วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ส่งมอบพัสดุล่าช้า ไม่ถูกต้องตรงกับใบเสนอราคา เลิกสัญญาและริบเงินประกันได้ (การจัดซื้อจัดจ้าง)

 บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

 

      ส่งมอบพัสดุล่าช้า ไม่ถูกต้องตรงกับใบเสนอราคา  เลิกสัญญาและริบเงินประกันได้

          ประเด็นการตรวจรับพัสดุหลังจากที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความสำคัญ  ซึ่งตามมาตรา๑๐๐แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐บัญญัติให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ เพื่อรับผิดชอบการบริหารสัญญาหรือข้อตกลงและการตรวจรับพัสดุ  การตรวจรับพัสดุจึงต้องดำเนินการให้ถูกต้องตรงกับหลักฐานที่ตกลงกันไว้  ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ กำหนดวิธีการตรวจรับพัสดุไว้ในข้อ ๑๒๗ เช่น (๒)ให้ตรวจรับพัสดุให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามหลักฐานที่ตกลงกันไว้... (๕)ในกรณีที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างส่งมอบพัสดุถูกต้องแต่ไม่ครบจำนวนหรือส่งมอบครบจำนวนแต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด ถ้าสัญญาหรือข้อตกลงมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ตรวจรับไว้เฉพาะจำนวนที่ถูกต้อง และรีบรายงานหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทราบภายใน ๓ วันทำการ นับถัดจากวันตรวจพบ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิ์หน่วยงานของรัฐที่จะปรับผู้ขาย หรือผู้รับจ้างในจำนวนที่ส่งมอบไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง  (๖) การตรวจรับพัสดุที่ประกอบกันเป็นชุดหรือหน่วย ถ้าขาดส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้วจะไม่สามารถใช้การได้อย่างสมบูรณ์ ให้ถือว่าผู้ขายหรือผู้รับจ้างยังมิได้ส่งมอบพัสดุ   
           กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้พัสดุ จึงมีการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ(ตามระเบียบเดิม) ประกอบกับพัสดุที่จัดซื้อเป็นพัสดุที่ต้องใช้ประกอบกันเป็นชุด ถ้าขาดส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ การส่งมอบพัสดุไม่ถูกต้องตรงกับหลักฐานที่ตกลงกันไว้ ทั้งเป็นการส่งมอบล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด หน่วยงานสามารถบอกเลิกข้อตกลงซื้อขาย และริบหลักประกันสัญญาได้ มีแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๑๑๗๖/๒๕๖๑ วินิจฉัยประเด็นที่สำคัญ คือ



           ๑.ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อส่งมอบสินค้าเกินกำหนด ๑ วัน และพัสดุที่ส่งมอบมีคุณสมบัติไม่ตรงตามแบบเสนอราคา โดยไม่ใช่ยี่ห้อสินค้าที่กำหนดไว้ในแบบเสนอราคาที่ใช้ในการพิจารณาคุณสมบัติ อันได้แก่ ยี่ห้อสินค้าและราคาของสินค้าที่ผู้ฟ้องคดีเสนอราคาว่ามีความเหมาะสมที่ควรได้รับการคัดเลือก แบบเสนอราคาจึงเป็นสาระสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลง จึงต้องส่งมอบสินค้าให้มีรายการและคุณสมบัติตรงตามแบบเสนอราคา ไม่อาจส่งมอบสินค้ายี่ห้ออื่นนอกจากที่กำหนดไว้ได้ แม้สินค้านั้นจะมีคุณสมบัติในการใช้งานเหมือนกัน การส่งมอบสินค้ายี่ห้ออื่น จึงเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งหนี้ ตามมาตรา ๒๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อพัสดุต้องใช้ประกอบกันเป็นชุด ถ้าขาดส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งไปแล้วจะไม่สามารถใช้งานได้โดยสมบูรณ์ ถือว่ามิได้ส่งมอบพัสดุที่คณะกรรมการตรวจรับที่จะปฏิเสธการตรวจรับการส่งมอบพัสดุ แม้บันทึกข้อตกลงซื้อขายไม่ได้กำหนดกรณีที่จะเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อไม่ได้ส่งมอบพัสดุภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงซื้อขายได้ ตามมาตรา ๓๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๑๓๐ วรรคหนึ่ง...(ข้อสังเกตในการวินิจฉัยคดีของศาลได้นำหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ มาประกอบกับระเบียบกฎหมายที่ส่วนราชการนั้นใช้บังคับ ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๑๒๗(๖) ถือว่าผู้ขายหรือผู้รับจ้างยังมิได้ส่งมอบพัสดุ ทำให้อีกฝ่ายเกิดสิทธิเลิกสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงซื้อขายได้ )
            ๒.ศาลวินิจฉัยว่า กรณีเงินค้ำประกัน ที่ให้ไว้ในวันทำบันทึกข้อตกลงซื้อขาย มีลักษณะเป็นเงินมัดจำเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ตามมาตรา ๓๗๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อบอกเลิกสัญญาเพราะผิดสัญญาแล้ว จึงมีสิทธิริบเงินค้ำประกัน อันมีลักษณะเป็นมัดจำตามมาตรา ๓๗๘(๒)(ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบหรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เมื่อมาตรา ๓๙๑ วรรคสี่แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน บัญญัติให้การใช้สิทธิเลิกสัญญาไม่กระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ประกอบกับมาตรา ๒๒๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การเรียกค่าเสียหายได้แก่ การเรียกค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้  เมื่อศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ได้รับมีมากกว่ามัดจำที่ริบไป จึงยังมิสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เกินกว่ามัดจำด้วย

            หากเป็นการจัดซื้อพัสดุกรณีปกติ ผู้ขายหรือผู้รับจ้างส่งมอบพัสดุถูกต้องแต่ไม่ครบจำนวนหรือส่งมอบครบจำนวนแต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด ถ้าสัญญาหรือข้อตกลงมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐  ข้อ ๑๒๗ (๕) ให้ตรวจรับไว้เฉพาะจำนวนที่ถูกต้อง และรีบรายงานหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทราบภายใน ๓ วันทำการ นับถัดจากวันตรวจพบ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิ์หน่วยงานของรัฐที่จะปรับผู้ขาย หรือผู้รับจ้างในจำนวนที่ส่งมอบไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องแล้ว โดยถ้าไม่เข้าเงื่อนไขในการเลิกสัญญาหรือข้อตกลงตามมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ แล้วหากปรากฎว่าคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น  ก็ต้องดำเนินการปรับตามสัญญา และเมื่อปรับแล้วจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่หน่วยงานของรัฐโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น (ระเบียบข้อ ๑๘๓) ดังนั้น หากจะไม่ยกเลิกสัญญา และปรับต่อไปเมื่อเกินวงเงินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ต้องให้คู่สัญญายินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้น ผู้ขายจะมาฟ้องขอคืนเงินค่าปรับที่เกินร้อยละสิบในภายหลังได้ ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้คืน ดังบทความที่ผู้เขียนเคยนำเสนอไว้ในเพจแล้ว  

****************
ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น