วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566

คำให้การต้องชัดแจ้ง

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



        บทความนี้ เสนอเรื่อง คำให้การต้องชัดแจ้ง เป็นการกล่าวถึงคำให้การของจำเลยในคดีแพ่ง ที่แตกต่างจากคำให้การของจำเลยในคดีอาญา โดยในคดีอาญา จำเลยจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ซึ่งตีความรวมถึงจำเลยให้การที่เป็นเท็จในคดีอาญาได้ด้วย ไม่ผิดหลักกฎหมายอะไร เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญา 

          คำให้การของจำเลยในคดีแพ่ง สำคัญต่อการต่อสู้คดี   แต่ถ้าจำเลยให้การเพียงว่า " จำเลยไม่ทราบ และไม่รับรอง " จะมีผลอย่างไร 

          ตามหลักกฎหมาย  คำให้การของจำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น  ดังนั้น คำให้การของจำเลย จึงต้องมีเหตุแห่งการยอมรับและปฏิเสธ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินการกระบวนพิจารณาในศาลของจำเลย

          ในการพิจารณาคดีแพ่ง ศาลจะพิจารณาประเด็นตามคำคู่ความของโจทก์และจำเลย  โดยนำข้ออ้าง ข้อเถียง มาเทียบกันดู และสอบถามคู่ความถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาล ข้อเท็จจริงที่ศาลถามแล้วคุ่ความทุกฝ่ายยอมรับกัน ถือว่าเป็นอันยุติไปตามนั้น ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง อีกฝ่ายไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคู่ความ ศาลจะกำหนดไว้ประเด็นข้อพิพาท และกำหนดให้คู่ความ นำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นนั้น 

           ดังนั้น  การทำคำให้การปฏิเสธ โดยไม่มีเหตุปฏิเสธ แม้เป็นประเด็นข้อพิพาท แต่ทำให้จำเลยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบหลักล้างข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ ตามคำปฏิเสธของตนได้ มีผลคือ คำปฏิเสธของจำเลย ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน ทำให้ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ฟังได้ 

           มีคำพิพากษาของศาลฏีกามากมายที่กล่าวถึง คำให้การต้องชัดแจ้ง ดังนี้     

คำพิพากษาศาลฎีกา 1378/2555

        แม้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและละเมิด แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นการฟ้องว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตกแต่งและต่อเติมอาคารพิพาท แล้วจำเลยที่ 1 ทำงานบกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ อันต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยจ้างทำของ จำเลยทั้งสามทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจึงให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ทำงานที่ได้รับจ้างให้โจทก์เรียบร้อยและโจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสามให้การต่อมาโดยตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยทั้งสามต้องกล่าวในคำให้การส่วนนี้ให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้แก่โจทก์เมื่อใด และโจทก์พบความชำรุดบกพร่องของงานที่จ้างวันใด แต่จำเลยทั้งสามกลับให้การในส่วนนี้เพียงว่า โจทก์อ้างว่าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ต่อเติมและตกแต่งอาคารพิพาท 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538 และวันที่ 24 มีนาคม 2538 แล้วจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เช่นนี้ เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าขาดอายุความในเรื่องใด และอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันใด ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความที่คู่ความจะต้องนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกา 1144-1146/2553

        โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยรวม 9 แปลง ชำระราคาครบถ้วนแล้วแต่จำเลยไม่โอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การในตอนแรกว่า โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม แต่กลับให้การในอีกตอนหนึ่งว่า โจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาตกลงกันเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2527 ว่า หนังสือสัญญาที่ทำไว้ก่อนหรือหลังสัญญาฉบับนี้ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ฉะนั้นหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับซึ่งทำขึ้นภายหลังหนังสือสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยได้จึงเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่คำให้การจำเลยเข้าใจได้ว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง และเป็นเพียงข้อเถียงข้อกล่าวหาของโจทก์ว่าจำเลยมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ตามคำฟ้องเท่านั้น จะแปลว่าเป็นคำให้การที่ต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับภายหลังทำหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2527 ไม่ได้ เพราะจำเลยให้การว่าโจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน

คำพิพากษาศาลฎีกา 1375/2546

        คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทไว้ในครอบครองโดยทุจริตนั้นทุจริตอย่างไรก็ไม่ได้กล่าวไว้ชัด ที่ว่าคบคิดกับบุคคลอื่น บุคคลอื่นนั้น เป็นผู้ทรงเช็คคนก่อนหรือไม่ หรือเป็นผู้ใดไม่ปรากฏ ที่ว่าโจทก์ควรรู้ว่าเช็คพิพาทมีการชำระหนี้แล้ว ก็ไม่ใช่คำยืนยันว่าโจทก์รู้ แปลความว่าอาจไม่รู้ก็ได้เช่นกันแล้วให้การว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทมาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจาก ร. โดยคบคิดกันฉ้อฉล จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นพิพาท
                           

 ----------------------------------------------------------------
อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น 24 มกราคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น