วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

เรื่องต้องรู้ก่อนค้ำประกัน (กฏหมายแพ่ง)

บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


เรื่องต้องรู้ก่อนค้ำประกัน


     เรื่องต้องรู้ก่อนค้ำประกัน

        เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจและควรที่รู้ก่อนที่เราจะไปตกลงค้ำประกันให้ใคร  การค้ำประกันให้กันมักจะอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน  แต่บางครั้งสำนวนที่ว่า "รู้หน้าไม่รู้ใจ" ก็อาจจะทำให้ต้องตกที่นั่งลำบากจากการค้ำประกัน ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ มีความเครียดสะสมก็เป็นได้  ดังนั้น ก่อนที่จะตกลงค้ำประกันให้ใคร ผู้ค้ำประกันจึงต้องรู้ไว้ เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจรับผิดชอบ ดังนี้

        1.ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหน้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เป็นเรื่องทางแพ่ง  เมื่อเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว จะตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้ เนื่องจากยังไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาค้ำประกัน ฉะนั้น เมื่อค้ำประกันให้ใครแล้ว ก็ต้องคอยสอดส่องว่าลูกหนี้หนีหนี้หรือไม่  แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงจนกว่าหนี้ที่ต้องชำระเสร็จสิ้น 

        2.ข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ (แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557)  กล่าวคือ การเป็นลูกหนี้ร่วม จะทำให้เจ้าหนี้เรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ และการที่ผู้ค้ำประกันต้องตกเป็นลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่สามารถหยิบยกประเด็นตามข้อกฎหมายต่อสู้เจ้าหนี้ได้เลย
 
         สิทธิตามกฎหมายที่จะหยิบยกขึ้นต่อสู้กับเจ้าหนี้  คือ สิทธิที่เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย หรือไม่ปรากฎว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในราชอาณาจักร  สิทธิที่ผู้ค้ำประกันที่จะพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินลูกหนี้ก่อน และสิทธิกรณีที่เจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิขอให้เจ้าหนี้จะต้องใช้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันก่อน 

advertisement


        3.สัญญาค้ำประกัน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ถ้าไม่มีหลักฐานค้ำประกันเป็นหนังสือ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีผู้ค้ำประกันไม่ได้ (มาตรา 680) ค้ำประกันจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์เท่านั้น  และต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง (มาตรา681) เช่น ค้ำประกันมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืม มูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่มีสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย เป็นต้น  การทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขเพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ (ม.681วรรคสอง) เช่น ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันแม้จะไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ แต่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 และ 681 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหนี้ที่ค้ำประกันจะต้องมีจำนวนแน่นอน โดยหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นได้จริงก็ค้ำประกันได้ หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงมีผลบังคับได้(ฎีกา3803/2558)  ค้ำประกันในการสมัครเข้าทำงาน และยินยอมค้ำประกันไม่ว่าจะทำงาน ในหน้าที่หรือตำแหน่งงานใด จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มีการประกันได้ (ฎีกา987-988/2552) เมื่อต่อมามีการยักยอกทรัพย์ หนี้จึงเกิดขึ้นตามที่ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน (รับผิดเฉพาะความเสียหายทางทรัพย์สินที่มีการยักยอกไป)(ฎีกา5133/2550) สัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความว่าเป็นการค้ำประกันการซื้อขายสินค้าเฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับเท่านั้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องรวมถึงหนี้ตามสัญญาซื้อขายฉบับที่เกิดขึ้นก่อนมีการทำสัญญาค้ำประกันด้วย(ฎีกา2856/2558)  สัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต แม้เป็นสัญญาค้ำประกันหนี้อันสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงถือว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118(ฎีกา 3920/2546)  ถ้าสัญญาค้ำประกันมีข้อตกลงค้ำประกันเพื่อหนี้ไม่สมบูรณ์ ไม่ระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกัน ข้อตกลงค้ำประกันหนี้ในอนาคตและที่มีเงื่อนไขที่ไม่อาจเป็นผลได้จริง  ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ บังคับไม่ได้ 

        4.บุคคลหลายคนยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้จะมิได้เข้าค้ำประกันรวมกัน (ม.682)หมายถึง ในระหว่างผู้ค้ำประกันหลายคนด้วยกัน เมื่อต้องตกเป็นลูกหนี้จากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยผู้ค้ำประกันแต่ละคนต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน ถ้าส่วนของผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น จะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ หนี้ที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันยังขาดอยู่เท่าไร ผู้ค้ำประกันคนอื่นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าผู้ค้ำประกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันแล้ว ส่วนที่ผู้ค้ำประกันคนนั้นจะต้องรับผิดชอบ ก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ และผู้ค้ำประกันที่เหลือก็ได้รับประโยชน์ไม่ต้องชำระหนี้ในส่วนที่เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ผู้ค้ำประกันคนนั้นไปแล้วด้วย (ม.296) 

         คำพิพากษาศาลฎีกา7028/2562โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร ก. จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แก่ธนาคารฯ แทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้

        คำพิพากษาศาลฎีกา 2997/2562 โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท ธ. มีต่อบริษัท บ. จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ ไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การที่จำเลยและบริษัท บ. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัท บ. จะถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับจำเลยอีกต่อไป ต่อมาบริษัท บ. มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท บ. ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท บ. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้


        5.เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันจะตกเป็นลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกันทันที และเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันได้ ซึ่งการค้ำประกันนั้นรวมถึงดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย  แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ยังไม่สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนได้รับหนังสือบอกกล่าว นั่นคือภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และถ้าเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วัน และมาใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว อธิบายให้ชัดคือ ต้นเงิน ต้องรับผิดชอบเต็มจำนวนอยู่แล้ว แต่ในส่วนของดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและค่าภาระติพัน คิดคำนวณได้ตั้งแต่วันผิดนัดถึง60วันเท่านั้น เกินจาก 60 วัน ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบ  ถ้าสัญญาค้ำประกันมีข้อตกลงที่ต่างไปจากนี้ เป็นโมฆะ

         6.ผู้ค้ำประกัน จะหลุดพ้นจากความรับผิดในการค้ำประกัน เมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ เช่น หนี้ระงับเพราะลูกหนี้ชำระหนี้ หรือหนี้ระงับเพราะเจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ หรือหนี้ระงับเพราะผู้ค้ำประกันเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้ เป็นต้น  ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันเข้าชำระหนี้แทนจนหมดแล้ว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินและดอกเบี้ย และเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปเพราะการค้ำประกัน โดยในการเข้าชำระหนี้แทนต้องบอกลูกหนี้ให้รู้ด้วย เพื่อมิต้องชำระหนี้ซ้ำซึ่งจะทำให้ผู้ค้ำประกันไม่สามารถไล่เบี้ยลูกหนี้ได้  คำว่า "ไล่เบี้ย" ตามพจนานุกรม คือ ล่เลียงหาคนทำผิดตั้งแต่หัวแถวจนถึงปลายแถว เรียกร้องให้รับผิดในการชําระหนี้ย้อนขึ้นไปเป็นลําดับ ซึ่งก็คือติดตามเอาคืนจากลูกหนี้นั่นเอง ถ้าผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระแล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด เช่นเดียวกัน 
        ถ้าหนี้ต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ โดยที่ผู้ค้ำประกันไม่ได้ตกลงด้วย ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเช่นเดียวกัน เช่น การชำระหนี้กำหนดไว้ 1 ปี แต่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ชำระหนี้ได้ภายใน 2 ปี เป็นต้น 
        กรณี ที่ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลา เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 2856/2558 การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 (เดิม) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

       คำพิพากษาศาลฎีกา  3244/2540 การที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้แต่ไม่ใช้สิทธิดังกล่าว หาใช่กรณีที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไม่ การที่โจทก์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 28 เดือน โดยมิได้บอกเลิกสัญญา จึงมิใช่การผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 อันจักทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด

advertisement



        7.กรณีเจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้ มีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีอยู่ การค้ำประกันรวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น  เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้ตกลงกันนั้น ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ลดแล้ว หรือลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ลดแต่ไม่ครบผู้ค้ำประกันได้ชำระส่วนที่เหลือ หรือลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ส่วนที่ลดผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามที่ลดนั้น ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากค้ำประกัน โดยผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้แม้ล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันครบกำหนดชำระ 
           กรณีที่เจ้าหนี้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ลด ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหนี้หนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบข้อตกลงนั้น 
           การเข้าชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน มีสิทธิไล่เบี้ยเอาคืนจากลูกหนี้ได้ ตามที่กล่าวในข้อ 6   
           หากข้อตกลงลดจำนวนหนี้ ทำขึ้นภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว หากข้อตกลงมีการขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ ถือว่าเป็นการผ่อนเวลา ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้

        8.กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้วผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้รับผิดชอบในหนี้ัตามสัญญา ในฐานเป็นลูกหนี้ และบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินได้ทั้งลูกหนี้และผู้ค้ำประกันจนกว่าหนี้จะได้รับชำระเสร็จสิ้น ซึ่งการบังคับคดีมีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับเรื่องการค้ำประกันที่น่าสนใจ 

         คำพิพากษาศาลฎีกา 7407/2562 แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

       คำพิพากษาศาลฎีกา4882/2559 สัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา380วรรคสองบังคับให้ต้องมีมาแสดงตรงตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94โจทก์คงมีเพียงเอกสารซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่5เป็นผู้ค้ำประกันและผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันค่าเช่าซื้อให้แก่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ตามสัญญาหรือผู้เช่าซื้อตายหรือล้มละลายหรือหนี้เหตุหนึ่งเหตุใดซึ่งกระทำให้ผู้ให้เช่าต้องเสียหายผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบชำระหนี้ตลอดจนค่าเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อมาแสดงต่อศาลเท่านั้น หาใช่สัญญาค้ำประกันมูลหนี้การซื้อขายตามฟ้องมาแสดงต่อศาลไม่ การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่5ทำสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาเอกสารจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา94(ข)จึงต้องฟังว่าโจทก์ไม่มีเอกสารสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องมาแสดงต่อศาลโจทก์จึงฟ้องร้องให้จำเลยที่5รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่1ไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกา5789/2562 สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย


advertisement


        คำพิพากษาศาลฎีกา3583/2562 ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
        ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

       
        คำพิพากษาศาลฎีกา 6403/2561การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่

        การค้ำประกัน เพื่อกิจการอันเนื่องไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงคแก่เจ้าหนี้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้ (ม.699) เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 3183/2545 ตามสัญญากู้ฉบับแรก โจทก์มิได้มอบเงินที่กู้ให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปในคราวเดียว แต่ให้จำเลยที่ 1 เบิกเป็นคราว ๆ ตามความจำเป็น และคิดดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นคราวตามวันที่จ่ายจริง มิใช่นับแต่วันทำสัญญากู้เงินทั้งหมด และแม้ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 มาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มอีกเป็นครั้งที่ 2 โจทก์ก็จ่ายเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นแม้ในสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ทำไว้ต่อโจทก์จะมีข้อความในข้อ 1 วรรคสาม ระบุว่า "เนื่องจากการค้ำประกันตามวรรคแรกเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้นในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ก่อน หรือในขณะทำสัญญานี้และ/หรือที่จะมีขึ้นใหม่ภายหน้า ผู้ค้ำประกันและธนาคารจึงตกลงกันว่าในกรณีที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารแล้ว ถ้าตราบใดธนาคารยังมิได้มีหนังสือแจ้งว่าผู้ค้ำประกันหมดภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันและธนาคารตกลงให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันรายนี้ยังคงมีผลบังคับอยู่ เมื่อเป็นการค้ำประกันหนี้ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าหรือหนี้ใหม่ของลูกหนี้กับธนาคารต่อไปอีกด้วย" อันแสดงให้เห็นได้ว่า สัญญาค้ำประกันฉบับแรกเป็นการค้ำประกันถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 อันมีผลใช้บังคับต่อผู้ค้ำประกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 681 วรรคสอง ก็ตาม แต่ลักษณะของสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ซึ่งผู้ค้ำประกันคือ จำเลยที่ 5 และที่ 6 และที่ 8 อาจใช้สิทธิบอกเลิกการค้ำประกันเพื่อคราวอันเป็นอนาคตต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 699 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 6 และที่ 8 ได้มีหนังสือขอถอนการค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แล้ว ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ฉบับที่ 2 กับโจทก์ สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไป ส่วนจำเลยที่ 5 นั้น แม้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ไปก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ฉบับที่ 2 แต่จำเลยที่ 5 เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 จึงยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อโจทก์ในหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินครั้งที่ 2 ของจำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกอยู่ จำเลยที่ 6 และที่ 8 ในฐานะค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามสัญญากู้ฉบับแรกพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้องต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกา 4308/2656

       หนังสือรับรองการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มีข้อความและเจตนาเข้าทำสัญญาอันมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ทำขึ้นภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 681 และมาตรา 685/1 ที่แก้ไขมาใช้บังคับ เมื่อมูลหนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการประกันมูลหนี้ที่อาจสมบูรณ์ได้ในอนาคต เมื่อเป็นการค้ำประกันลูกหนี้หลายรายรวมกัน โดยไม่มีรายละเอียดระบุจำนวนสูงสุดที่ค้ำประกันในลูกหนี้ในแต่ละราย และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกันไว้ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 685/1
******************
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/      
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น