วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ถูกสืบสวนข้อเท็จจริงหรือถูกสอบสวนวินัย ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งได้หรือไม่

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


        ถูกสืบสวนข้อเท็จจริงหรือถูกสอบสวนวินัย ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งได้หรือไม่ ถ้าเป็นนักกฎหมายหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่นิติกรของหน่วยงาน ย่อมทราบคำตอบเป็นอย่างดี แต่ในฐานะของผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกแต่งต้ังคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือถูกแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัย ก็มีความคับข้องใจอยากที่จะนำเรื่องไปฟ้องคดี เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจากการถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีผลมาจากการถูกร้องเรียนกล่าวหา ซึ่งอาจจะมีมูลหรือไม่มีมูลความจริง แต่รู้สึกอับอายและมีความวิตกกังวลพอสมควร

         การสืบสวนข้อเท็จจริง เป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียน เพื่อที่จะทราบรายละเอียดของเรื่องและหลักฐาน นำมาพิจารณาพิเคราะห์ว่ามีมูลกรณีที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยหรือไม่ ขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริงอจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน ยังไม่เป็นการกระทำที่กระทบสิทธิต่อผู้ที่ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง  ยังไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 638/2547) 

        ผู้ที่ทำหน้าที่กรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแต่งตั้งนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติของเป็นคณะกรรมการไว้  เจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจ พิจารณาแต่งตั้งได้ตามความเหมาะสม  แต่ก็อาจถูกคัดค้านในเรื่องในของความเป็นธรรมและเป็นกลางได้ เพราะหากกรรมการไม่มีความเป็นธรรม ไม่เป็นกลาง ข้อเท็จจริงและหลักฐานที่รวบรวมได้อาจไม่ถูกต้องแท้จริงตามเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นของคณะกรรมการสืบสวน ถ้าไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนในการทำความเห็นดังกล่าว ก็ไม่อาจรับฟังและเชื่อถือได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการทำความเห็นนอกเหนือไปจากพยานหลักฐาน  แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เชื่อตามความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ทำความเห็นนอกเหนือจากพยานหลักฐาน จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการทางวินัย จะมีผลเป็นการกระทำสิทธิหรือไม่ 

(คลิกโฆษณา)

        คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการทางวินัย เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา เพื่อทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิด เพื่อจะลงโทษผู้กระทำผิด ถือเป็นขั้นตอนการดำเนินการก่อนมีคำสั่งลงโทษ จึงยังไม่เป็นกระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 177/2546)และคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 733/2548) ดังนั้น แม้ผู้สั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เชื่อความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ทำความเห็นชี้มูลกรณีนอกเหนือไปจากพยานหลักฐาน จนมีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมกรสอบสวนทางวินัย ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังไม่ได้รับการกระทบสิทธิ เนื่องจากในการสอบสวน ผู้ถูกกล่าวหายังได้รับสิทธิประโยชน์จากราชการเหมือนเดิม และยังมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้

        ถ้าคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เกิดจากเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีอำนาจแต่งตั้ง หรือแต่งตั้งกรรมการที่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนด เมื่อเป็นเช่นนี้ ถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มีผลเป็นการกระทำกระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.28/2547) โดยการใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการและขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ทั้งต้องไม่เป็นการกระทำโดยการกลั่นแกล้งหรือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ หากการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งนั้นต่อศาลได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 310 /2545)

        ดังนั้น การถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัย ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งได้หรือไม่ ก็เป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยของศาลที่กล่าวไว้ข้างต้น