วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563

ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ

บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


    
    ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ  มีอยู่สองคำที่ต้องทำความรู้จัก และเข้าใจความหมาย นั่นคือคำว่า "ละทิ้งหน้าที่ราชการ" กับ "ทอดทิ้งหน้าที่ราชการ" 
        ละทิ้งหน้าที่ราชการ  หมายถึง การไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยไม่แจ้งเหตุให้ทราบ  (หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ขาดราชการ)  กรณีมาลงชื่อในบัญชีลงเวลามาปฏิบัติราชการ แต่ตัวไม่อยู่ปฏิบัติราชการที่หน่วยงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการเช่นเดียวกัน  
        ทอดทิ้งหน้าที่ราชการ หมายถึง  มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ไม่ทำงาน ปล่อยเวลาให้ล่วงเลย เอางานอื่น งานส่วนตัวมาทำ หรือไม่ใส่ใจในงาน  (หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่ามีผลประโยชน์ส่วนตนทับซ้อนกับผลประโยชน์ส่วนรวม) เช่น  ครูมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ในคาบสอน ไม่เข้าสอน หรือเข้าสอนแต่ไม่สอน นั่งเล่นโทรศัพท์ เป็นต้น

        ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ  เป็นการกระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง  มีสถานโทษตั้งแต่ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน หรืออาจจะไม่ลงโทษโดยว่ากล่าวตักเตือนหรือทำทัณฑ์บนไว้ แต่ถ้าการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ ก็เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีอัตราโทษ ปลด หรือไล่ออกจากราชการได้



        กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  ถือเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ที่เป็นความผิดปรากฎชัดแจ้ง ที่อาจพิจารณาให้งดการสอบสวนก็ได้ ตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง  พ.ศ. 2549 และหากเป็นกรณีที่ไม่กลับมาปฏิบัติราชการอีกเลย ต้องลงโทษไล่ออกจากราชการตั้งแต่วันละทิ้งหน้าที่ราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  ที่ นร 0205/ว. 234 ลงวันที่ 24 ธนวาคม   2536
          และงดการจ่ายเงินเดือนตั้งแต่วันที่ละทิ้งหน้าที่ราชการ ตามพระกฤษฏีาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 มาตรา 16 ดังนั้น เมื่อปรากฎว่ามีข้าราชการในสังกัดละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน ให้รีบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งแจ้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเดือนทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเดือนไว้ก่อน  
        กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันไม่เกินสิบห้าวัน เช่น ละทิ้งไป 15 วัน มาหนึ่งวัน ละทิ้งอีก 15 วัน เพื่อมิให้เกินสิบห้าวัน หรือละทิ้ง 1 วัน  2 วันหรือกว่านั้น แต่ไม่เกินสิบห้า และละทิ้งหลายคราว ถ้าผู้มีอำนาจพิจารณา เห็นว่าไม่เข้าเหตุในการลาตามระเบียบกฎหมายของราชการที่ข้าราชการผู้นั้นมีสิทธิ และไม่อนุญาตให้ลา ถือว่าข้าราชการผู้นั้น ละทิ้งหน้าที่ราชการหรือขาดราชการ  เป็นความผิดวินัยในเรื่องนี้ เช่น  
         ผู้บังคับบัญชาให้ไปอบรม ประชุม สัมมนา แต่ไม่ได้ไปเข้าร่วมตามกำหนด ขณะเดียวกันก็ไม่มาปฎิบัติงานที่หน่วยงานในวันดังกล่าว เมื่อผู้บังคับบัญชาทราบเรื่อง ผู้นั้นจึงยื่นใบลาป่วย เมื่อผู้บังคับบัญชาตรวจสอบแล้วผู้นั้นไม่ได้ป่วยจริง จึงไม่อนุญาตให้ลาป่วย ทำให้ผู้นั้นกระทำผิดวินัยในเรื่อง ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และละทิ้งหน้าที่ราชการ (ขาดราชการ) ต้องถูกดำเนินการทางวินัยและลงโทษ งดการจ่ายเงินเดือนในวันที่ขาดราชการ และไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือน
        หากการละทิ้งหน้าที่ราชการดังกล่าวเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ก็จะเป็นความผิดอย่างร้ายแรงได้เช่นเดียวกัน ในส่วนของเงินเดือน ต้องไม่จ่ายเงินเดือนในวันที่ละทิ้งหน้าที่ราชการ ตามพระกฤษฏีาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 มาตรา 16 และไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนในรอบพิจารณานั้นด้วย ตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลือนเงินเดือนข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา

**********************      

ขอขอบคุณ 

          ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น