วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ไม่รับราคาต่ำสุด ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการทำละเมิด (การจัดซื้อจัดจ้าง)

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี



      ไม่รับราคาต่ำสุด ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 

       มีแนวคำพิพากษาของศาลปกครอง ที่น่าสนใจโดยมีหลักกฎหมายที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างได้ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อทางราชการและจะไม่มีปัญหาเป็นการทำละเมิดที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน มานำเสนอ 
      ในคดีนี้ หน่วยงานราชการที่ถูกฟ้องคดีเป็นโรงเรียน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยโรงเรียนประกาศสอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างส้วมอาคาร สพฐ.๔(๔ ที่นั่ง) ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๖ กำหนดราคากลางเป็นเงิน ๓๘๓,๐๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีเสนอราคาต่ำสุดที่ราคา ๒๔๙,๐๐๐ บาท คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเสนอราคา ๒๔๙,๐๐๐บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดและมีหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างส้วมอาคาร สพฐ.๔ ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ โดยคณะกรรมการเห็นว่าราคาที่เสนอต่ำกว่าวงเงินที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เป็นจำนวนเงินถึง ๑๐๓,๐๐๐ บาท คิดเป็นราคาลดลงร้อยละ ๒๙.๒๖ ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้ เนื่องจากปัจจุบันราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง และค่า
FT ได้ปรับเปลี่ยนสูงขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งในคดีนี้ ศาลวินิจฉัยว่า โรงเรียนไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศ เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าเสียโอกาสในการเข้าทำสัญญา
      คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดง อ.๕๑/๒๕๖๒ วินิจฉัยที่เป็นหลักในการปฏิบัติ ดงนี้



      ๑.คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา ต้องพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะตามหลักเกณฑ์และเงือนไขที่กำหนดไว้ในในประกาศ  โดยศาลวินิจฉัยว่า “เมื่อเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไข ในเอกสารสอบราคาจ้าง และเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด หากเห็นว่าเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดได้เสนอราคาต่ำจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้ ต้องให้ชี้แจงและแสดงหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าสามารถดำเนินงานตามที่สอบราคาให้เสร็จสมบูรณ์ หากคำชี้แจงไม่เป็นที่รับฟังได้ จึงจะมีสิทธิไม่รับราคา ตามเอกสารสอบราคาจ้าง ตามประกาศ เรื่อง สอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างส้วมอาคาร... ซึ่งกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ผู้เสนอราคาต่ำสุดเสนอราคาต่ำจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้ คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาหรือกรมจะให้ผู้เสนอราคานั้นชี้แจงและแสดงหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้เสนอราคาสามารถดำเนินงานตามที่สอบราคาให้เสร็จสมบูรณ์ หากคำชี้แจงไม่เป็นที่รับฟังได้ กรมมีสิทธิที่จะไม่รับราคาของผู้เสนอราคารายนั้น “
      ๒.การให้โอกาสชี้แจงและแสดงหลักฐาน ต้องดำเนินการก่อนที่คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาจะตัดสินใจเลือกผู้ชนะการสอบราคา โดยศาลวินิจฉัยว่า “...ส่วนที่คณะกรรมการเปิดซองอ้างว่าได้ให้โอกาสชี้แจงและแสดงหลักฐานโดยผู้ฟ้องคดีได้เข้าสอบถามในวันที่มีการเปิดซองสอบราคา และคณะกรรมการสอบราคาได้มีหนังสือแจ้งต่อผู้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า การมีหนังสือชี้แจงในภายหลังที่มีการตัดสินใจเลือกให้ หจกเป็นผู้ชนะการสอบราคาแล้ว จึงมิใช่กรณีที่ได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงและแสดงพนาหลักฐานตามเอกสารสอบราคาจ้างเนื่องจากการให้โอกาสชี้แจงและแสดงหลักฐาน ตามเอกสารสอบราคาจ้าง ต้องดำเนินการเสียก่อนที่คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาจะตัดสินใจเลือกผู้ชนะการสอบราคา...”
      ๓.ต้องพิจารณาผลงานจากหนังสือรับรองผลงานของผู้เสนอราคาต่ำสุด ว่ามีความสามารถและประสบการณ์ที่ได้ประกอบกิจการด้านนี้ หรือไม่ ก่อนมีความเห็นไม่รับราคาต่ำสุด โดยศาลวินิจฉัยว่า “...ทั้งผู้ฟ้องคดีมีหนังสือรับรองผลงานประกอบการยื่นซองสอบราคาว่าเคยรับเหมาก่อสร้างโครงการในลักษณะเดียวกัน วงเงินจ้าง ๒๓๙,๙๐๐ บาท ต่ำกว่าวงเงินที่เสนอราคาครั้งนี้ จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อแสดงว่าได้มีการปรับราคาตามความเหมาะสมของภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และผู้ฟ้องคดีมีหลักฐานทำสัญญาจ้างโครงการลักษณะเดียวกัน วงเงินจ้าง ๒๔๓,๐๐๐ บาท เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถและประสบการณ์ที่ได้ประกอบกิจการด้านนี้โดยตรงจากการรับจ้างทำงานให้แก่ส่วนราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ แห่ง ดังนั้น การที่คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาให้เหตุผลว่าเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณ ที่กำหนดราคากลางไว้เป็นเงิน ๓๕๒,๐๐๐ บาท ราคาที่เสนอต่ำกว่างบประมาณถึง ๑๐๓,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้เสร็จสมบูรณ์ จึงเป็นเพียงความเชื่อหรือความคาดหมายของคณะกรรมการเปิดซองเท่านั้น”

โฆษณา(คลิก)


      ๔.การที่คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา ไม่ให้ผู้เสนอราคาต่ำสุดชี้แจงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศ และไม่พิจารณาผลงานของผู้เสนอราคาต่ำสุด ตามหนังสือรับรองที่เสนอมาพร้อมกับเอกสารประกอบการยื่นซองสอบราคา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ ในเรื่องไม่พิจารณาคัดเลือกพัสดุหรืองานจ้างของผู้เสนอราคาที่ถูกต้อง  ที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และเสนอให้ซื้อหรือจ้างจากรายที่คัดเลือกไว้แล้ว ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด และไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม โดยศาลวินิจฉัยว่า “ ...การที่มิให้โอกาสผู้เสนอราคาต่ำสุดชี้แจงและแสดงหลักฐานเสียก่อนว่าสามารถดำเนินงานตามเอกสารสอบราคาจ้างให้สำเร็จหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกผู้ชนะการสอบราคา จึงเป็นกรณีที่คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ ๔๒(๓) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งกำหนดไว้ว่า คณะกรรมการเปิดซองสอบราคามีหน้าที่ดังนี้...(๓) พิจารณาคัดเลือกพัสดุหรืองานจ้างของผู้เสนอราคาที่ถูกต้องตาม (๒) ที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และเสนอให้ซื้อหรือจ้างจากรายที่คัดเลือกไว้แล้ว ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด...และตามหลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาราคาที่กำหนดในข้อ..ของเอกสารการสอบราคาจ้าง...ที่กำหนดว่าในกรณีที่ผู้เสนอราคาต่ำสุด เสนอราคาต่ำสุดจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาจ้างได้ คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาหรือกรมจะให้ผู้เสนอราคานั้น ชี้แจงและแสดงหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้เสนอราคาสามารถดำเนินงานตามที่สอบราคาให้เสร็จสมบูรณ์ หากคำชี้แจงไม่เป็นที่รับฟังได้ กรมมีสิทธิที่จะไม่รับราคาของผู้เสนอราคารายนั้น การดำเนินการเปิดซองสอบราคาดังกล่าว จึงไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ตามข้อ ๑๕ ทวิ ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดไว้ว่า การจัดหาพัสดุตามระเบียบนี้ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนของการจัดหาต้องดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงคุณสมบัติและความสามารถของผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองาน เว้นแต่ กรณีที่มีลักษณะเฉพาะอันเป็นข้อยกเว้นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ วรรคสอง กำหนดว่า ในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องมีการบันทึกหลักฐานในการดำเนินการ พร้อมทั้งต้องระบุเหตุผลในการพิจารณาสั่งการในขั้นตอนที่สำคัญไว้เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ...”

            ๕.ผลการการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศ และระเบียบสำนักนายกรัฐมตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ ถือเป็นการกระทำละเมิด ตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๕ ถือเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องชดใช้ค่าเสียหาย เป็นค่าเสียโอกาสในการเข้าทำสัญญา ถือเป็นการขาดประโยชน์อย่างหนึ่ง โดยโรงเรียนเป็นผู้กระทำละเมิด  สพฐ.หน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดต่อความเสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ค่าเสียหาย ศาลพิจารณาจากค่างานต้นทุนจากค่าก่อสร้าง กับผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับ และผลกำไรนั้นยังไม่มีความแน่นอนว่าในกรณีที่ได้ทำสัญญาก่อสร้างแล้วจะได้กำไรเป็นจำนวนที่คาดหวังไว้  จึงเห็นว่าการทำงานให้ได้ปริมาณและคุณภาพงานตามมาตรฐานของงานตามราคากลาง ย่อมทำให้ผลกำไรที่จะได้รับลดน้อยลงไป โดยศาลวินิจฉัยว่า “...เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (โรงเรียน) เป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (สพฐ.) ซึ่งเป็นส่วนราชการต้นสังกัด และเป็นหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ที่บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ คดีนี้นำมาฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียโอกาสในส่วนต่างจากราคาที่เสนอจำนวน ๒๔๙,๐๐๐ บาทกับราคาที่ผู้ชนะสอบราคาเสนอจำนวน ๓๔๙,๐๐๐ บาท เป็นเงินค่าเสียหายจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท การที่เสียโอกาสในการเข้าทำสัญญาถือเป็นการขาดประโยชน์อย่างหนึ่ง เมื่อเอกสารเสนอราคาปรากฏตามแบบสรุปค่าก่อสร้างมีงานต้นทุน ๑๙๖,๐๐๐ บาท จากค่าก่อสร้างจำนวน ๒๔๙,๐๐๐ บาท ผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับจึงเป็นเงิน ๕๓,๐๐๐ บาท แต่โดยผลกำไร เป็นเงินจำนวนยังไม่มีความแน่นอนว่าในกรณีที่ได้ทำสัญญาก่อสร้างแล้วจะได้กำไรเป็นเงินจำนวนตามที่คาดหวังไว้ จึงเห็นว่าการทำงานให้ได้ปริมาณและคุณภาพงานตามมาตรฐานของงานตามราคากลาง ย่อมทำให้ผลกำไรที่จะได้รับลดน้อยลงไป ประกอบเมื่อได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา ๔๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าเสียโอกาสในการได้เข้าทำสัญญาเป็นเงินกึ่งหนึ่งของผลกำไรที่ผู้ฟ้องคดีคาดว่าจะได้รับ ซึ่งคำนวณได้เป็นเงินจำนวน ๒๖,๕๐๐ บาท สำหรับดอกเบี้ยในค่าเสียหาย ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะได้รับในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันที่กระทำละเมิด...”


      เมื่อศาลพิพากษาให้ สพฐ.หน่วยงานต้นสังกัดรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ก็จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาณเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เพื่อไล่เบี้ยให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชดใช้ค่าเสียหายให้ราชการ ซึ่งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามคำพิพากษา ฉะนั้น จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่นำมาเสนอในเรื่องจะมีประโยชน์ต่อการจัดซื้อจัดจ้าง แม้ในปัจจุบันการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ แล้วก็ตาม แต่ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวกับการพัสดุ ยังมีรายละเอียดการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก จึงนำแนวคำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปได้


****************
ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น