วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สิทธิฟ้องคดีปกครองของทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี




       สิทธิฟ้องคดีปกครองของทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย   เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เดียว เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบ้ติหน้าที่ราชการ และเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้เป็นทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย ที่ควรจะรู้และเข้าใจ โดยผู้เขียนได้พบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่มีการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไว้ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางของผู้เป็นทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย จะนำมาเป็นแนวทางในการฟ้องคดีปกครอง ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ก็สามารถนำมาเป็นแนวทางในการต่อสู้คดีได้ โดยมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 245/2548 และคำสั่งที่ 353/2549 ดังนี้

        คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 245/2548 ผู้ฟ้องคดีเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ส. และอยู่ในระหว่างร้องขอต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นาย ส. เป็นคนสาบสูญ เนื่องจาก นาย ส. ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือถึงแก่ความตาย หากผู้ฟ้องคดีมีหลักฐานหรือพิสูจน์ได้ว่า นาย ส.ถึงแก่ความตาย โดยความตายนั้นมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากได้ละทิ้งหน้าที่ราชการเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร คำสั่งลงโทษ นาย ส.ออกจากราชการย่อมเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองก็จะมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้น จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จากคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

        คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 353/2549 ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นภรรยาและบุตรของ นาย จ.ซึ่งถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่นาย จ.ได้ถึงแก่ความตายระหว่างที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เห็นว่าการสอบสวนและการลงโทษ นาย จ.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่นาย จ.ออกจากราชการ และขอให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินบำนาญปกติที่ถูกชะลอการจ่าย และให้ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญตกทอดของนาย จ. จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากคำสั่งลงโทษไล่นาย จ.ออกจากราชการ เนื่องจากไม่ได้รับเงินบำนาญปกติและเงินบำเหน็จตกทอดของ นาย จ. 

(คลิกโฆษณา)

        จากคำสั่งของศาลดังกล่าว แยกเป็นประเด็นที่จะศึกษาได้ดังนี้

        1. สิทธิที่จะฟ้องคดีปกครองของทายาท ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ตามหลักกฎหมายของผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีปกครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 

       2. การถูกดำเนินการทางวินัยในที่นี้ จะต้องสิ้นสุดจนมีคำสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว  เนื่องจากการถูกสอบสวนทางวินัยนั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการสอบสวน คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ยังไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่มีผลเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นเพียงกระบวนการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งในที่นี้ก็คือ คำสั่งลงโทษทางวินัยนั่นเอง  โดยประเด็นนี้มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้หลายคดี เช่น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 737/2549  และที่ 126/2550 เป็นต้น ซึ่งตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เป็นคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการที่ทำให้ผู้ถูกลงโทษไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินดังกล่าว

      3.สิทธินั้นจะมาถึงทายาทได้ ผู้ถูกลงโทษทางวินัยผู้นั้น ต้องถึงแก่ความตายแล้ว โดยอาจเป็นกรณีผู้ถูกลงโทษได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการแล้ว ถึงแก่ความตาย หรือผู้ถูกลงโทษได้ตายระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย เช่น ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลตาม คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 353/2549   

     4.ต้องเป็นทายาทของผู้ถูกลงโทษทางวินัย ซึ่งคำว่า "ทายาท" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มีทายาท 2 ประเภท คือ ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" หรือทายาทโดยพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม" 

       ทายาทโดยธรรม  มีหกลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่งดังล่าว คือ (1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3)พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4)พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (5) ปู่ย่าตายาย (6) ลุงป้าน้าอา  และคู่สมรส(เฉพาะที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย) ที่ยังมีชีวิตก็เป็นทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกัน 

                                                                        (คลิกโฆษณา)

        ฉะนั้น เมื่อผู้นั้นถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ทำให้ผู้นั้นไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเมื่อผู้ถูกลงโทษได้ตายไป ทำให้ทายาทไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดด้วย  ซึ่งหากเห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีการฟ้องคดีปกครองแล้ว ศาลเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว ก็จะทำให้ผู้นั้นกลับมามีสิทธิประโยชน์จากทางราชการต่อไปจะทำให้ทายาทได้รับบำเหน็จตกทอดจากทางราชการต่อไป 

        สำหรับทายาทโดยพินัยกรรม จะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิฟ้องคดีปกครองในประเด็นนี้หรือไม่ ผู้เขียน ยังค้นหาแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในประเด็นนี้ไม่ได้ แต่มีความเห็นว่า ทายาทโดยพินัยกรรมจะมีสิทธิฟ้องคดีปกครองในประเด็นดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องไปพิจารณาว่า พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ให้สิทธิทายาทโดยพินัยกรรม เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดจากผู้ตายหรือไม่ 

         ก็เป็นการนำเสนอเพียง "สิทธิในการฟ้องคดีปกครอง" เท่านั้น  ส่วนประเด็นว่าจะชนะคดีหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหาก  ก็ถือว่าพอสมควรแก่เนื้อหาในประเด็นนี้ครับ ถ้าท่านใดอ่านแล้ว มีข้อคิดเห็นหรือมีหลักกฎหมายที่จะนำมาเพิ่มเติมในประเด็นนี้ได้ก็สามารถให้ข้อมูลผู้เขียนได้ครับ

        




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น