วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

หนี้ขาดอายุความ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 


        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

        ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้  หนี้ จึงเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้   การที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นกฎหมายกำหนดไว้แล้วสำหรับหนี้ในแต่ละประเภท เช่น สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากร มีกำหนดอายุความสิบปี สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึันโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดหรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ มีกำหนดอายุความสิบปี สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระ เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ค่าเช่าทรัพย์ค้างชำระ เงินค้างจ่าย (เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู) มีกำหนดอายุความห้าปี เป็นต้น สำหรับหนี้หรือสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้  ให้มีกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้องสิบปี

      การใช้สิทธิเรียกร้อง  ทำได้โดยการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น  ถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

      อายุความย่อมมีเหตุที่จะสะดุดหยุดลงได้ ถ้ามีกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ภายในอายุความสิทธิเรียกร้องนั้น คือ ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้น  หรือเจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อต้ังหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ หรือเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา หรือเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่่างอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี 

      เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น จะไม่นับเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่  

คำพิพากษาศาลฎีกา 1482/2547

        การรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ จำเลยชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้วจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่มีผลเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกร้องเงินที่ชำระไปคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกา 15643/2558

        หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/32 เมื่อปรากฏว่าก่อนครบระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไปรวมกับหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้และลูกหนี้ร่วมรายอื่นเป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) มีผลทำให้อายุความตามสิทธิเรียกร้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าลูกหนี้เคยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ วันที่ 30 สิงหาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีลูกหนี้ออกจากสารบบความ กรณีมิใช่คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ที่จะให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ดังนั้น การที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 หนี้ของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาหลังหักราคาขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้

      สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ  ไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนี้ระงับ แต่เป็นเหตุให้ลูกหนี้ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ รวมถึงบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันย่อมยกหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ได้  การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้ว ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด จะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ ซึ่งก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้นั้นเอง  

      หนี้ขาดอายุความ ไม่ต้องห้ามที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาล เนื่องจากปัญหาว่าหนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และหนี้ขาดอายุความ ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหนี้นั้นระงับไป  จึงเป็นหน้าที่ของลูกหนี้หรือจำเลย ที่จะยกข้อต่อสู้เรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพื่อให้ศาลพิจารณายกฟ้อง เนื่องจากในคดีแพ่ง ศาลไม่อาจหยิบยกประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความขึ้นพิจารณาได้เอง  โดยต้องยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การตั้งแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น  ถ้าไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ การยกประเด็นเรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ จะติดปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า  เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์จะไม่พิจารณาประเด็นหนี้ขาดอายุความ ขึ้นพิจารณา

     เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีเรียกให้ชำระหนี้  ลูกหนี้หรือจำเลย จะต้องทำคำให้การแก้ฟ้องของโจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและคำฟ้อง ตามมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยในคำให้การต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า ยอมรับข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ หรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ โดยยกเหตุแห่งการปฏิเสธขออ้างของโจทก์ให้ชัดเจน เพื่อโอกาสในการพิสูจน์ในชั้นสืบพยาน ถ้ามีเหตุหนี้ขาดอายุความ ต้องยกเหตุแห่งการขาดอายุความกล่าวไว้ให้ชัดเจนในคำให้การด้วย  ว่าสิทธิเรียกร้องเริ่มต้นเมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใด 

คำพิพากษาศาลฎีกา 4857/2549


        สัญญาที่โจทก์รับซ่อมรถยนต์ของจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1)
        โจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จให้แก่ผู้ที่นำรถยนต์มาซ่อมแล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิของตนในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระสินจ้างได้นับตั้งแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์แต่ละคันให้แก่ผู้ที่นำมาซ่อม การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน จึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15
        โจทก์นำหนี้จำนวน 41 รายการ รวมเป็นเงิน 402,197 บาท ซึ่งโจทก์สามารถบังคับตามสิทธิของตนได้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 มาฟ้องในวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ซึ่งเกินกว่า 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนหนี้ค่าซ่อมรถอีก 11 รายการ จำนวน 47,500 บาท ปรากฏว่าในวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้บางส่วน หนี้ค่าซ่อมรถทั้ง 11 รายการ ยังไม่ขาดอายุความ อายุความสำหรับหนี้ดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับใหม่ และเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์ในส่วน 11 รายการนี้ จึงยังไม่ขาดอายุความ
        การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจะต้องกระทำก่อนที่หนี้ขาดอายุความ เมื่อหนี้ค่าซ่อมรถจำนวน 402,197 บาท ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 การชำระหนี้บางส่วนของจำเลยในวันดังกล่าวจึงไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกา 5193-5208/2561

        โจทก์ทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาท คนเดิมค้างชำระตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังคงเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกา 7354/2546

        การให้บริการบัตรเครดิตของธนาคารโจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของจำเลยแทนจำเลยไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ2 ปี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาใช้บัตรเครดิตเมื่อเดือนตุลาคม 2540 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์เป็นเงิน 500 บาท ภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยเรียกเงินดังกล่าวคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยสละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24

คำพิพากษาศาลฎีกา 6959/2551


        จำเลยให้การตอนแรกว่าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่กลับให้การตอนหลังว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง เนื่องจากการที่ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิดโดยเถียงว่าหนี้ขาดอายุความนั้นหาได้มีข้อจำกัดว่าลูกหนี้จะยกขึ้นต่อสู้ได้เฉพาะในกรณีที่ยังมิได้มีการชำระหนี้เท่านั้นไม่ การที่จำเลยให้การตัดฟ้องโจทก์ในตอนหลังว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงไม่อาจแปลความหมายได้ว่า จำเลยยังมิได้ชำระหนี้ คำให้การของจำเลยจึงมิได้ขัดแย้งกันเอง

จำเลยให้การโดยระบุเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะมีการซื้อขายสินค้ากันเมื่อปี 2537 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อปี 2548 นั้น เป็นการต่อสู้เรื่องอายุความในกรณีผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกเอาค่าสินค้าตามที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ทั้งนี้โดยจำเลยไม่จำต้องอ้างมาตราในกฎหมายมาในคำให้การ เพราะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมายเอง คำให้การของจำเลยจึงชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกา 15638/2558

        ผู้ร้องนำสืบเพียงการรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องและการเป็นหนี้ค้างชำระของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และ ส. ลูกหนี้ที่ตายหลังจากผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาเท่านั้น มิได้นำสืบถึงมูลหนี้เดิมเพื่อให้รับฟังได้ว่าฝ่ายลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในหนี้ประเภทใด และผิดนัดผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อใดหรือชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อใด ซึ่งแม้หากนับอายุความตั้งแต่ขณะนั้นตามแต่กรณีจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ แต่ฝ่ายลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและจำนอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฝ่ายลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมตั้งแต่ปี 2537 และโต้แย้งด้วยว่า การที่ฝ่ายลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งก็คือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปี 2548 และปี 2549 เป็นการรับสภาพความรับผิดหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว อายุความมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตาม มาตรา 193/35 หนี้ตามคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้านดังกล่าว คดีของผู้ร้องย่อมขาดอายุความตามที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบว่า เจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากฝ่ายลูกหนี้ตั้งแต่เมื่อใดหรือมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความจึงต้องฟังว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้ที่ตายตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และมาตรา 82

คำพิพากษาศาลฎีกา 15158/2558

        เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมและจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ดังกล่าวปรากฏว่า เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) และเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดเมื่อใด แม้เจ้าหนี้จะอ้างว่าในตอนที่รับโอนหนี้มาจากเจ้าหนี้เดิมจะไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระและเงินต้นน้อยกว่าสัญญาก็ตาม แต่พยานหลักฐานของเจ้าหนี้มีเพียงเอกสารการคำนวณภาระหนี้ของเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้จัดทำขึ้นเอง โดยไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้เดิมเมื่อใด อย่างไร การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรก (วันที่ 2 มีนาคม 2539) จึงชอบแล้ว เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2551 สิทธิเรียกร้องในหนี้กู้ยืมเงินจึงขาดอายุความแล้ว และการขาดอายุความในส่วนของหนี้กู้ยืมเงินถือว่าหนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความทั้งหมด มิใช่เพียงส่วนที่เกิน 5 ปี แต่ในส่วนหนี้จำนองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองบังคับจำนองได้แม้หนี้ที่ประกันขาดอายุความ แต่จะบังคับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้หนี้ประธานตามสัญญากู้ยืมเงินจะขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้ ซึ่งตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงไม่เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์ดังกล่าวเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกา 2456/2551

        โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทบัตรเครดิตยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตร การที่จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่น โจทก์จำเป็นต้องชำระเงินแทนจำเลยไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยในภายหลัง จึงเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิก เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) มิใช่กรณีของลักษณะสัญญาพิเศษอันไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความจึงมีอายุความ 2 ปี

        จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2535 โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 2 มกราคม 2536 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2536 เป็นต้นไป ครบกำหนดอายุความในวันที่ 3 มกราคม 2536 การที่โจทก์นำเงินจำนวน 4,326.42 บาท ของจำเลยมาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เป็นการนำเงินฝากจากบัญชีอื่นตามที่โจทก์และจำเลยได้เคยตกลงกันไว้มาหักชำระหนี้โดยที่จำเลยไม่ได้รู้เห็นด้วยจึงเป็นการกระทำของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลย อีกทั้งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 พ้นกำหนดเวลา 2 ปี จึงขาดอายุความ

       ในคดีล้มละลาย แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น  กรณีเจ้าหนี้นำมูลหนี้ที่ขาดอายุความแล้วมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  แต่ปัญหาว่าหนี้ใดเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153      

คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 875/2536

        ปัญหาที่ว่ามูลหนี้ซึ่งเจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ขาดอายุความจึงนำมาขอรับชำระหนี้ไม่ได้นั้น แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาว่าหนี้ใดเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าส่งมอบคลังสินค้าที่เช่าให้เจ้าหนี้ผู้เช่ามีพื้นที่น้อยไปกว่าที่จำเลยที่ 1 มีคำเสนอให้เช่าและตามสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับค่าเช่าจากเจ้าหนี้ได้ตามส่วนพื้นที่ที่ให้เช่าตามความเป็นจริงเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ประกอบมาตรา 466ส่วนค่าเช่าที่รับไว้เกินโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้รู้ในขณะชำระว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระในส่วนที่เกิน จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบเจ้าหนี้มีสิทธินำคดีไปฟ้องเรียกคืนในฐานเป็นลาภมิควรได้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนค่าเช่าดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2528 ก็แสดงว่าเจ้าหนี้ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนนับแต่วันนั้นแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 28 กันยายน 2530 จึงเป็นการล่วงเลยระยะเวลา 1 ปี คดีขาดอายุความต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 419 แล้วเจ้าหนี้ไม่อาจนำมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

         กรณีที่ลูกหนี้ไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่ยอมรับชำระหนี้ที่ขาดอายุความนั้น ถือว่าได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียแล้ว ต้องชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงยอมรับกัน ไม่ว่าจะโดยคำพิพากษาตามยอม หรือทำสัญญายอมรับชำระหนี้ขึ้นใหม่ ให้ประกัน หรือได้มีการชำระหนี้ไปแล้ว ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอม มีอายุความ 10ปี  สิทธิเรียกร้องตามสัญญายอมรับชำระหนี้ที่ทำขึ้นใหม่ หรือการให้ประกัน มีอายุความ 2 ปี
    
        การสละประโยชน์แห่งอายุความของลูกหนี้ ไม่มีผลให้บุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ภายหลังที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  (บุคคุลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันหลุดพ้น เมื่อหนี้ขาดอายุความ)    

คำพากษาศาลฎีกา 7155/2547


        สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิดตามมาตรา 193/35 ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกา 4313/2565

        ดังนี้ มูลหนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. หลังจากที่จําเลยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เป็นเรื่องของเวลาการชําระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่มูลหนี้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เมื่อการฟื้นฟูกิจการของจําเลยเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลย จําเลยจึงหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/75 แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติระบุว่า การหลุดพ้นจากหนี้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ทั้งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. หนี้จะระงับสิ้นไปเมื่อได้มีการชําระหนี้ครบถ้วน ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่จําเลยหลุดพ้นจากการชําระหนี้คงมีผลเพียงว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ และจําเลยไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เท่านั้น แม้จะฟังว่าหนี้ขาดอายุความ แต่การที่หนี้ขาดอายุความก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุว่าให้หนี้ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลย ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้กับสัญญาจำนำหุ้นดังกล่าว จึงยังคงมีอยู่ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลยแล้ว ผู้บริหารของจําเลยย่อมมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจําเลยได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 (1) การที่จําเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ในหนี้ที่โจทก์ได้ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้ทำสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่จําเลยทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย จําเลยจึงต้องชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องให้แก่โจทก์ จําเลยจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สัญญาจำนำจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน ความรับผิดตามสัญญาจำนำหุ้นย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธาน ดังนี้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำหุ้นจึงต้องบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกา 9121/2538

        กรณีที่จะต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาหนี้ขาดอายุความภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์มาก่อน การที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ขอชำระหนี้แทนบริษัท บ. ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 193/35 แต่กรณีเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากบริษัท บ.จำกัด มาเป็นจำเลย

        การฟ้องคดีตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/30

คำพิพากษาศาลฎีกา 5314/2544

        มูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีอายุความ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 การที่เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายก่อนที่ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับจะครบกำหนดอายุความ เป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้อง ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อให้จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายแต่อย่างเดียว ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173(เดิม) แม้ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องคดีล้มละลายอันเป็นผลให้ไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดลงตามมาตรา 174(เดิม) ก็ตาม แต่เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ลูกหนี้ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้หนี้ต่อเจ้าหนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ได้ละเสียซึ่งอายุความที่ครบบริบูรณ์และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันรับสภาพหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนครบกำหนดอายุความซึ่งมีกำหนดเวลา 3 ปี เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

        สิทธิเรียกร้องที่มีต่อทรัพย์สินจำนอง จำนำ หรือถูกยึดหน่วงไว้เป็นประกัน (มีหลักทรัพย์ประกันการชำระหนี้) ผู้รับจำนอง จำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ยึดถือไว้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยค้างย้อนหลังเกินห้าปีไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกา 1127/2563

        คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2)เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้” ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1)เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ


-----------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น เดือน  กรกฎาคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น