วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566

รับราชการ(ครู) ให้ปลอดภัย

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี




        ก่อนอ่านบทความ เพื่อส่งกำลังให้ผู้จัดทำ คลิกโฆษณาในบล๊อกให้ด้วยครับ

        บทความนี้ จะเน้นไปที่ข้าราชการครูผู้สอนเป็นหลัก  เนื่องจากการที่ข้าราชการครู ในตำแหน่งครูผู้สอน นอกจากจะต้องทำหน้าที่ในการสอนหนังสือให้กับนักเรียนแล้ว  การได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาในทำหน้าที่อื่นๆ  เช่น หน้าที่งานบริหารงานบุคคล ในเรื่อง การประเมิน การเลื่อนเงินเดือน อื่นๆ เป็นต้น หน้าที่่ด้านนโยบายและแผน  หน้าที่งานบริหารงานทั่วไป  และหน้าที่งานการเงินและพัสดุ

         จะกล่าวถึงการทำหน้าที่งานการเงินและพัสดุ  ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกชี้มูลกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือความผิดทางอาญา  ที่มีผลต่อชีวิตราชการมากที่สุด ถ้าเป็นครูบรรจุใหม่  ความรู้ความเข้าใจจะน้อย  จะทำตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือมอบหมาย โดยแยกไม่ออกว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปฏิบัติแล้วตนเองมีความเสี่ยงต่อชีวิตราชการหรือ บางครั้ง บางโรงเรียน อาจถูกบังคับจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการ ถ้าไม่ได้ทำจะถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ ถูกด่าว่า ถูกกลั่นแกล้งในการเลื่อนเงินเดือน หรือการประเมิน เป็นต้น ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่ ครูผู้บรรจุใหม่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลกระทำผิดวินัยและคดีอาญา กรณีเป็นคณะกรรมการที่ร่วมดำเนินการในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับสนามฟุตซอล 

         งานการเงินและพัสดุ ครูจะได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ  เจ้าหน้าที่การเงิน หัวหน้างาน ส่วนครูรายอื่น อาจถูกแต่งต้ังให้เป็นคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะ คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา คณะกรรมการควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ  ซึ่ง ครูที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวให้เข้าใจ ไม่อาจปฏิเสธการได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะกรณีนี้ ถือว่าผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ดำเนินการที่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย  ครูที่ปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ถือว่าทำผิดวินัยในเรื่องขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และละทิ้งหน้าที่ราชการ

        งานที่เกี่ยวข้องการพัสดุ จะต้องศึกษาทำความเข้าใจพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หนังสือตอบข้อหารือ และแนวปฏิบัติต่างๆที่ออกมาตามกฎหมายดังกล่าวให้ชัดเจนก่อนปฏิบัติ ซึ่งในความเป็นจริง ครูที่ได้รับมอบหมายจะไม่ค่อยมีความรู่้ความเข้าใจมากนัก 

        กรณีซื้อของ แต่ไม่มีของ  จะมีประเด็นเกี่ยวข้องว่า ใช้เงินไหนจ่าย เงินงบประมาณราชการ หรือเงินรายได้สถานศึกษา  ถ้าไม่ใช่อาจเป็นเงินสวัสดิการของสถานศึกษา  

        ถ้าเป็นเงินงบประมาณราชการหรือเงินรายได้สถานศึกษา  ซื้อของแต่ไม่มีของ  แต่เจ้าหน้าที่พัสดุทำเรื่องเสนอขอซื้อ ผ่านสายงานตามลำดับ มีการเสนอให้แต่งต้ังคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และผู้บริหารสถานศึกษาอนุมัติ และมีการส่งต่อให้ฝ่ายการเงินเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง โดยไม่ปรากฎตัวผู้รับจ้าง  โดยทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา กรณีนี้ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตทั้งหมด เพราะเป็นการร่วมกันเบิกจ่ายเงินงบประมาณราชการ เพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ไม่มีการซื้อจริง  

        กรณีดังกล่าว ถ้าครู ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้น ต้องมีการทำความเห็นโต้แย้งหรือคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษร  โดยครูต้องทำใจเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตน จากการไม่ปฏิบัติตามที่สั่ง กรณีซื้อของแต่ไม่มีของ  การที่เจ้าหน้าที่พัสดุ เจ้าหน้าที่การเงิน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ไม่ยอมดำเนินการไม่ลงลายมือชื่อให้ ไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา  เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  การสั่งการให้เจ้าหน้าที่เบิกจ่ายเงิน หรือร่วมลงชื่อเบิกจ่ายเงินร่วมกับผู้บริหาร หรือเป็นกรณีให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ลงลายมือชื่อตรวจรับโดยไม่มีการตรวจรับสิ่งของ ไม่ต้องดูสิ่งของ ไม่เห็นสิ่งของ ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามไม่ใช่การกระทำผิดวินัย แต่ถ้ายอมปฏิบัติตาม ยอมลงชื่อให้ จะกล่าวอ้างว่าไม่ได้ร่วมกระทำการทุจริตนั้น จะรับฟังไม่ได้ ถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำทุจริตด้วย
        
        กรณีการทุจริตโครงการอาหารกลางวัน นั้นมีหลายรูปแบบ  การหักเปอร์เซนต์จากผู้รับจ้างโดยไม่เต็มใจหรือเต็มใจ ซึ่งจะมีผลต่ออาหารที่ทำให้เด็กรับประทาน โดยอาหารกลางวันได้รับสนับสนุนงบประมาณจากราชการ มีตั้งแต่ หัวละ 21 บาทขึ้นไป ถ้ามีการหักเปอร์เซนต์จากผู้รับจ้าง ย่อมมีผลต่อคุณภาพและปริมาณของอาหาร ครูที่มีส่วนรับผิดชอบคือ ครูผู้เป็นหัวหน้าโครงการอาหารกลางวัน คณะกรรมการตรวจรับอาหารกลางวันในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่พัสดุ  ครูทำหน้าที่การเงิน หากลงลายมือชื่อรับรอง ถูกต้อง ครบถ้วนมีคุณค่าทางอาหารตามหลักโภชนาการ จะมีผลต่อการพิจารณาดำเนินการทางวินัยด้วย ถ้าปรากฎข้อเท็จจริงว่าาอาหารไม่มีคุณภาพ ไม่เพียงพอ 

        กรณีเบิกจ่ายอาหารกลางวัน ในวันที่ไม่มีการประกอบอาหารจริง โดยครูที่ทำหน้าที่พัสดุ การเงิน คณะกรรมการตรวจรับอาหารกลางวัน ผู้รับจ้างและผู้บริหาร  ร่วมกันลงชื่อในเอกสารครบถ้วนและเบิกจ่ายเงิน ถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำทุจริตทั้งสิ้น เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้า่ยแรง ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536  ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการสถานเดียว ซึ่งทำให้ข้าราชการผู้นั้น ไม่ได้สิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล และเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกและปรับ เมื่อถูกออกจากราชการ ถูกจำคุก ถือว่าเสียหายต่อครูผู้นั้นมาก

         การจัดซื้อจัดจ้าง  ผู้บังคับบัญชาจะเบิกจ่ายเงินได้ ต้องดำเนินการให้ครบทุกขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หนังสือตอบข้อหารือ และแนวปฏิบัติต่างๆ โดยต้องมีลายมือชื่อของครูที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าว  การที่ครูที่ทำหน้าที่การเงินร่วมลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินร่วมกับผู้บริหาร เพื่อเบิกจ่ายเงินจากบัญชีที่เป็นเงินของทางราชการ โดยไม่ปรากฎหลักฐานการจ่ายที่แท้จริง ถือว่าเป็นการร่วมกันทุจริตในการเบิกจ่ายเงินนั้น 

        ข้ออ้างของครูที่ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือ ต้องจำยอมทำตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง  นั้นย่อมฟังไม่ได้  เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาทำความเข้าใจก่อนที่จะดำเนินการ  

        ในบทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องการการเงินและพัสดุ หรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและพัสดุ ไม่ใช่เรื่องที่เสี่ยง หากผู้ปฏิบัติศึกษาทำความเข้าใจ และปฏิบัติได้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย โดยต้องพิจารณาคำสั่งของผู้บังคับบัญชาว่าเป็นการสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น

        ผู้บังคับบัญชาสั่งแต่งต้ังให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ  ถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่ถ้าสั่งให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ลงลายมือชื่อตรวจรับโดยไม่มีของ ไม่ต้องดูสิ่งของ หรือมีสิ่งของไม่ครบ ไม่ตรงรายการ คำสั่งนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โต้แย้งและไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาหรือละทิ้งหน้าที่  แต่ต้องโต้แย้งไว้เป็นลายลักษณะอักษร เพราะในความเป็นผู้บริหาร จะอ้างว่าสั่งการโดยชอบ แต่ครูไม่ปฏิบัติ จึงลงโทษทางวินัย  

        หรือเป็นกรณี ครูลงลายมือชื่อตรวจรับพัสดุ โดยไม่เต็มใจ ถูกบังคับ ถูกขู่เข็ญ ด่าว่าด้วยวาจา เมื่อเกิดกรณีสอบสวนทางวินัย  ผู้บริหารจะกล่าวอ้างว่าไม่ได้บังคับ ขู่เข็ญ ครูลงลายมือชื่อด้วยความเป็นเต็มใจ ผู้บริหารจึงเชื่อว่ามีการดำเนินการถูกต้อง จึงอนุมัติให้จ่ายเงิน ก็อาจจะเป็นเช่นนี้ได้ เป็นการกล่าวอ้างให้ตัวเองพ้นผิดวินัย โดยดึงครูที่ร่วมดำเนินการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  เปรียบเสมือนโยนความผิดให้เพื่อนโดยเข้าใจว่าตนเองจะพ้นผิด ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครพ้นผิด ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ผิดวินัยร่วมกันทุกคน
ฉะนั้นจึงต้องรู้ทัน ก่อนลงลายมือชื่อให้ 

        ที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและพัสดุเท่านั้น ซึ่งยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดการกระทำผิด แต่อาจเป็นกรณีที่เตือนสติให้ครูบรรจุใหม่ได้เข้าใจและหลีกเลี่ยงการกะทำดังกล่าว  ดังนั้น ถ้าอ่านบทความนี้แล้ว ทำความเข้าใจ แยกแยะคำสั่งได้ว่า ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะทำให้เรารับราชการอย่างปลอดภัยจากการถูกต้องข้อกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ 

        ถ้าเราไม่ร่วมมือในการกระทำทุจริตและประพฤติไม่ชอบ  สักวันการทุจริตและประพฤติมิชอบจะลดน้อยลง (หมดไปนั้นยากเกินไปที่จะคิด)

 หมายเหตุ   ทุจริต  หมายถึง  การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
                   ประพฤติมิชอบ  หมายถึง  การปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย

-----------------------------------------------------------------
        





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น