วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

จ้างว่าความโดยตกลงค่าจ้างเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่พิพาทกัน

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


              ในการว่าจ้างทนายความ ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแทนคู่ความ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสัญญาจ้างว่าความ ที่ศาลพิจารณาเห็นว่าสัญญาเป็นโมฆะ ไม่สามารถบังคับกันได้ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง  เนื่องจากมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150  ตามคำพิพากษาศาลฎีกา  3511/2564    

                "การที่สัญญาว่าจ้างทนายความในคดีที่ฟ้องขับไล่ตกลงจ่ายค่าจ้างว่าความจำนวนร้อยละ 7 ของเนื้อที่ดิน 3,150 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนของเนื้อที่ดินของโฉนดที่ดินพิพาทที่คู่ความให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินพิพาทของลูกความ และถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างจำนวนเงินแน่นอน หากผลคดีฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างทนายความเป็นที่ดิน จึงเป็นการว่าจ้างทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีโดยปริยาย มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 

                    ส่วนสัญญาจ้างว่าความในคดีที่ ท. ฟ้องขอเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท การที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าจ้างเป็นเนื้อที่ดิน 600 ตารางวา จากที่ดินพิพาทโดยยินยอมให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ ท. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท เป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาท ส่วนข้อตกลงที่ให้โจทก์เลือกเอาการชำระเป็นเงินตามราคาประเมินของทางราชการได้ด้วยนั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างจำนวนเงินแน่นอน เนื่องจากโจทก์อาจถือเอาการชำระเป็นเงินตามราคาประเมินของทางราชการได้ซึ่งราคาประเมินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงได้ไม่คงที่ และข้อตกลงที่ว่าไม่คำนึงถึงผลคดีนั้น เห็นว่า หากโจทก์ว่าความแพ้คดีก็ไม่สามารถเข้าเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทได้เพราะ ท. คู่กรณียังเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท หาก ท. ไม่ยินยอมก็ไม่สามารถทำได้ โจทก์จะต้องชนะคดีเท่านั้น ดังนี้ จึงเป็นการว่าจ้างที่ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาทในผลแห่งคดีโดยปริยายเช่นกัน อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างว่าความจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150"

             จากคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปได้ว่า สัญญาว่าจ้างทนายความ ถ้ามีลักษณะเป็นข้อตกลงให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินพิพาทของลูกความ โดยถ้าแพ้คดีก็จะไม่ได้ตามข้อตกลง จึงเป็นค่าจ้างที่เป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน   จึงเป็นการว่าจ้างที่ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาทในผลแห่งคดี  อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150  เมื่อสัญญาเป็นโมฆะ  สัญญาจ้างดังกล่าวจึงนำมาฟ้องบังคับกันไม่ได้ 

-  - - - - - - - - - - - - - - - - -

               อ้างอิงจาก

                           คำพิพากษาศาลฎีกา 3511/2564 , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 21 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

            

             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น