วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปรับเกินร้อยละสิบไม่บอกเลิกสัญญา ถือว่ามีส่วนผิดด้วย

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



            บทความนี้นำเสนอหลักจากแนวคำพิพาษาศาลปกครองสุงสุด เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของส่วนราชการ เกี่ยวกับการปรับผู้รับจ้างจากการผิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่เกินร้อยละสิบของวงเงินที่จัดซื้อหรือจัดจ้าง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 แต่ก็สามารถนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่คือพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้ นั่นคือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.31 /2564 

           ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้รับจ้างทำถนนวงเงินจ้าง 1,476,000 บาท วันสิ้นสุดสัญญาคือ 18 กันยายน 2555 ผู้รับจ้างส่งมอบงานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกยาน 255 ผู้ว่าจ้างให้แก้ไขงานจ้างให้เสร็จและแจ้งสงวนสิทธิปรับตามสัญญา แต่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ จึงมีการปรับต่อไปโดยไม่บอกเลิกสัญญา ซึ่งเกินร้อยละสิบของวงเงินจ้าง โดยปรับเป็นจำนวน 276 วันๆละ 3,690บาท เป็นจำนวน1,018,440บาท

           หลักฎหมายในเรื่องนี้ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 ซึ่งกำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือจ้าง ให้ส่วนราชการดำเนินการพิจารณาบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาการผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น "  สำหรับการบอกเลิกสัญญานั้น ข้อ 137 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า "ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด " วรรคสองกำหนดว่า "การตกลงกับคู่สัญญาที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงนั้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาได้เฉพาะกรณีที่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการโดยตรง หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของทางราชการในการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้นต่อไป "

            ในคดีนี้ ศาลพิจารณาว่า ระหว่างที่ผุู้ว่าจ้างยังไม่บอกสัญญาและมีการปรับผู้รับจ้างต่อไป แต่ในระหว่างที่แจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไขงาน ผู้ว่าจ้างปล่อยให้ประชาชนได้ใช้ถนนสัญจรใช้ประโยชน์ จากสิ่งที่จ้างนั้นแล้ว ในประเด็นนี้ ศาลถือว่าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างนั้นโดยปริยายแล้ว 

            สำหรับค่าปรับ ศาลพิจารณาว่าในทางกฎหมายถือว่าเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ถือเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ซึ่งให้อำนาจศาลลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ หากว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ในคดีนี้ ศาลพิจารณาถึงการปรับของส่วนราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไว้ว่า "...แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องเสียค่าปรับตามสัญญาพิพาทก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของข้อกำหนดเรื่องค่าปรับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการบอกเลิกสัญญาแก่คู่สัญญาในกรณีที่จำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างนั้น เป็นการกำหนดไว้เพื่อให้งานจ้างตามสัญญาบรรลุวัตถุประสงค์ได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐเป็นสำคัญ หาได้หามีเจตนาให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเรียกค่าปรับจากคู่สัญญาฝ่ายเอกชนในสัญญาที่จะเป็นการแสวงหากำไร โดยมิได้คำนึงถึงความล่าช้าจนทำให้เกิดความเสียหายต่อการจัดทำบริการสาธารณะอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่ คดีนี้  ปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดี(ส่วนราชการ) มีส่วนผิด ที่ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยโดยไม่ได้พิจารณาบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีภายในเวลาอันสมควร ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องชำระค่าปรับมากถึง 276 วัน การปรับตามจำนวนดังกล่าว เมื่อพิจารณาทางได้เสียของผู้ถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับการดำเนินกิจการบริการสาธารณะให้มีความต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักแล้ว เห็นได้ว่าผลได้เสียที่จะเกิดแก่ผู้ถูกฟ้องคดี เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่บอกเลิกสัญญานั่นเอง อีกทั้งผู้ฟ้องคดีทำงานแล้วเสร็จร้อยละ 93 แม้จะไม่ครบตามสัญญาแต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้ถนนให้ประชาชนสัญจรใช้ประโยชน์ ดังนั้น การปรับผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,018,440บาท จึงเป็นค่าปรับที่สูงเกินส่วน " 

              ข้อเท็จจริงที่เป็นที่สังเกตุในคดีนี้ คือ ผู้รับจ้างไม่ได้ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับโดยไม่มีเงื่อนไข แม้จะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ดังนั้น เมื่อผู้รับจ้างไม่ยินยอมให้ปรับโดยไม่มีเงื่อนไข การปรับต่อไปเมื่อเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างก็จะเป็นไปตามแนวคำพิพาษาดังกล่าว ซึ่งก็เป็นข้อพิจารณาของหน่วยงานต่อไป  

        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น