วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

ความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดต่อส่วนตัว เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร (กฎหมายอาญา)

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี



        ความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดต่อส่วนตัว เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

        เป็นหัวข้อที่จะนำมาเขียน เพราะผู้เขียนเชื่อว่ายังมีผู้ที่ยังไม่เข้าใจ และเรื่องนี้ต้องมีความลึกของเนื้อหาพอสมควรที่เดียว แต่ผู้เขียนไม่ลงลึกไปทุกเรื่องเอาเฉพาะเรื่องที่ผู้เขียนจะชี้ประเด็นเท่านั้น  

        ความผิดอาญา คือ ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 371 บัญญัติว่า "ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือพาไปในชุมนุมชน ซึ่งจัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการหรือการรื่นเริง หรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น เป็นต้น (นี่คือความผิดอาญา ยังมีมาตราอื่นอีกครับดูตามประมวลกฎหมายอาญา)
        ความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญา ยังมีบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นอีก เช่น ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติตตัวฯ และตามวรรคสอง ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเปิดเผยหรือพาไปในชุมนุมชนที่จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใด มาตรา 72 ทวิ บัญญัติว่า " ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิวรรคสองด้วย ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท " จะเห็นได้ว่า ถ้ามีผู้กระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาว่าผิดตามกฎหมายทั้งสองฉบับ ทำให้ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 เป็นความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน แต่มีโทษหนักกว่านั่นเอง ดังนั้น ถ้าในกฎหมายอื่นๆกำหนดอัตราโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับไว้ ย่อมถือได้ว่า เป็นความผิด ที่มีอัตราโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน (มาถึงตรงนี้ จะเข้าใจลักษณะกฎหมายอาญา)

โฆษณา(คลิก)



         ความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดต่อส่วนตัว เป็นความผิดอาญาเหมือนกัน แต่ความผิดอาญาแผ่นดินโดยปกติเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย ซึ่งถ้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราใด บัญญัติไว้ว่า " ...เป็นความผิดที่ยอมความได้ " นี่คือ ความผิดอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว ถ้ามาตราใด ไม่ได้บัญญัติคำดังกล่าวไว้ ย่อมถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน (มาถึงตอนนี้ หลายท่านคงคิดว่าดูไม่ยากเลยสักนิด แล้วมาตั้งประเด็นทำไม 55555) เช่น ความผิดในหมวด 5 ฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ถึงมาตรา 355 มีมาตรา 356 บัญญัติไว้ว่า "ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดยอมความได้" ก็แสดงว่าความความผิดในหมวดยักยอก เป็นความผิดที่ยอมความได้ทั้งหมด เป็นต้น  

        ความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดต่อส่วนตัว  เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร  ผู้เขียนจะชี้ประเด็นเพียง เรื่องของการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ เท่านั้น กล่าวคือ ความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดต่อส่วนตัว ถือเป็นความผิดอาญาเหมือนกัน แต่ในความต่างจะมีอยู่ในขั้นตอนของการร้องทุกข์ การสอบสวน และการฟ้องคดี รวมไปถึง การถอนฟ้อง การยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ส่วนประเด็นอื่นจะไม่ขอกล่าวถึง 

        ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัว หรือที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า "เป็นความผิดที่ยอมความได้" นั้น ถ้าหากมีการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป ไม่ว่าจะทำในขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ชั้นศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ก็สามารถทำได้ ผลของคดี คือ  ถ้ามีการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในชั้นอุทธรณ์ ศาลอนุญาตมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมตกไป หรือถ้าทำช้ันศาลฎีกา ก่อนศาลมีคำพิพากษา ก็มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ตกไป  

        มาถึงประเด็นนี้ ต้องทำความเข้าใจกันเพิ่มเติม คือ ในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลนั้น บุคคลที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญา คือ พนักงานอัยการ และผู้เสียหาย หรือทั้งสองฝ่ายต่างยื่นฟ้องในศาลชั้นต้นศาลเดียวกันหรือต่างศาล หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีเดียวกัน ซึ่งคดีอาญาจะเริ่มต้นที่มีการร้องทุกข์ เป็นการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี ไม่ใช่การร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐาน พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะทำการสอบสวน และทำความเห็นไปถึงพนักงานอัยการเพื่อสั่งคดีและฟ้องคดีต่อศาล ถ้าผู้เสียหายจะฟ้องคดีเอง(ต้องใช้ทนายความดำเนินการ) หรือจะแต่งตั้งทนายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก็ได้  

        คดีอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ หรือผู้อื่นกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซี่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ เพราะความผิดอาญาแผ่นดินโดยปกติเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ แต่มีผู้อื่นกล่าวโทษไว้ ก็จะทำให้พนักงานสอบสวน มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง แต่ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ จะทำให้พนักงานสอบสวน ไม่มีอำนาจทำการสอบสวน ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องไปด้วย  นี่คือความแตกต่าง
       

        แต่ถ้าผู้เสียหายจะฟ้องคดีเอง(แต่งตั้งทนายดำเนินการ) จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หรือความผิดต่อส่วนตัว โดยไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คือไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวน ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นคดีอาญาที่เป็นความผิดยอมความได้(ความผิดต่อส่วนตัว) ถ้าผู้เสียหายจะฟ้องคดีเอง โดยไม่ร้องทุกข์ ต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ"
แต่พนักงานอัยการจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีในความผิดต่อส่วนตัวไม่ได้ นี่คือความแตกต่าง ดังนั้น ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอาญายอมความได้) ผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเองไม่มีการร้องทุกข์ ถ้าผู้เสียหายถอนฟ้องหรือยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ หรือถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวที่มีการร้องทุกข์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดี ถ้ามีการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับเช่นเดียวกัน เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8188/2561 จำเลยยื่นฎีกาและมีเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นสำเนาบันทึกการเจรจาตกลงกันระหว่าง บ. บุตรของจำเลยกับผู้เสียหาย และสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน มีข้อความทำนองเดียวกันระบุว่า บ. นำค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด 40,000 บาท ชำระให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวจาก บ. แล้วและไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยอีกต่อไปทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีความหมายว่าไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย ท้ายข้อความดังกล่าวมีผู้เสียหายลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งโจทก์ได้รับสำเนาฎีกาแล้วมิได้แก้ฎีกาหรือแถลงคัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวมิใช่เอกสารที่ผู้เสียหายทำมอบให้แก่ฝ่ายจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงต้องฟังว่าเป็นเอกสารที่ผู้เสียหายทำขึ้นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างและข้อความในเอกสารดังกล่าวก็ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 341 และ 352 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความกันได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)





        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1185/2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. 358, 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเป็นการไม่ชอบ
        แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องของศาลชั้นต้น แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 จากสารบบความ สำหรับความผิดฐานบุกรุก เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในส่วนความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกที่ 2654/2560 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด..." เท่ากับให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ถอนฟ้องด้วยวิธีใดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาขอถอนฟ้องไว้เป็นหนังสือแล้ว โดยไม่ได้สั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเข้ามาอีก และมีการบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แล้ว
        โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ว่าหากจำเลยคดีนี้ยอมไปสาบานตนด้วยถ้อยคำที่ตกลงกันถือว่าโจทก์คดีนี้แพ้ โจทก์ยินยอมถอนฎีกาและยินยอมจ่ายเงินจำนวน 175,000 บาท แก่จำเลย และขอแสดงเจตนาถอนฟ้องคดีอาญาที่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยขอไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษา หากจำเลยคดีนี้ไม่ไปสาบานตน จำเลยขอยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในคดีแพ่งและขอให้ศาลฎีกาพิพากษาต่อไป ทั้งขอถือเป็นการแสดงเจตนาถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์ในคดีอาญาที่ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย แต่โจทก์คดีนี้ต้องนำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาลภายในวันที่ 3 เมษายน 2558 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้นำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาล โจทก์จึงแพ้คดีตามคำท้า อันมีผลเท่ากับโจทก์แสดงเจตนาถอนฟ้องคดีนี้ตามคำท้า การขอถอนฟ้องคดีนี้แม้จะเป็นผลประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากข้อตกลงหรือการท้ากันในคดีแพ่งก็ตาม ก็หาได้ถือว่าเป็นการท้ากันในคดีอาญานี้ไม่ ดังนั้น เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่คัดค้านการถอนฟ้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง กับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

         ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน การถอนคำร้องทุกข์ ไม่มีผลทำให้การสอบสวนเสียไป พนักงานสอบสวนยังมีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง  ถ้าเป็นการถอนฟ้อง กล่าวคือ ถ้าพนักงานอัยการถอนฟ้องคดีอาญา แต่ผู้เสียหายไม่ถอนฟ้อง หรือผู้เสียหายถอนฟ้อง แต่พนักงานอัยการไม่ถอนฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับ  สำหรับในเรื่องยอมความในคดีอาญาแผ่นดินนั้น ไม่สามารถตกลงยอมความกันได้ ถ้าทำสัญญาตกลงกันว่าจะไม่ฟ้องคดีในคดีอาญาแผ่นดิน สัญญานั้นก็จะเป็นโมฆะบังคับกันไม่ได้ นำไปอ้างต่อศาลไม่ได้ เนื่องจากสัญญามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ตีความเฉพาะสัญญาตกลงไม่ฟ้องคดีอาญาที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดินนะครับ) นี่คือความแตกต่าง เช่น

advertisment

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2559 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 ที่ได้กระทำโดยมีอาวุธและโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามวรรคสอง ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 321 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น แม้จะได้ความว่าฝ่ายโจทก์ตกลงยอมความกับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้ตกลงให้ความผิดของจำเลยที่ 1 ระงับไปด้วย ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงหาระงับไปไม่

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8921/2559 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ บันทึกข้อตกลงในส่วนที่จะถอนฟ้องจึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงด้วยการให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น จำเลยก็จะใช้สิทธิขอให้บังคับในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่20145/2555ระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกาก่อนจำเลยยื่นฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์แปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในส่วนความผิดฐานยักยอก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมมิใช่ความผิดอันยอมความกันได้ จึงไม่ระงับ โดยศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดต่อส่วนตัวฐานยักยอกและฐานฉ้อโกงที่โจทก์ขอถอนฟ้อง จึงยังไม่ถูกต้อง เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่ง จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341 และมาตรา 352 วรรคแรก จากสารบบความ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองเกี่ยวกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นอันระงับไปในตัว รวมทั้งที่ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ด้วย


    
        ก็พอสมควรแก่กรณี พักดื่มกาแฟกันก่อน  อ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะมีความรู้ความเข้าใจกันบ้างแล้วว่า ความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดต่อส่วนตัว เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร  ในประเด็นที่ผู้เขียนชี้เท่านั้น ถ้าไม่เข้าใจก็สามารถอ่านซ้ำใหม่อีกรอบ ในการเรียบเรียงของผู้เขียนน่าจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจ  ถือว่าเป็นพื้นฐานความรู้ที่ควรจะมีและเข้าใจไว้  


******************   
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น