วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี




        ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่ ๒ ในการนำเสนอตอนที่ ๑ ได้เสนอแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ที่คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด จะต้องทำความเห็นเสนอผู้สั่งแต่งตั้ง พิจารณาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากการที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก หรือทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่โดยในการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการ จะต้องมีขั้นตอนการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด ได้ทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ตามข้อ 15 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์แนวปฏิบ้ติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยต้องแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายและจำนวนที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย ไม่ใช่สอบข้อเท็จจริงในฐานะพยาน
         
          เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ตามบทบัญญัติกฎหมาย ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่ผู้เสียหายอาจเลือกใช้วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดสังกัดอยู่ เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ก็ได้ หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น จะต้องออกใบรับคำขอไว้ และต้องพิจารณาคำขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แล้วเสร็จภายใน  180 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาถึงจำนวนความเสียหาย จำนวนที่ต้องชดใช้และความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย โดยคณะกรรมการต้องดำเนินการและทำความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันเช่นเดียวกัน  ในกรณีดำเนินการไม่แล้วเสร็จและหน่วยงานของรัฐไม่สามารถพิจารณาคำขอได้ทันกำหนด 180 วัน และไม่ได้แจ้งเรื่องขอขยายเวลาพิจารณาให้ผู้เสียหายทราบ  ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ภายในกำหนด  90 วันนับแต่วันพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ได้มีการยื่นคำขอไว้  หรือเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายแล้ว ผุ้เสียหายยังไม่พอใจ ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในกำหนด 90 วันเช่นเดียวกัน โดยเมื่อมีการฟ้องคดี หน่วยงานของรัฐต้องประสานสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแก้ต่างคดีต่อไป

          การกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ การพิจารณาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลนอก ค่าสินไหมทดแทนต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ถ้าไม่เกินจำนวนตามประกาศ หน่วยงานของรัฐสามารถชดใช้ให้ได้ทันที แต่ถ้าเกินจำนวนที่กำหนดต้องส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา 

         ถ้าเป็นการทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องพิจารณาด้วยว่าความเสียหายเกินกว่าจำนวนที่ประกาศกระทรวงการคลังที่กำหนดให้ไม่ต้องรายงานหรือไม่ ปัจจุบันถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ พ.ศ.2562 ที่มีความเสียหายครั้งละไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือเกิน 1 ล้านแต่เข้าเงื่อนไขตามประกาศที่ไม่ต้องรายงาน  เพราะถ้าความเสียหายเกินจำนวนที่กระทรวงการคลังกำหนด  ต้องมีการรายงานสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดภายใน 7 วันนับแต่มีการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดแล้วเสร็จ เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาสำนวนและมีความเห็น  ในขั้นตอนนี้ยังไม่สามารถออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ถ้าไปออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ก่อนที่จะมีการรายงานให้กระทรวงการคลังพิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

          เมื่อมีการรายงานกระทรวงการคลังแล้ว และยังไม่มีความเห็นมา ซึ่งก่อนจะครบกำหนดอายุความ 2 ปีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ให้มีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดและผู้สั่งแต่งตั้งได้ เพราะอายุความเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่มีกำหนด 2 ปีนับแต่รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ซึ่งในที่นี้ก็คือวันที่ผู้สั่งแต่งตั้ง พิจารณาสำนวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด เกี่ยวกับความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของเจ้าหน้าที่และจำนวนเงินที่ต้องชดใช้

            คำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้กำหนดในเรื่องอุทธรณ์คำสั่งนี้ไว้  การอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 44 โดยยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ทำคำสั่ง ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ถ้าไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งนี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้น ไม่อาจนำเรื่องไปฟ้องคดีปกครองได้ หรือยื่นอุทธรณ์แล้ว ยังไม่พ้นระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ทำคำสั่ง ก็ยังไม่สามารถนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ เพราะยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแก้ไขความเดือดร้อนตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด  (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.161/2553)

            คำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น ในการออกคำสั่งจะต้องระบุถึงการอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้งและระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ด้วย  ถ้าคำสั่งดังกล่าว ไม่ได้ระบุไว้ต้องแจ้งใหม่ ระยะเวลาอุทธรณ์จึงเริ่มนับแต่วันที่มีการแจ้งเรื่องอุทธรณ์และระยะเวลาอุทธรณ์ใหม่  ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่ จะทำให้ระยะเวลาอุทธรณ์จากเดิมมีแค่ 15 วันจะขยายเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางกปกครอง พ.ศ.2539

            ก็จบสำหรับในตอนที่ 2 ให้ผู้อ่านติดตามตอนต่อไปของความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
 
            
           

            

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น