วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ต้นไม้หักโค่นล้มเป็นเหตุให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ เรียกค่าเสียหายจากผู้ที่รับผิดชอบได้

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


            ห่างหายจากการนำเสนอบทความทางกฎหมายไปช่วงหนี่ง มาเดือนนี้ตุลาคม 2564 สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิท 2019 เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ดีขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังเป็นหลักหมื่น แต่ความตื่นตกใจกลัว เริ่มลดน้อยลง ประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น  แต่ก็มีการเสนอข่าวว่าคนที่รับวัคซีนไขว้แล้วเสียชีวิต ซึ่งจะมีสาเหตุจากการรับวัคซีนหรือไม่นั้นต้องติดตามข่าวกันต่อไป สรุปก็คือโรคติดเชื้อไวรัสโควิท 2019 ก็น่ากลัว การไปฉีควัคซีนป้องกันโควิทก็น่ากังวลสำหรับบางคนว่าจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ 

            มาถึงเรื่องบทความสำหรับครั้งนี้ เสนอหัวข้อเรื่อง "ต้นไม้หักโค่นล้มเป็นเหตุให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ เรียกค่าเสียหายจากผู้ที่รับผิดชอบได้ " เป็นเรื่องจริงจากแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.2/2563 ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานราชการเป็นผู้ดูแลรักษาพันธุ์ไม้ตามถนน เมื่อต้นไม้หักโค่นล้มลง เป็นเหตุทำให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ฟ้องเรียกให้ผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ 

            ในคดีนี้ มีข้อเท็จจริงว่า ผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารปรับอากาศลำปางได้รับความเสียหายจากการที่กรมทางหลวง กระทำประมาทในการดูแลรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงสายถนนพหลโยธิน เป็นเหตุให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ข้างทาง บริเวณร่องถนน หักโค่นล้มขวางหน้ารถยนต์ที่กำลังแล่นอยู่บนเส้นทาง ในระยะ 10 เมตร โดยพนักงานขับรถยนต์ต้องห้ามล้อในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถยนต์เสียหลักพุ่งตกลงข้างทางเป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย 

            ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงรวมถึงการดูแลรักษาพืชพันธุ์ต้นไม้ที่อยู่ในเขตทางหลวงและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในเขตทางหลวงตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในเขตทางเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมทางหลวง(อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 ประกอบกฎหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง) เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า แม้ในวันเกิดเหตุจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง แต่ปัจจัยที่ทำให้ต้นไม้หักโค่นลงมาจนทำให้เกิดอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว เกิดจากฝนที่ตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้มีปริมาณน้ำขังสะสมอยู่ในบริเวณร่องกลางถนนเป็นจำนวนมากจนดินอ่อนตัวลงรากของต้นไม้ไม่สามารถยึดเกาะดินไว้ได้ เมื่อมีลมกระโชกแรงต้นไม้จึงหักโค่นล้มลงไปในบริเวณผิวทางจราจรทั้งสองด้านในระยะกระชั้นชิด จนเป็นเหตุทำให้รถยนต์เสียหลักพุ่งลงข้างทางได้รับความเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมทางหลวงสามารถระมัดระวังป้องกันภัยได้โดยการจัดให้มีการตัดแต่งกิ่งต้นไม้และค้ำจุนต้นไม้ หรือตัดทำลายต้นไม้ที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงให้อยู่ในสภาพปลอดภัยในช่วงฤดูฝน เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เหตุอันจะให้ผลพิบัติที่ไม่สามารถป้องกันได้ อันถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กรมทางหลวงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด แม้กรมทางหลวงจะอ้างว่าได้ตรวจตราและบำรุงรักษาต้นไม้ รวมทั้งสภาพของดินเป็นพิเศษแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่ายังหาเพียงพอที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ใช้ทางหลวงอื่นไม่ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นจึงถือว่ากรมทางหลวง ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการดูแลรักษาบำรุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงเป็นเหตุทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ผู้ถูกฟ้องคดี(กรมทางหลวง) ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

            คดีดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิฟ้องหน่วยงานทางปกครอง จากการกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 

           ตามแนวคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว สามารถนำไปปรับใช้กับความเสียหายที่เกิดจากต้นไม้หักโค่นล้มที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของเอกชนได้ เช่น ต้นไม้ภายในโครงการหมู่บ้านที่มีนิติบุคคลดูแลอยู่ หรือต้นไม้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของบ้านหลังใดหลังหนึ่ง  ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้รับผิดชอบดูแลต้นไม้ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยแจ้งให้รับผิดชอบ หากไม่รับผิดชอบสามารถนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลแพ่งต่อไปได้  

           

ขอขอบคุณ     

        เอกสารแนวทางการปฏิบัติราชการ จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ประจำปี 2563 ของสำนักงานศาลปกครอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น