วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ละทิ้งหน้าที่ราชการ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

        ละทิ้งหน้าที่ราชการ  เป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยในหน่วยงานราชการ ที่ต้องมีการตรวจสอบเหตุอันสมควรของการละทิ้ง เพื่อวินิจฉัยถึงการกระทำผิดวินัย การละทิ้งหน้าที่ราชการจะเป็นการกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรงหรืออย่างร้ายแรง ต้องพิจารณาว่าข้าราชการนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ พิจารณาเหตุแห่งการละทิ้งและความเสียหายกับทางราชการมาประกอบกัน และเมื่อเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่เหตุอันสมควรหรือขาดราชการ จะเป็นเหตุให้ต้องงดจ่ายเงินเดือนในวันละทิ้ง และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนเงินเดือนด้วย 

        ละทิ้งหน้าที่ราชการ ในส่วนของการมาหรือไม่มาปฏิบ้ติราชการ เช่น ไม่มาปฏิบัติราชการ โดยไม่แจ้งเหตุ ไม่ได้ลา หรือมาลงชื่อปฏิบัติราชการแล้ว แต่ตัวไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในหน่วยงานราชการนั้น เป็นต้น  การละทิ้งหน้าที่ราชการ ในส่วนของการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ แล้วไม่ปฎิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย ก็ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการเช่นเดียวกัน โดยถ้าไม่มีเหตุอันสมควร เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง แต่ถ้าเกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

        การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  โดยถือเป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยได้ โดยจะงดการสอบสวนก็ได้ แต่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาหรือสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา เพื่อให้โอกาสให้ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานนั้นได้  เช่น ถ้าเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา จะเป็นความผิดตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง พ.ศ.2549 เป็นต้น

        การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 15 วัน นั้น สำนักงาน กพ.ได้เคยมีหนังสือตอบข้อหารือ ตามหนังสือสำนักงาน กพ.ที่ นร 0709.2/28 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 เรื่อง หารือแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535  โดยให้นับวันละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันทุกวัน โดยนับรวมวันหยุดราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างวันละทิ้งหน้าที่ราชการด้วย ดังนั้น หากละทิ้งหน้าที่ราชการตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 16 ของเดือนนั้นๆ  ก็จะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกิน 15 วันโดยนับรวมวันหยุดราชการเข้าไปด้วย 

        การลงโทษข้าราชการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่กลับมาอีกเลย มีมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536 เรื่อง ขอปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงบางกรณี  ให้พิจารณาลงโทษไล่ออกจากราชการ

       การออกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ให้มีคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปถึงวันที่ละทิ้งวันแรกและไม่กลับมาอีกเลย ตามหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 0709.1/235 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 เรื่อง หารือการออกคำสั่งไล่ออกจากราชการย้อนหลัง ถ้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2548 ข้อ 6 (2) ให้ไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันที่ละทิ้งหน้าที่ราชการ 

       การละทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุอันควรหรือหนีราชการ ห้ามมิให้จ่ายเงินเดือนในวันที่ละทิ้งหน้าที่ราชการหรือหนีราชการดังกล่าว ตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2535 ข้อ 16 

        ดังนั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งแล้วว่าข้าราชการละทิ้งหน้าที่ราชการในวันใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องห้ามมิให้จ่ายเงินเดือนในวันที่ละทิ้งตามกฎหมายดังกล่าว  ซึ่งหน่วยงานต้องรีบดำเนินการตรวจสอบเหตุอันสมควรของการละทิ้ง โดยอาจพิจารณาให้งดจ่ายเงินเดือนระหว่างที่ละทิ้งไว้เพื่อตรวจสอบเหตุอันสมควรของการละทิ้ง เนื่องจากว่ากว่าที่จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัยเสร็จสิ้น หากไม่มีการงดเบิกจ่ายเงินเดือนไว้ก่อน จะทำให้ต้องติดตามเงินเดือนหรือเงินอื่นๆที่จ่ายไปแล้วคืน  

        กรณีที่เป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่กลับมาอีกเลย หากมีการจ่ายเงินเดือนให้กับผู้ละทิ้งหน้าที่ราชการไปแล้ว ต้องติดตามเอาเงินคืน หากติดตามเอาเงินคืนมาไม่ได้ ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ เพื่อหาตัวเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินที่จ่ายไปแล้วคืนราชการต่อไป 

       ข้าราชการที่ละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร จะไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนในรอบนั้นๆ ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการประเภทต่างๆ เช่น ตามกฎ ก.พ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ.2552 ,กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2561 เป็นต้น

        กรณีข้าราชการขอลาออก โดยประสงค์ขอลาออกในวันที่ยื่นหนังสือลาออก แล้วไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการอีกเลย มีหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 0709.2/673 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2541 เรื่อง ขอหารือข้อราชการ โดยให้ถือว่าหนังสือขอลาออกจากราชการดังกล่าว เป็นหนังสือขอลาออกที่สมบูรณ์ ตามระเบียบ และผู้บังคับบัญชามีอำนาจอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ขอลาออกได้ กรณีเช่นนี้ การที่ข้าราชการยื่่นหนังสือขอลาออกโดยประสงค์ขอลาออกในวันที่ยื่นหนังสือและไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการอีกเลยจึงไม่เป็นการกระทำผิดวินัยฐานละทิ้งหน้าที่ราชการ

------------------------------------------------------------------------------        

อ้างอิง

                ตอบข้อหารือเกี่ยวกับวินัยข้าราชการพลเรือนตาม พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2541-2545) | สำนักงาน ก.พ. (OCSC) ,สืบค้น 12 พฤษภาคม 2566,จาก https://www.ocsc.go.th/discipline/ตอบข้อหารือ-วินัยข้าราชการ/พรบ/2541-2545