วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

การบังคับจำนอง (กฎหมายแพ่ง)

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


การบังคับจำนอง

         การบังคับจำนอง  มีหลักฎหมายกำหนดขั้นตอนการบังคับจำนองไว้ การทำไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมาย มีผลอย่างไร ต้องไปทำความเข้าใจกัน

         จำนอง(702) เป็นสัญญาที่ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง  

         ผู้จำนอง จะจำนองทรัพย์สินของตนจำนองเพื่อประกันหนี้ของตนเอง (702) หรือจำนองเพื่อประกันหนี้ของบุคคลอื่นก็ได้(709)  โดยผู้เป็นเจ้าของในขณะจำนองเท่านั้นที่จะจำนองได้ (705)  สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์ซึ่งจำนอง(704) ต้องมีจำนองเงินระบุไว้เป็นเงินไทยจำนวนตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองตราไว้เป็นประกัน (708)  ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลหนึ่ง จะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้ (712) โดยสัญญา จำนอง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่(714) เป็นกรณีกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ เป็นโมฆะ (152) ซึ่งโมฆะกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ (172) 

        กรณี สัญญาจำนองที่ทำกันไว้เป็นหนังสือ แต่ไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ยึดโฉนดตัวจริงไว้ ไม่ถือว่าเป็นการจำนองตามกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ที่อาจจะอ้างเนื้อความในสัญญาให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในภายหน้าได้ 

          คำพิพากษาศาลฎีกา 6065/2565 อันโมฆะกรรมนั้นเป็นการกระทำที่เสียเปล่า ไม่มีผลอย่างใดในทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้มีส่วนได้เสียไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีที่ทำนิติกรรมเท่านั้น แต่บุคคลใดที่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 ของศาลชั้นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์  โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่เป็นโมฆะ โดยไม่จำต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียก่อน

          ทรัพย์ที่จำนอง (703)ได้แก่อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนแล้วตามกฎหมาย เช่น เรือมีระวางต้ังแต่ห้าตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ(ช้าง ม้า วัว ควาย ล่อ ลา) สังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จดทะเบียนเฉพาะการ เช่น

           รถยนต์ที่จะทะเบียนแล้ว รถพ่วง รถบดถนน รถแทรคเตอร์ที่จดเบียนแล้ว ให้เป็นทรัพย์สินประเภทจดจำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ โดยการจำนองต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด และต้องจดทะเบียนจำนองต่อนายทะเบียน  ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1  แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 15 พ.ศ.2551                 สิทธิการเช่าที่เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมที่กำหนดเวลาเช่าไว้เกิน 30ปีแต่ไม่เกิน 50 ปี ตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม พ.ศ.2542
           เรือที่มีขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป ที่เดินด้วยเครื่องจักรกล และเป็นเรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทางทะเล พ.ศ.2537
           เครื่องจักร ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2514 มาตรา 5 บัญญัติให้เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินีั้ให้ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ตามมาตรา 703(4)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้นำมาตรา 1299 มาตรา 1300 มาตรา 1301 มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

            การบังคับจำนอง (728) เป็นกรณีที่หนี้ถึงกำหนดชำระแล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ผู้รับจำนองต้องการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่จำนอง ซึ่งต้องทำดังนี้ 

            1.ผู้รับจำนองมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น 

           2.ถ้าบอกกล่าวแล้ว ลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว คือไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่เจ้าหนี้กำหนด  ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดได้ 

            3.ถ้าผู้จำนองเอาทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นที่ต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้จำนองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลา 15 วัน ให้ผู้จำนองหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น นับแต่วันที่พ้นกำหนด 15 วัน

            กรณีผู้ซื้อทรัพย์ที่ติดจำนองจากการขายทอดตลาด ก็ต้องชำระหนี้จำนองให้ผู้รับจำนองตามคำบอกกล่าวให้ชำระหนี้จำนอง 

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่2191/2564 จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรโดยติดจำนองและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องถือว่าผู้จำนองเดิมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป และจำเลยได้สิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 และโจทก์ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 735 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองและควรทราบถึงภาระหนี้จำนองมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง จึงต้องชำระหนี้จำนวนรวม 2,650,000 บาท พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญาจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 ประกอบมาตรา 738 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้จำนองรับผิดชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจึงต้องรับผิดไม่เกินกว่าภาระหนี้จำนองของผู้จำนองดังกล่าว

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1148/2564   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 (เดิม) ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษากำหนดไว้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้ว การดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย แม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นตามคำนิยามของมาตรา 280 (1) (เดิม) แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบตามบทบัญญัติมาตรา 306 (เดิม) นั้น ต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดโดยต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าจะปรากฏทางทะเบียนหรือโดยประการอื่นก็ตาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศขายทอดตลาดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด 

           กรณีที่บังคับจำนองได้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล (729/1 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ) เป็นกรณีที่ผู้จำนองมีหนังสือแจ้งแก่ผู้รับจำนองให้เอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล โดยมีเงื่อนไข

           1.หนี้ถึงกำหนดชำระ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์อันเดียวกัน และผู้จำนองแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้ผู้จำนองดำเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง โดยไม่ต้องส่งฟ้องเป็นคดีต่อศาล
          2.ผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น
          3.ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จำนองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด
          4.กรณีผู้รับจำนองไม่ได้ดำนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จำนองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันพ้นกำหนดดังกล่าว (แต่ยังต้องรับผิดในหนี้ที่จำนองไว้เป็นประกันอยู่) 
          5.เมื่อผู้รับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนอง ได้เงินสุทธิเท่าใด ผู้รับจำนองต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ามีเงินเหลือต้องส่งคืนผู้จำนอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

             แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ให้เป็นไปตาม 733 คือ เงินขาดจำนวนเท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น และในกรณีที่ผู้จำนอง เอาทรัพย์จำนองประกันหนี้บุคคลอื่น ผู้จำนองรับผิดเพียงเท่าที่ 727/1 กำหนดไว้ คือไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์ที่จำนองในเวลาบังคับจำนอง หรือเอาทรัพย์จำนองหลุด โดยข้อตกลงที่ให้ผู้รับจำนอง รับผิดเกินกว่าที่กำหนด( 727/1 ว 1)  หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก  

           เจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องให้บุคคลอื่น และแจ้งการโอนให้ลูกหนี้ทราบแล้ว(306) ถือว่าการโอนหนี้ประธานสมบูรณ์ตามกฎหมาย สิทธิจำนอง จำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกียวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้น สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้น ตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย(305)เจ้าหนี้ที่เป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิบังคับจำนองได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา2260/2562 ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงแต่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ หาได้กำหนดบังคับไม่ว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ความว่า ธ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อ ธ. ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้ต้องถือว่า การโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำตามแบบพิธีการ ด้วยการทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องคือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ส่วนมาตรา 6 พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่น ก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่าง ธ. กับโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (1)
         ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาท ถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ   
           เมื่อ ม. ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ม. ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจาก ธ. รับโอนหนี้จาก ม. จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 6 และมาตรา 95

            แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ข้อ 6 ระบุว่า "เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ" แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่าหนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น

             ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อน จึงจะบังคับจำนองได้ (735)
             ผู้ซื้อทรัพย์ที่ติดจำนอง(ผู้รับโอนทรัพย์จำนอง) ไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่เกินกว่าราคาทรัพย์ที่จำนอง แต่ทรัพย์สินที่จำนองย่อมประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ด้วย ถ้าสัญญากำหนดดอกเบี้ยของต้นเงินไว้ ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลผูกพันผู้ซื้อทรัพย์จำนองด้วย  แต่บังคับให้ชำระดอกเบี้ยย้อนหลังเกิน 5 ปีไม่ได้  

               คำพิพากษาศาลฏีกา3259/2562 จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้
              ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27

        เจ้าหนี้จำนอง เป็นผุ้มีทรัพย์สิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำนอง มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ และมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ ไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้ในคดีล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้ปลดจากการล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้จำนองยังมีสิทธิบังคับจำนองอยู่ 

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้

           ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดแทนการขายทอดตลาดได้(729) เมื่อ

           1.ลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ยมาเป็นเวลาถึง 5 ปี และ

           2.ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินจำนอง นั้นน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ

           ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์มีประมาณราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น (733)  

            ถ้าตกลงกันไว้เสียก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่าถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผุู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอืนอ่างใด นอกจากบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนอง ข้อตกลงนั้นไม่สมบูรณ์(711) บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากมาตรา 728 (การบังคับจำนอง)  มาตรา 729 (การเอาทรัพย์จำนองหลุด) และ มาตรา 735 (การบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนอง) เป็นโมฆะ

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3613/2564  โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันและในวันทำสัญญาจำนองจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้า มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนอง และเมื่อโจทก์ผิดนัดชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปโอนที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เสียเอง จึงไม่เป็นไปตามบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนองและเป็นผลให้ข้อตกลงที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่และพาณิชย์ มาตรา 728 729 735 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 714/1 ไม่อาจใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่อาจนำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปใช้เป็นหลักฐานในการโอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ปัญหาว่าข้อตกลงที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 729 และ 735 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 714/1 เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ปวิพ.142(5)ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252   

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

  อ้างอิงจาก

                  คำพิพากษาศาลของฎีกา , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 23-25 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น