วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารผิดอาญา

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

         

    
        รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารแล้ว ให้บัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มให้กับผู้ว่าจ้างไปใช้ประโยชน์อื่นใดหรือนำไปใช้ทำธุรกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับจ้างเปิดบัญชีมีความผิดอย่างไร ถือว่ารู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของผู้นำบัญชีไปใช้หรือไม่ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

         ผู้รับจ้างเปิดบัญชี ตกอยู่ข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าพิสูจน์ในแนวทางว่าตนเป็นเพียงผู้รับจ้างเปิดบัญชี ก็ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้รู้เห็นในความผิดฉ้อโกง แต่เมื่อบัญชีที่เปิดให้ผู้ว่าจ้างนำไปใช้ในการฉ้อโกง ผู้รับจ้างเปิดบัญชีย่อมเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้จะเข้าข่ายเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3385/2563
        จำเลยทั้งสองถูกฟ้องว่า เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิด แหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริง คดีนี้มีความเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ ซึ่งมีลักษณะกระทำความผิดเป็นเครือข่าย มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการมอบหมายหน้าที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งพยายามปิดบังเส้นทางการเงินเพื่อมิให้เจ้าพนักงานเข้าถึงตัวผู้กระทำความผิด ตามรูปคดีจึงเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยานดังเช่นคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น จำต้องอาศัยพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เมื่อคดีนี้โจทก์มีพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ และมีสาระสำคัญตรงกับเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ทั้งเมื่อพิจารณาพยานเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่ามีเงินหมุนเวียนผ่านเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนมากผิดปกติเกือบ 30 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริตใดจึงมีเงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวนมากเช่นนี้ อีกทั้งมีลักษณะเป็นการนำเงินเข้าและถอนออกจากบัญชีอย่างรวดเร็วส่อให้เห็นพิรุธ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังโอนและรับโอนเงินจากบัญชีของบุคคลอื่นอีกหลายบัญชีโดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปของเงินอย่างชัดเจน และจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของ ซ. พบว่าเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 หลังจากถูกอายัดบัญชีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 พบว่าในการทำธุรกรรมทางบัญชีมีเงินหมุนเวียนมากถึง 400 ล้านบาทเศษ โดย ซ. ทำธุรกรรมทางบัญชีด้วยตนเองทุกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าชี้แจงถึงที่มาของเงินในบัญชีตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานตำรวจ ผิดวิสัยของสุจริตชนเช่นเดียวกัน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวของ ซ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินค่ายาเสพติดให้โทษของเครือข่าย ฐ. กับพวก เช่นกัน ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่ารับจ้างเปิดบัญชีให้กับ ธ. เครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กรณียังปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังถูกฟ้องข้อหาสมคบกันฟอกเงินในลักษณะเดียวกันอีกหลายสำนวน ตามคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งบางคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว อันเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการสมคบกันฟอกเงิน สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในการกระทำความผิดคดีนี้ของจำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2) เพราะการกระทำความผิดในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหลายขั้นตอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ร่วมกระทำความผิดบางคนอาจไม่รู้จักกัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วทำให้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริงตามฟ้อง

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2563
         นางสาว ก.ถูกคนร้ายร่วมกันหลอกหลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น โจทก์ร่วมหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของบุคคลที่จำเลยที่ 5ถึง7 ว่าจ้างให้เปิดบัญชีธนาคารและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเบิกถอนเงินสด โจทก์ฟ้องจำเลยที่5ถึง7 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด แต่จำเลยที่ 5 อ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 หลอกหลวงให้คนมาเปิดบัญชีเงินฝากโดยจำเลยที่1 จะนำไปดำเนินการใช้ในการดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติ ส่วนจำเลยที่6 ถึง 7 อ้างว่าถูกจำเลยที่5 ชักชวนให้หาคนมาเปิดบัญชีเพื่อให้คนต่างชาติโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อทำธุรกิจอีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที 5 ถึง 7 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำบัญชีเงินฝากไปำระทำความผิด แต่จำเลยที่ 5ถึง7ให้การในชั้นสอบสวนว่าได้รับค่าจ้างให้หาคนมาเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าของบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดกฎหมาย จำเลยที่5ถึง7จะอ้างว่าถูกหลอกใช้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่5ถึง7 จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเบิกถอนเงินสดของผู้อื่นโดยมิชอบ


           การรับจ้างเปิดบัญชี เพื่อนำไปให้ในการฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ หรือเปิดบัญชีเพื่อให้ผู้อื่นโอนเงินที่เกิดจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่105/2561
            การที่จำเลยถอนเงินเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝากรวม 9 ครั้ง ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป.เพื่อนไปให้ ต.ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ กับพวกถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2562 มาตรา 5(2) มาตรา 60

            ความผิดฟอกเงิน ไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีในความผิดมูลฐานก่อน

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9092/2553
            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่าในวัน เวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายมะขาม นำเงินจำนวน 1,000,000 บาท ฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซีคอนสแควร์โอนไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโพนพิสัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกับนายมะขามร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่นั้น ผู้กระทำต้องปกปิดเป็นความลับวางแผนการติดต่อซื้อขายรับส่งยาเสพติดและชำระเงินกันอย่างละเอียด ทั้งหลีกเลี่ยงการยึดถือยาเสพติดและเงินที่ได้มาจากการขายไว้เอง จึงยากแก่การหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนมั่นคงมานำสืบเอาผิดกับคนร้ายได้ จำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธในการกระทำของผู้นั้น แม้ไม่มีการดำเนินคดีแก่นายมะขามในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยตรงและความผิดฐานฟอกเงินของนายมะขามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงซึ่งเจ้าพนักงานสืบสวนได้ความมาตามคำเบิกความของพันตำรวจโทชมพู่์และคำให้การในชั้นสอบสวนของนายชมนาดซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมซึ่งทำให้น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาวดำ นายมะม่วง และนายทองหลาง ซึ่งเป็นพี่น้องและบิดาของนายมะขามได้ความตรงกันว่า นายมะขามไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นใด นอกจากเปิดอู่พ่นสี ล้างรถตามบันทึกคำให้การ ซึ่งไม่น่าจะทำให้มีรายได้มากนัก ทั้งนายมะขามไม่ใช่คนมีฐานะดีมาก่อน แต่เจ้าพนักงานยึดทรัพย์สินของนายมะขามได้มากมาย ทั้งเงินสด เงินฝากธนาคาร ที่ดิน รถยนต์และทรัพย์สินอื่น ๆ ตามบัญชีของกลางคดีอาญา เห็นได้ชัดว่ามีมากเกินฐานะและความสามารถในการหามาได้หากประกอบอาชีพสุจริต ขณะเจ้าพนักงานเข้าตรวจยึดทรัพย์สินของนายยมหินและของนายมะขาม นายมะขามก็ไม่อยู่เพื่อแสดงหลักฐานพิสูจน์ถึงที่มาของทรัพย์สินของตน กลับหลบหนีไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนางเหลือง เพียงพอให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่านายมะขามเกี่ยวข้องและมีรายได้จำนวนมาก จากการลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในละแวกจังหวัดสมุทรปราการ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าก่อนการโอนเงินรายนี้ 2 เดือน เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านของนายมะขามที่จังหวัดเพชรบูรณ์และยึดทรัพย์สินหลายรายการ รวมทั้งเงินสดจำนวนมากถึง 1,350,000 บาท แม้ในเวลาต่อมานางเหลืองจะได้เงินจำนวนดังกล่าวคืนไป แต่เชื่อว่าเป็นเหตุให้นายมะขามต้องรีบยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้พ้นจากการตรวจยึด สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 นางสาวดำน้องของนายมะขามนำเงินจำนวน 500,000 บาท ฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสายลวดเพื่อโอนไปเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโพนพิสัย จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่นายมะขามโอนให้แก่จำเลยเป็นเงินที่นายมะขามได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเลิกร้างกับนายมะขามแล้วฟังไม่ขึ้นเพราะขัดแย้งกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนดังที่วินิจฉัยมา จำเลยซึ่งยังเป็นภริยาของนายมะขาม อยู่กินด้วยกันมานานถึงสิบกว่าปีและมีบุตรด้วยกันสองคน ย่อมต้องทราบดีว่านายมะขามได้เงินจำนวนดังกล่าวมาอย่างไร ประกอบกับที่ฟังได้ว่า หลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน จำเลยก็ถอนเงินจำนวน 1,500,000 บาท ออกจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว ล้วนเป็นพิรุธที่ทำให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยทราบดีว่าเงินที่รับโอนจากนายมะขามเป็นเงินที่นายมะขามได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า คดีความผิดมูลฐานไม่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยหรือนายมะขามในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษก็ดี ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3227/2548 ของศาลชั้นต้นที่นายมะขามถูกฟ้องในความผิดฐานฟอกเงินจำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้วก็ดีนั้น เห็นว่า เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับพวกฟอกเงินตามฟ้อง ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยได้ กรณีไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องมีการดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ ทั้งในการพิพากษาคดีอาญาก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน


หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
             การกระทำความผิดฉ้อโกง มีองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้หลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

              ความผิดฉ้อโกง เป็นความผิดอาญาอันยอมความได้ (ปอ.ม.348) ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด(ปอ.ม.96) เพื่อมิให้ขาดอายุความ ซึ่งความผิดฉ้อโกงมีอายุความดำเนินคดี โดยต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดไปยังศาลภายในสิบปี นับแต่วันที่กระทำผิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความ(ปอ.ม.95(3) 

              พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
              มาตรา ๕ ผู้ใด
              (๑) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือ ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว้าก่อน ขณะหรือหลังการกระทําความผิด มิให้ ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ 
              (๒) กระทําด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออําพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจําหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด
              (๓) ได้มาครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน นั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฟอกเงิน  

- - - - - - - -  - - - - - - - - - - -

          อ้างอิงจาก

                  คำพิพากษาศาลของฎีกาที่ 3385/2563 ,2021/2563,105/2561,9092/2553, ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น   ตุลาคม 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

                 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม ,สำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน,สืบค้น 29 พฤศจิกายน 2565,จากhttps://www.amlo.go.th/amlo-intranet/media/k2/attachments/amlaYupdateY091017_3831.pdf







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น