วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566

คำให้การต้องชัดแจ้ง

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



        บทความนี้ เสนอเรื่อง คำให้การต้องชัดแจ้ง เป็นการกล่าวถึงคำให้การของจำเลยในคดีแพ่ง ที่แตกต่างจากคำให้การของจำเลยในคดีอาญา โดยในคดีอาญา จำเลยจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ซึ่งตีความรวมถึงจำเลยให้การที่เป็นเท็จในคดีอาญาได้ด้วย ไม่ผิดหลักกฎหมายอะไร เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญา 

          คำให้การของจำเลยในคดีแพ่ง สำคัญต่อการต่อสู้คดี   แต่ถ้าจำเลยให้การเพียงว่า " จำเลยไม่ทราบ และไม่รับรอง " จะมีผลอย่างไร 

          ตามหลักกฎหมาย  คำให้การของจำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น  ดังนั้น คำให้การของจำเลย จึงต้องมีเหตุแห่งการยอมรับและปฏิเสธ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินการกระบวนพิจารณาในศาลของจำเลย

          ในการพิจารณาคดีแพ่ง ศาลจะพิจารณาประเด็นตามคำคู่ความของโจทก์และจำเลย  โดยนำข้ออ้าง ข้อเถียง มาเทียบกันดู และสอบถามคู่ความถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาล ข้อเท็จจริงที่ศาลถามแล้วคุ่ความทุกฝ่ายยอมรับกัน ถือว่าเป็นอันยุติไปตามนั้น ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง อีกฝ่ายไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคู่ความ ศาลจะกำหนดไว้ประเด็นข้อพิพาท และกำหนดให้คู่ความ นำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นนั้น 

           ดังนั้น  การทำคำให้การปฏิเสธ โดยไม่มีเหตุปฏิเสธ แม้เป็นประเด็นข้อพิพาท แต่ทำให้จำเลยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบหลักล้างข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ ตามคำปฏิเสธของตนได้ มีผลคือ คำปฏิเสธของจำเลย ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน ทำให้ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ฟังได้ 

           มีคำพิพากษาของศาลฏีกามากมายที่กล่าวถึง คำให้การต้องชัดแจ้ง ดังนี้     

คำพิพากษาศาลฎีกา 1378/2555

        แม้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและละเมิด แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นการฟ้องว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตกแต่งและต่อเติมอาคารพิพาท แล้วจำเลยที่ 1 ทำงานบกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ อันต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยจ้างทำของ จำเลยทั้งสามทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจึงให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ทำงานที่ได้รับจ้างให้โจทก์เรียบร้อยและโจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสามให้การต่อมาโดยตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยทั้งสามต้องกล่าวในคำให้การส่วนนี้ให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้แก่โจทก์เมื่อใด และโจทก์พบความชำรุดบกพร่องของงานที่จ้างวันใด แต่จำเลยทั้งสามกลับให้การในส่วนนี้เพียงว่า โจทก์อ้างว่าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ต่อเติมและตกแต่งอาคารพิพาท 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538 และวันที่ 24 มีนาคม 2538 แล้วจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เช่นนี้ เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าขาดอายุความในเรื่องใด และอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันใด ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความที่คู่ความจะต้องนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกา 1144-1146/2553

        โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยรวม 9 แปลง ชำระราคาครบถ้วนแล้วแต่จำเลยไม่โอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การในตอนแรกว่า โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม แต่กลับให้การในอีกตอนหนึ่งว่า โจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาตกลงกันเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2527 ว่า หนังสือสัญญาที่ทำไว้ก่อนหรือหลังสัญญาฉบับนี้ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ฉะนั้นหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับซึ่งทำขึ้นภายหลังหนังสือสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยได้จึงเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่คำให้การจำเลยเข้าใจได้ว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง และเป็นเพียงข้อเถียงข้อกล่าวหาของโจทก์ว่าจำเลยมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ตามคำฟ้องเท่านั้น จะแปลว่าเป็นคำให้การที่ต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับภายหลังทำหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2527 ไม่ได้ เพราะจำเลยให้การว่าโจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน

คำพิพากษาศาลฎีกา 1375/2546

        คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทไว้ในครอบครองโดยทุจริตนั้นทุจริตอย่างไรก็ไม่ได้กล่าวไว้ชัด ที่ว่าคบคิดกับบุคคลอื่น บุคคลอื่นนั้น เป็นผู้ทรงเช็คคนก่อนหรือไม่ หรือเป็นผู้ใดไม่ปรากฏ ที่ว่าโจทก์ควรรู้ว่าเช็คพิพาทมีการชำระหนี้แล้ว ก็ไม่ใช่คำยืนยันว่าโจทก์รู้ แปลความว่าอาจไม่รู้ก็ได้เช่นกันแล้วให้การว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทมาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจาก ร. โดยคบคิดกันฉ้อฉล จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นพิพาท
                           

 ----------------------------------------------------------------
อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น 24 มกราคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

ขอพิจารณาคดีใหม่ เมื่อพ้น 6 เดือน

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี 


            ขอพิจารณาคดีใหม่ เมื่อพ้น 6 เดือน สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งนักกฎหมายทราบตัวบทกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่จากการสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา พบคำพิพากษาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการขอพิจารณาคดีใหม่ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน ที่ศาลพิจารณาอนุญาตให้ โดยใช้เหตุผลที่เป็นความประสงค์ของคู่ความ มากกว่าการใช้หลักกฎหมายตามตัวบทกฎหมายเพื่อตัดสิทธิจำเลย 

            คำขอพิจารณาใหม่  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา มีหลักกฎหมายว่า " คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ "

            คำขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรานี้ จึงเป็นเรื่องของ จำเลย ที่ขาดนัดยื่นคำให้การยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ ภายหลังศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์  เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ 

            หลักคือ จำเลยต้องมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ หรือมีเหตุผลอันสมควร และจำเลยเห็นว่า จำเลยมีทางที่จะชนะคดีได้ ถ้าได้ยื่นคำให้การและหลักฐาน เพื่อปฎิเสธหรือหักล้างข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์

            เนื้อหาที่จะนำเสนอก็คือ  ระยะเวลาในการยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ซึ่งตามตัวบทกฎหมาย กำหนดให้จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ ต้องยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน 15 วันนับจากวันที่ศาลส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้ามีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน จำเลยสามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ แต่ห้ามมิให้ยื่นคำขอ เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น  คำสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่เป็นที่สุด แต่ถ้าศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

             ตามตัวบท จึงเข้าใจว่า ถ้าพ้นกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ ไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้  แต่ในความจริง มีคำพิพากษาของศาลฎีกา 3607/2561 ได้วางหลักให้สามารถพิจารณาคดีใหม่ ตามคำขอของจำเลยที่ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนได้ ถ้าโจทก์ไม่คัดค้านหรือแถลงคัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย  ทำให้ศาลเห็นว่าคู่ความในคดีนั้นประสงค์จะให้คดีแพ้ชนะกันในเนื้อหาแห่งคดีหาใช่โดยการได้เปรียบกันด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่ความในคดีแพ่งสามารถกระทำได้โดยชอบ  

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2561 

             คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีหมายเลขแดงที่ 208/2555 ของศาลชั้นต้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายอันมีผลทำให้การสมรสระหว่างจำเลยกับนายกำจัดไม่ตกเป็นโมฆะตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ ซึ่งเห็นควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน ในข้อนี้จำเลยฎีกาว่า นายกำจัดนำคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 208/2555 ของศาลชั้นต้นไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่และมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนั้น ยื่นคำขอพิจารณาใหม่เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่นายกำจัดนำคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าอันเป็นการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา และมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง และเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ในเรื่องการพิจารณาคดีใหม่จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะถึงที่สุดแล้ว แต่ก็เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลเพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้นายกำจัดและโจทก์หย่าขาดจากกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสาม และไม่มีผลผูกพันจำเลยซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีระหว่างนายกำจัดกับโจทก์ ดังนั้น ในขณะที่นายกำจัดจดทะเบียนสมรสกับจำเลย จึงมิใช่ทำการสมรสในขณะที่นายกำจัดมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างนายกำจัดกับจำเลยจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 นอกจากนี้หากคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่มีผลเพิกถอนคำพิพากษาที่ให้นายกำจัดกับโจทก์หย่าขาดจากกัน ก็เป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังเช่นก่อนบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสาม และเมื่อนายกำจัดถึงแก่ความตายในเวลาดังกล่าว การที่จะเพิกถอนการสมรสระหว่างนายกำจัดกับจำเลยในคดีนี้ ก็เป็นการพ้นวิสัยที่จะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมดังเช่นก่อนบังคับคดีได้เช่นกันและยังเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการสมรสโดยสุจริตและศาลในคดีดังกล่าวก็มิได้มีคำสั่งใด ๆ ตามที่เห็นสมควรโดยชัดแจ้งเป็นอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสาม
             เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาศาลชั้นต้น ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ในคดีหมายเลขแดงที่ 208/2555 เอกสารท้ายฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การขาดนัดพิจารณามิได้เป็นไปโดยจงใจและมีเหตุอันสมควร ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ จึงให้งดไต่สวนและอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ชี้ให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์ถึงข้อความในคำขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวแล้วว่า ได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะและในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าก็ได้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย อันเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ทั้งการที่นายกำจัด โจทก์ และทนายโจทก์แถลงไม่คัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยในคดีดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าคู่ความในคดีนั้นประสงค์จะให้คดีแพ้ชนะกันในเนื้อหาแห่งคดีหาใช่โดยการได้เปรียบกันด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่ความในคดีแพ่งสามารถกระทำได้โดยชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตามคำแถลงของโจทก์ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หาใช่เป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ นอกจากนี้คดีฟ้องหย่าระหว่างนายกำจัดกับโจทก์ก็เป็นคดีเกี่ยวด้วยสถานะของบุคคลเมื่อนายกำจัดถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อจำเลยยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีดังกล่าวในภายหลังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) จึงไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายโจทก์ในคดีนั้นแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาโดยคู่ความขาดนัดของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 208/2555 และวิธีการบังคับคดีที่ดำเนินไปแล้วนั้น ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 เมื่อคำพิพากษาโดยคู่ความขาดนัดถูกเพิกถอนแล้ว การที่นายกำจัดไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าตามคำพิพากษาดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงถูกเพิกถอนไปด้วย สถานะของบุคคลระหว่างนายกำจัดกับโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นสามีภริยากัน เมื่อจำเลยไปจดทะเบียนสมรสกับนายกำจัดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 อันเป็นเวลาหลังจากมีการเพิกถอนทะเบียนการหย่าระหว่างนายกำจัดกับโจทก์แล้ว จึงเป็นการสมรสในขณะที่นายกำจัดมีคู่สมรสอยู่จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1495 จำเลยไม่อาจอ้างความสุจริตได้ การสมรสระหว่างจำเลยกับนายกำจัดไม่มีผลเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายได้ ทั้งผลแห่งการที่เพิกถอนคำพิพากษาโดยคู่ความขาดนัดดังกล่าว ก็ไม่เป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่จำเลยอ้างเพราะคำพิพากษาที่ถูกเพิกถอนนั้นเกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลและยังมีผลผูกพันบุคคลภายนอกโดยบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า การสมรสระหว่างจำเลยกับนายกำจัดต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

            
            บทสรุป  ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ ทำให้ทนายโจทก์หรือโจทก์ ต้องทำการบ้านให้ดี เพราะจากเดิมชนะคดี แต่ไม่ติตตามคัดค้านคำขอของจำเลยเมื่อมีโอกาส อาจทำให้พลาดท่าเสียหายเสียโอกาสก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

   
----------------------------------------------------------------
อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น มกราคม 2565,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2