎ และ(2) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 5 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539)

            การฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง  จะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น   (มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดต้ังศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542)  

             ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้น จะทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด เช่น ในเรื่องนั้น กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีการอุทธรณ์ภายในเวลาที่กำหนดเสียก่อน  เป็นต้น (มาตรา 42วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542)   

            แต่คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย ในกรณีที่มีการฝ่าฝืน ให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์ หรือโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง กล่าวคือ คำสั่งทางปกครองต้องแจ้งกรณีและระยะเวลาที่อาจอุทธรณ์ได้ไว้ด้วย ถ้าไม่แจ้งผู้นั้นสามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง (มาตรา 40 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539) 

            คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรีและไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้น โดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว  คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย(มาตรา 44 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539) ให้เจ้าหน้าที่ พิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย (มาตรา 45วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539) เช่น คำสั่งเลื่อนเงินเดือน ผลการประเมิน การไม่อนุญาตให้ลา ไม่อนุญาตให้เบิกเงินต่างๆ เป็นต้น เมื่อได้รับคำสั่งแล้ว ถ้าไม่พอใจให้อุทธรณ์ต่อผู้ทำคำสั่งภายใน 15 วัน และผู้ทำคำสั่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าผู้อุทธรณ์ยังไม่ได้รับแจ้งผล ก็สามารถฟ้องคดีได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พ้น 90 วันนับแต่วันที่ยื่นอุทธรณ์  

              ถ้าเจ้าหน้าที่ ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้เร่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้ขยายเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 45 วรรคสอง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539) กล่าวคือ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จากกรณีที่ผู้ทำคำสั่งไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ ต้องพิจารณาอุทธรณ์นั้นให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับรายงาน ถ้าพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้แจ้งผู้อุทธรณ์ทราบ  ผู้อุทธรณ์สามารถฟ้องคดีได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พ้น 90 วันนับแต่วันที่ยื่นอุทธรณ์  

            คำสั่งใดที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้ ให้ออกคำสั่งระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วย ในกรณีปรากฎต่อผู้ออกคำสั่งใดในภายหลังว่า ตนมิได้ปฏิบัติตาม ให้ผู้นั้นดำเนินการแจ้งข้อความนั้น ให้ผู้รับคำสั่งทราบโดยมิชักช้า ในกรณีนี้ให้ระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ผู้รับคำสั่งได้รับแจ้งข้อความดังกล่าว ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่ และระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง (มาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) กล่าวคือ การแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ หรือคำสั่งทางปกครองใดที่ไม่ต้องอุทธรณ์ก่อน โดยการแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ หรือคำสั่งทางปกครองนั้น ไม่ระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ด้วย ให้ระยะเวลายื่นฟ้องขยายเป็น หนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ หรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ต้องมีการอุทธรณ์ก่อน


        การยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง เมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งนั้นแล้ว จะยื่นฟ้องคดีได้เมื่อใดนั้น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.1571/2559 วางหลักไว้ว่า "ในการพิจารณาอุทธรณ์นั้น มาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้กำหนดว่าผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองได้รับคำอุทธรณ์ หากมีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนด 60 วัน ระยะเวลาการพิจารณาอทุธรณ์ จึงจะขยายออกไปอีก 30 วันนับแต่วันครบกำหนด 60 วัน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 45 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบข้อ 2(5) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้แจ้งเหตุจำเป็นต้องขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องดคีทราบ จึงต้องถือวันที่ครบ 60 วัน คือ วันที่ 12 เมษายน 2551 เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายครบตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว และสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยถือว่าวันถัดจากวันครบกำหนด 60 วัน คือ วันที่ 13 เมษายน 2551 เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และนับเป็นวันแรกที่เริ่มใช้สิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันดังกล่าว คือ ภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์อีกต่อไป การที่นำคดีมายื่นฟ้องของให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนด"

        "ต่อมาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีหนังสือลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 แจ้งว่าได้วินิจฉัยว่า คำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น และสั่งยกอุทธรณ์ พร้อมแจ้งว่าหากไม่เป็นที่พอใจ อาจฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปครองที่เกิดขึ้นใหม่และมีผลเป็นการยืนยันคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินใหมทดแทน แม้คำขอท้ายฟ้องจะไม่ได้ระบุขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่ได้นำคดีมาฟ้องภายหลังจากที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ย้่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์จะให้ศาลพิจารณาผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยกอุทธรณ์ด้วย ซึ่งมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ได้รับแจ้งเมื่อใด แต่ก็พอจะพิจารณาได้ว่าได้รับแจ้งอย่างเร็วที่สุด คือวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ลงในหนังสือแจ้งผล และถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 "

            กล่าวโดยสรุป การฟ้องคดีปกครองเพิกถอนกฎ ไม่ต้องมีการยื่นอุทธรณ์ ส่วนการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการแก้ไขความเดือดร้อนของเรื่องนั้นก่อน นั่นคือต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นก่อนเสมอ ยื่นแล้วก็นับเวลาฟ้องคดีได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามแนวคำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว สามารถนำมาเป็นแนวทางในการนับระยะเวลายื่นฟ้องได้ 

************************

ขอขอบคุณ 

           ๑.บทความ "กำหนดเวลาฟ้องเพิกถอน ข้อบัญญัติท้องถิ่น" ของนางณัฐท์เนตร เศวตอริยพงษ์ เจ้าหน้าที่ศาลปกครองชำนาญการพิเศษ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เผยแพร่ทางเว็บไซด์  http://www.admincourt.go.th  

           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   

 

            

        

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

ขอคืนบ้านพัก ไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ ทำได้หรือไม่

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


ขอคืนบ้านพัก


       (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังใจผู้จัดทำ)

        ข้าราชการผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริง ตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้าน แต่อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้นั้น  ทางราชการได้จัดที่พักให้ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด นี่คือ เนื้อความตามกฎหมายของมาตรา7(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

      ต่อมากระทรวงการคลัง ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการ พ.ศ.2560 โดยยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการ พ.ศ.2551  โดยสรุป ก็คือ ที่พักของแต่ละส่วนราชการจะกำหนดให้เป็นที่พักสำหรับข้าราชการระดับใด ให้พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งความประหยัดและประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญและสามารถปรับเปลี่ยนได้ฯ หัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณหรือผู้ที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจจัดที่พัก และสามารถกำหนดวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพัก ตามหลักเกณฑ์ คือ 

        เมื่อที่พักว่างอยู่และสามารถเข้าพักอาศัยได้ ให้จัดข้าราชการเข้าพักตามหลักเกณฑ์โดยไม่ต้องรอให้ข้าราชการยื่นคำร้องขอเข้าพักอาศัย เมื่อผู้มีอำนาจฯ ได้จัดที่พักให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโสขึ้นไป ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป ประเภทอำนวยการ ประเภทบริหารหรือเทียบเท่าฯ เข้าพักฯแล้ว ผู้นั้นต้องเข้าพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯหรือไม่(เป็นข้อกำหนดให้ผู้มีอำนาจต้องจัดที่พักให้)  เมื่อมีที่พักฯ เหลืออยู่ ให้จัดผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป  ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการลงมาหรือเทียบเท่า ฯ และเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเข้าพักอาศัยไม่ว่า ผู้นั้นกำลังใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการอยู่หรือไม่ก็ตาม  เว้นผู้ใดมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ และยื่นขอใช้สิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ เพื่อชำระราคาบ้านมาเบิกจากทางราชการในท้องที่ที่ปฏิบัติราชการ ตามมาตรา 17 หรือมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิเบิกฯ ในท้องที่นั้นก่อนถูกจัดที่พัก ผู้มีอำนาจไม่ต้องจัดข้าราชการผู้นั้นเข้าพักในที่พักของทางราชการ ฯ 

         กรณีมีที่พักประจำตำแหน่งของห้วหน้าหน่วยงาน หัวหน้าหน่วยงานต้องเข้าพักอาศัย หากมีข้าราชการรายอื่นได้พักอาศัยในที่พักดังกล่าวอยู่ ผู้มีอำนาจฯ ต้องดำเนินการจัดให้ข้าราชการรายอื่นนั้นออกจากที่พักโดยเร็ว และหัวหน้าหน่วยงานต้องเข้าพักฯแทนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รายงานตัวเพื่อเข้ารับหน้าที่ แต่ในระหว่างที่ผู้มีอำนาจฯ ยังไม่ดำเนินการ  หากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ จำเป็นต้องเช่าบ้านหรือเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้าน และได้อาศัยอยู่จริง ย่อมมีสิทธินำหลักฐานมาเบิกค่าเช่าบ้านฯ ได้ในช่วงระยะเวลาที่ไม่สามารถเข้าที่พักของทางราชการได้ โดยไม่ได้ประโยชน์ ว่าไม่ต้องจัดให้เข้าพักเพราะใช้สิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อฯ มาเบิกฯ 

        กรณีข้าราชการมีคู่สมรสซึ่งรับราชการอยู่ในสังกัดเดียวกัน และสามารถพักอาศัยอยู่ในที่พักเดียวกันได้ ผู้มีอำนาจจัดที่พักสามารถใช้ดุลพินิจจัดให้ข้าราชการดังกล่าวให้เข้าพักอาศัยในที่พักฯด้วยกันได้ 

        เมื่อจัดตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ยังคงมีที่พักเหลือว่างอยู่ ผู้มีอำนาจสามารถจัดข้าราชการที่บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกและเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยเขาพักฯ ได้ โดยกำหนดระยะเวลาเข้าอยู่อาศัยให้อยู่ในดุลพินิจของส่วนราชการและต้องบริหารเงินงบประมาณที่ได้รับ(น่าจะเป็นงบประมาณที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการในหน่วยงานนั้น) ให้อยู่ภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรรด้วย (แต่เมื่อกระทบต่อเงินงบประมาณฯที่มีอยู่ ก็สามารถจัดให้ออกจากที่พักฯ ได้) และถ้ายังคงมีที่พักเหลือว่างอยู่ ผู้มีอำนาจฯอาจจัดให้ข้าราชการผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ เข้าพักอาศัยได้เป็นการชั่วคราว       

         กรณีที่พักของทางราชการมีไม่เพียงพอสำหรับผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ หรือกรณีที่ข้าราชการที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ซึ่งย้ายมาใหม่ ไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยในที่พักของทางราชการใน เนื่องจากผู้ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ได้เข้าพักอาศัยอยู่ก่อนแล้ว  ทำให้ไม่สามารถจัดให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ เข้าอยู่อาศัยได้ กรณีดังกล่าว ผู้มีอำนาจจัดที่พักต้องดำเนินการจัดให้ผู้ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ออกจากที่พักของทางราชการ และจัดให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ เข้าอยู่อาศัยในที่พักฯ แทนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รายงานตัวเพื่อเข้ารับหน้าที่ แต่ในระหว่างที่ผู้มีอำนาจฯ ยังไม่ดำเนินการดังกล่าว หากผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ จำเป็นต้องเช่าบ้านหรือเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้ เพื่อชำระราคาบ้าน และได้อาศัยอยู่จริง ก็ย่อมมีสิทธินำหลักฐานมาเบิกค่าเช่าบ้านฯ ได้ในช่วงระยะเวลาที่ไม่สามารถเข้าที่พักฯ โดยไม่ได้รับประโยชน์ว่าไม่ต้องจัดให้เข้าพักเพราะใช้สิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อฯ มาเบิกฯ 

         หากผู้มีอำนาจฯ จัดที่พักให้ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ เข้าพักแล้ว ข้าราชการผู้นั้นไม่เข้าพัก ให้ถือว่าสละสิทธิการเข้าพัก และถือว่าทางราชการ ได้จัดที่พักอาศัยให้อยู่แล้ว ตามมาตรา 7(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2547 แก้ไขเพิ่มเติม(ย่อมหมดสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านฯ )  และหากผู้ที่สละสิทธิ ร้องขอเข้าพักเพราะ ต่อมาได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย ผู้มีอำนาจฯ อาจพิจารณาจัดให้ข้าราชการดังกล่าวเข้าพักฯได้ หากต่อมาที่พักฯ ได้ถูกรื้อถอนไปทั้งหมด ถือว่าข้าราชการผู้นั้นไม่มีที่พักของทางราชการจัดให้ จึงไม่เป็นผู้ต้องห้ามในการรับสิทธิค่าเช่าบ้านฯ อีกต่อไปนับแต่วันที่ที่พักของทางราชการได้ถูกรื้อถอนไปทั้งหมด 

         หากบ้านพักฯว่างลง แต่มีสภาพชำรุด ทรุดโทรม มีลักษณะไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้เข้าอยู่อาศัย หรือมีเหตุสุดวิสัย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือมีเหตุอื่นใดอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ ผู้มีอำนาจฯ ไม่ต้องจัดให้ข้าราชการเข้าพักจนกว่าจะซ่อมแซมแล้วเสร็จหรือเหตุสุดวิสัยนั้นได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาจนสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ หรือเมื่อได้จัดให้ข้าราชการเข้าพักแล้ว เกิดเหตุดังกล่าว จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ หากผู้นั้นมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน จำเป็นต้องเช่าบ้านหรือเช่าซื้อฯ และได้อาศัยอยู่จริง ให้มีสิทธินำหลักฐานมาเบิกฯได้ จนกว่าจะซ่อมแซมที่พักเสร็จหรือเหตุสุดวิสัยนั้นได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาจนสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ และส่วนราชการได้จัดให้ผู้นั้น หรือผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านรายอื่นเข้าพักฯ ต่อไป และหากผู้มีอำนาจจัดให้ผู้นั้นกลับเข้าพักแล้ว ไม่เข้าพัก ถื่อว่าสละสิทธิการเข้าพักอาศัยและถือว่าราชการได้จัดที่พักให้แล้ว ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ตามมาตรา 7(1) 

        กรณีหน่วยงานจัดให้ข้าราชการผู้ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน เข้าพักอาศัยอยู่ก่อนที่หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัตินี้มีผลใช้บังคับ(ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่หลักเกณฑ์ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560) ให้ผู้นั้นมีสิทธิอยู่อาศัย จนกว่าจะถูกจัดออกจากที่พักของทางราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัตินี้ 

       ถ้าผู้ที่พักอาศัยที่พักของทางราชการ ทำหนังสือขอคืนบ้านพัก ไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแทน โดยอ้างว่าบ้านที่จัดให้มีความคับแคบและไม่เหมาะสมกับครอบครัว เนื่องจากมีสมาชิกในครอบครัวหลายคน และไม่สะดวกในการเดินทาง และผู้มีอำนาจอนุมัติ  จะเป็นการเบิกค่าเช่าบ้านโดยชอบหรือไม่  เรื่องนี้ มีคำตอบตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.222/2555 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2555  คือ 

        ข้อเท็จจริงของเรื่อง

        มีข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ย้ายปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงาน แจ้งความประสงค์ขอเข้าพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการ แต่บ้านพักมีไม่เพียงพอ จึงให้ประสานกับผู้ที่พักอาศัยในบ้านพักราชการอยู่แล้ว เพื่อขอให้คืนบ้านพัก ผู้ที่พักอาศัยที่พักของทางราชการ จึงทำหนังสือขอคืนบ้านพัก เพื่อไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแทน โดยอ้างว่าบ้านจัดให้พักอาศัยมีความคับแคบและไม่เหมาะสมกับครอบครัว เนื่องจากมีสมาชิกในครอบครัวถึง 7 คน ไม่สะดวกในการเดินทาง และมีเงื่อนไขว่า หากทางราชการอนุญาตให้ไปเช่าซื้อบ้าน จะดำเนินการติดต่อบ้านเช่าและออกจากบ้านพักของทางราชการ โดยเจ้าหน้าที่บันทึกให้ความเห็นว่า เห็นควรอนุญาตเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการมีบ้านพักของตนเองฯ จนผู้นั้นได้เช่าซื้อบ้านและนำหลักฐานค่าผ่อนชำระเงินกู้ฯ มาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ และขณะเดียวกันมีข้าราชการซึ่งใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน ได้มีหนังสือขอเข้าพัก ซึ่งผู้มีอำนาจจึงมีคำสั่งอนุญาตในวันเดียวกัน และนำจัดให้ข้าราชการรายอื่นที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน เข้าพักแทน

        ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคฯ มีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของผู้อนุมัติว่า ได้สืบสวนกรณีที่มีการร้องเรียนว่าข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้านในขณะที่บ้านพักราชการว่าง แต่ไม่เข้าพักอาศัย แล้วพบว่า การอนุญาตให้ข้าราชการที่ขอคืนบ้านพักออกจากบ้านพักที่ทางราชการจัดให้อยู้แล้ว โดยที่ทางราชการไม่ได้เรียกบ้านพักคืน ไปเช่าบ้าน เช่าซื้อ หรือกู้เงินเพื่อซื้อบ้านอยู่อาศัย แล้วอนุมัติให้ข้าราชการนั้นเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ  น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามหนังสือกระทรวงการคลังฯ เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกค่าเช่าบ้านและสิทธิเข้าพักอาศัยบ้านพักของทางราชการ และมาตรา 7(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ ฯ เป็นเหตุให้ทางราชการต้องจ่ายเงินโดยไม่พึ่งต้องจ่าย จึงเห็นควรดำเนินการหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งเพื่อชดใช้เงินให้แก่ทางราชการ ผู้บังคับบัญชาของผู้อนุมัติ จึงมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และในระหว่างสอบสวน กรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้งผู้บังคับบัญชาผู้อนุมัติให้ระงับการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านฯ ไว้ก่อนจนกว่าจะถึงที่สุด  ผู้อนุมัติจึงมีคำสั่งระงับการเบิกค่าเช่าบ้านของข้าราชการรายดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งให้คืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด ข้าราชการผู้นั้นอุทธรณ์ และฟ้องคดีปกครองตามลำดับ


         ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพิพากษาที่เป็นประเด็นสำคัญว่า 

         1.คำสั่งอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

          ศาลฯ เห็นว่าในการพิจารณาคำขอคืนบ้านพัก ผู้มีอำนาจในการจัดข้าราชการเข้าพักฯ จะต้องพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามคำขอและพยานหลักฐานที่เห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามมาตรา  28 และ 29 วรรคหน่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539 เมื่อขอคืนบ้านพักโดยอ้างบ้านพักที่จัดให้มีความคับแคบ ไม่เหมาะสมกับครอบครัว ผู้มีอำนาจ พิจารณาแล้วอนุญาตให้คืนบ้านพัก เพื่อไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านฯ ถือว่าผู้มีอำนาจ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอื่น เพื่อพิสูจน์ข้ออ้างว่ามีอยู่จริงแล้ว และได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยจึงใช้ดุลพินิจให้คืนหรือออกจากบ้านพัก สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านของกรมบัญชีกลางตามหนังสือ ที่ กค0526.5/6844 ลววันที่ 23 สิงหาคม 2539 เหตุยกเว้นที่ทำให้ไม่มีสิทธิเบิกค่าเข่าบ้านจึงหมดไปนับแต่วันที่ออจากบ้านพักฯ และคำสั่งดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลผูกพันเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และไม่ปรากฎว่าได้มีการเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้คืนบ้านพักเพื่อไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแต่อย่างใด เมื่อปรากฎว่าหลังจากนั้น ผู้นั้นได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทำสัญญากู้เงินกับธนาคาร ผ่อนชำระเป็นรายเดือน จึงมีสิทธินำหลักฐานการผ่อนชำระมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 การที่มีคำสั่งอนุมัติเบิกค่าเช่าบ้านฯ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

          2. เพิกถอนคำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 

            แม้คำสั่งอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน จะเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คำสั่งดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนได้ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 51 มาตรา 52 และมาตรา 53 ไม่ว่าจะพ้นขั้นตอนการกำหนดให้อุทธรณ์หรือให้โต้แย้งตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมาแล้วหรือไม่ และวรรคสองบัญญัติว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รัูถึงเหตุที่จะให้เพิกถอนคำสั่งฯ นั้น เว้นคำสั่งทางปกครองจะทำขึ้นเพราะการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งหรือการขุ่มขู่หรือการชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย 

             เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคฯ แจ้งว่า การที่ผู้อนุญาตให้ข้าราชการขอคืนบ้านพักที่จัดให้อยู้แล้ว โดยทางราชการไม่ได้เรียกบ้านพักคืน ออกไปเช่าบ้าน เช่าซื้อหรือซื้อบ้านอยู่อาศัยแล้วอนุมัติให้ข้าราชการนั้นเบิกค่าเช่าบ้าน หรือนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อฯ มาเบิกค่าเช่าบ้านฯ นั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0541/17441 ลงวันที่ 4 เมษายน 2529 เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกค่าเช่าบ้านและสิทธิเข้าพักอาศัยบ้านพักของทางราชการ และมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชกฤษฏีกาเค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 เป็นเหตุให้ทางราชการต้องจ่ายเงินโดยไม่พึงจ่าย จึงเห็นควรดำเนินการพิจารณาหาผู้รับผิดขอบทางแพ่งเพื่อชดใช้เงินให้กับทางราชการ 

            ผู้บังคับบัญชาฯของผู้อนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ในระหว่างสอบสวน กรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของผู้อนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน ให้ระงับการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านข้าราชการไว้ก่อนจนกว่าจะถึงที่สุด 

            คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า แม้จะได้เคยอาศัยในบ้านพักที่ทางราชการจัดให้อยู่แล้ว แต่ต่อมาครอบครัวใหญ่ขึ้นทำให้บ้านพักคับแคบไม่เหมาะสม จึงขอคืนบ้านพักเพื่อไปเช่าซื้อหรือกู้เงินเพื่อซื้อบ้านฯ  และนำหลักฐานมาเบิกค่าเช่าบ้าน  ผู้มีอำนาจอนุมัติได้รับคืนและนำบ้านพักคืนไปให้ผู้อื่นที่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเข้าอยู่อาศัยแทนแล้ว บ้านพักจึงไม่ว่าง จึงไม่ต้องคืนเงินค่าเช่าบ้านที่เบิกไปให้แก่ทางราชการ ตามแนวการตอบข้อหารือสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน ของกรมบัญชีกลาง ตามหนังสือที่ กค 0526.5/6844 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2539 

            แต่กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้นั้นอาศัยอยู่ในบ้านพักที่ทางราชการจัดให้แล้ว ต่อมาขอคืนบ้านพักเพื่อไปเบิกค่าเช่าบ้านนั้น ถือว่าเป็นผู้แสดงความประสงค์จะขอสละสิทธิออกจากบ้านพักเอง ทำให้ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านนับแต่วันที่ออกจากบ้านพัก จึงต้องคืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด หากไม่สามารถเรียกคืนได้ให้เรียกชดใช้จากผู้อนุมัติ  และกรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชา ให้เรียกให้ข้าราชการผู้นั้นชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ  จึงมีหนังสือแจ้งให้ข้าราชการผู้น้ั้นทราบและลงลายมือรับทราบแล้ว และมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด กรณีจึงถือได้ว่าผู้อนุมัติได้ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุที่จะให้เพิกถอน ตามมาตรา 49 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539


            3.การเพิกถอนคำสั่งอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน และสั่งให้คืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

            ศาลฯเห็นว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่ง โดยปกติต้องเพิกถอนให้มีผลในขณะที่มีคำสั่งหรือให้มีผลในอนาคต และจะต้องมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 53 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ดังต่อไปนี้ (1) มีกฎหมายกำหนดให้เพิกถอนได้หรือสงวนสิทธิในการเพิกถอนได้ในคำสั่งทางปกครองนั้น (2) คำสั่งทางปกครองนั้นมีกำหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติ แต่ไม่มีการปฏิบัติภายในเวลาที่กำหนด (3) ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีข้อเท็จจรหรือพฤติการณ์เช่นนั้นในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงจะไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ (4) บทกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีบทกฎหมายเช่นนั้นในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงจะไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น  (5) อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชนอันจำเป็นต้องป้องกันหรือขจัดเหตุดังกล่าว 

            และหากจะเพิกถอนคำสั่งที่ให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งโดยให้มีผลย้อนหลังจะต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 53 วรรคสี่ บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลย้อนหลัง หรือไม่มีผลย้อนหลัง หรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครอง (2) ผู้ได้รับประโยชน์มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคำสั่งทางปกครอง 

            ซึ่งเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุ และได้ผ่อนผันให้มีการใช้หลักฐานที่ข้าราชการเช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ในบางกรณี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้อนุญาตได้อนุญาตให้คืนหรือออกจากบ้านพักเพื่อไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน และผู้นั้นได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทำสัญญากู้เงินกับธนาคาร นำหลักฐานการผ่อนชำระ มาเบิกค่าเช่าบ้าน จึงไม่มีเหตุที่ผู้นั้นมิได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด และคำสั่งดังกล่าวไม่ปรากฎเงื่อนไขใดๆให้ผู้นั้นปฏิบัติแต่อย่างใด ดังน้ัน  การมีคำสั่งระงับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน และสั่งให้คืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

            จากที่ผู้เขียน สรุปย่อคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว ออกเป็น 3 ประเด็น จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจข้อเท็จจริงของเรื่องและหลักกฎหมายที่ศาลใช้พิจารณาได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะมีเนื้อหามาก แต่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้สิทธิ ผู้อนุมัติ และหน่วยงานราชการ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ข้าราชการรายอื่นที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการ ได้เข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการจัดให้พัก จะใช้สิทธิบ้าง ก็คงต้องต่อสู้กับทั้ง ผู้อนุมัติ  กรมบัญชีกลาง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะต้องมีการตรวจสอบและดำเนินการ แต่ก็ยังถือว่ามีแนวปฏิบัติที่ทั้งผู้อนุมัติ และผู้ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน  สามารถนำใช้ประโยชน์ได้

************************
ขอขอบคุณ 

           ๑.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เผยแพร่ทางเว็บไซด์  http://www.admincourt.go.th  

           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/