วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์ฉบับปี2565

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


          จะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำเป็นต้องรู้ว่าสัญญาเช่าซื้อมีผลในเรื่องใดบ้าง เพราะเชื่อได้ว่าผู้เช่าซื้อมักไม่ค่อยอ่านเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ เมื่อเกิดปัญหาแล้วค่อยมานั่งอ่านทำความเข้าใจและตีความ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เป็นข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับกฎหมายครองผู้บริโภค ในที่นี้คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อสัญญาเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบผุ้บริโภค คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีการประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  ฉบับ พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศ  โดยยกเลิก ฉบับ พ.ศ.2561  โดยมีรายละเอียด คือ

        1.ใช้กับการเช่าซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานต์ เพื่อใช้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น โดยไม่นำไปใช้ทำการขนส่ง เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง หรือเพื่อสินจ้าง

        2.ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ  เฉพาะเงินที่เรียกเก็บเพื่อเป็นการติดตามทวงถามหนี้เงินค่างวดเช่าซื้อ ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ ไม่รวมถึงค่าติดตามเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์กลับคืนของผู้ให้เช่าซื้อ

        3.อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate ) หมายความว่า อัตราดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้น คงเหลือในแต่ละงวด  

        4.สัญญาต้องมีรายละเอียด ยี่ห้อ รุ่น หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง สภาพรถว่ารถใหม่หรือใช้แล้ว และระยะทางที่ได้ใช้แล้ว เป็นกิโลเมตรหรือไมล์ ภาระผูกพัน(ถ้ามี)  ราคาเงินสด เงินจอง เงินดาวน์ เงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อไป จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนเงินค่าเช่าซื้อ ที่ผ่อนชำระในแต่ละงวด จำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด เริ่มชำระค่างวดแรกในวันที่ และชำระค่างวดต่อ ๆ ไปภายในวันที่
            ในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไว้เป็นการเฉพาะ ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate ) ดังนี้
            กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบต่อปี
           กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี 
           กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละยี่สิบสามต่อปี
           โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุกสามปี
           วิธีคำนวณจำนวนเงินค่าเช่าซื้อ  จำนวนค่าเช่าซื้อ จำนวนดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด ตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ที่แสดงรายละเอียดจำนวนงวดค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระ วันเดือนปีที่ชำระโดยแยกเป็นเงินต้น ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำนวนเงินค่าเช่าซื้อคงค้าง โดยแยกเป็นเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ รวมทั้งจำนวนส่วนลด ที่ผู้เช่าซื้อจะได้รับ 

         5.เมื่อผู้เช่าซื้อ ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บได้ ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าซื้อทันที

         6.ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิก สัญญาเช่าซื้อได้ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดรายงวดสามงวดติด ๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ใช้ค่าเช่าซื้อรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น 

        7. ในกรณีที่กฎหมายหรือสัญญาให้ผู้ให้เช่าซื้อส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือ   จะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในสัญญา หรือที่อยู่ที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือครั้งหลังสุด เว้นแต่กรณี ประสงค์จะขอรับเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์  

        8.กรณีขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อปิดบัญชี  ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลด ดังนี้ กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่เกินหนึ่งในสามของค่างวดที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับ ส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ   กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามแต่ไม่เกินสองในสามของค่างวดที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ70 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดช าระ  กรณีชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่าสองในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

        9.กรณีการขาย เมื่อเลิกสัญญาเช่าซื้อ โดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อ มีหน้าที่ดำเนินการ 
           1) มีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้ใช้สิทธิซื้อก่อนภายในระยะเวลา20 วันได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณตาม ข้อ 8  แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช้สิทธิดังกล่าว ภายในระยะเวลาให้ผู้ค้ำประกันใช้สิทธินั้น โดยให้ผู้ค้ำประกันได้รับสิทธิ เช่นเดียวกับผู้เช่าซื้อ ทั้งนี้ ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันอาจโอนสิทธิให้บุคคลภายนอกได้
               กรณีผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้เช่าซื้อต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุ ของการไม่ได้แจ้งแก่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกัน มูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อส่วนที่ขาด เป็นค่าเช่าซื้องวดที่ผิดนัด ค่าเช่าซื้องวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อก่อนมีการบอกเลิกสัญญา 
            2) มีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15วันก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาด ในหนังสือแจ้งนั้นอย่างน้อยต้องระบุชื่อผู้ทำการขาย วันและสถานที่ที่ทำการขายในแต่ละครั้งไว้ในหนังสือฉบับเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ เฉพาะการประมูลหรือ ขายทอดตลาดครั้งแรก ให้ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งราคาที่จะขายให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบด้วย และห้ามปรับลดราคาดังกล่าว เว้นแต่จะได้มีหนังสือแจ้งราคาที่จะปรับลดนั้นให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน ทราบก่อน
                 กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายตามวรรคหนึ่ง หากได้ราคา เกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ  ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงิน ส่วนที่เกินนั้น ให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาด เป็นค่าเช่าซื้องวดที่ผิดนัด ค่าเช่าซื้องวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อก่อนมีการบอกเลิกสัญญา 
            3) มีหนังสือแจ้งชื่อผู้ทำการขาย วัน สถานที่ที่ทำการขาย ราคาที่ขายได้ และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็น และมีเหตุผลอันสมควร รวมทั้งจำนวนเงินส่วนเกินที่คืนให้แก่ผู้เช่าซื้อ หรือจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อ ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ให้ผู้เช่าซื้อทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทำการขาย ทั้งนี้ ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระหลังจากที่บอกเลิกสัญญา กับผู้เช่าซื้อ
             4) กรณีจะนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายโดยวิธีประมูลหรือ ขายทอดตลาดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการเข้าร่วมประมูลหรือ การขายทอดตลาดของผู้ให้เช่าซื้อด้วย 

         10 ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เข้าสู้ราคาไม่ว่าโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดรถยนต์หรือ รถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม 

        โดยสรุป ตามประกาศฉบับปี พ.ศ.2565 เป็นการออกมายกเลิกฉบับปี พ.ศ.2561 ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดไม่ต่างจากฉบับเดิม เพิ่มเติมในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงใช้แบบลดต้นลดดอก โดยไม่มีคำว่า "เช่นเดียวกับการคํานวณดอกเบี้ย สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย" แต่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้ว และอัตราดอกเบี้ยรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะทำให้เป็นข้อสัญญาเป็นธรรมต่อผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภค เพื่อไม่ให้ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ  
        ในกรณีที่สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจ ออกให้แก่ผู้บริโภค ไม่ใช้ข้อสัญญาให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมสัญญาประกาศนี้  ถือว่าสัญญานั้นใช้ข้อสัญญาตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมสัญญาประกาศ  และถ้ากำหนดให้สัญญาต้องไม่ใช้ข้อสัญญาใดที่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเกินสมควร หรือใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  แต่มีการใช้สัญญานั้น ถือว่าสัญญานั้นไม่มีข้อสัญญาเช่นว่านั้น (มาตรา 35 ตรี และ มาตรา 35 จัตรา แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

  -- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- 

         อ้างอิงจาก

                 ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ,สืบค้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ,จาก  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/245/T_0026.PDF.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น