วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฟ้องซ้อน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


ฟ้องซ้อน


             บทความนี้ จะนำเสนอข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่ง  ในเรื่อง ฟ้องซ้อน  เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจ และรวบรวมแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องไว้ในบทความ เป็นเรื่องที่เคยศึกษามาแล้ว แต่เมื่อไม่ได้ใช้ จึงจำหลักไม่ได้ จึงขอรวบรวมไว้ เพื่อสามารถนำไปใช้ได้ต่อไป และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ 

            การฟ้องคดีแพ่ง เริ่มต้นเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจก็ได้ เป็นบทเริ่มต้นของการดำเนินคดีแพ่ง ถ้ายังไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่ต้องใช้สิทธิทางศาล ถือว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินคดีแพ่งแต่อย่างใด 

           การฟ้องคดีแพ่ง ห้ามมิให้ฟ้อง พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเป็นครั้งแรกในศาลหรือโดยศาลอื่นนอกจากศาลชั้นต้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งเป็นอย่างอื่น เป็นบทกฎหมายจำกัดห้ามไว้ คดีแพ่งต้องเริ่มที่ศาลชั้นต้นเสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายเป็นอย่างอื่น

            คดีมีประเด็นข้อพิพาทที่มีคู่กรณี การเสนอข้อหาของตนให้ทำเป็นคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น  คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น การบรรยายฟ้องจึงต้องครบถ้วนตามที่กล่าว นอกจากนี้เมื่อยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะตรวจคำฟ้องที่ได้ยื่นต่อศาลหรือส่งให้คู่ความ ถ้าศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่เข้าใจหรือเขียนฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่มีรายการ ไม่มีมีลายมือชื่อ ไม่แนบเอกสารต่างๆตามที่กฎหมายต้องการ หรือมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ศาลจะมีคำสั่งให้คืนให้ไปทำมาใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใดๆ ตลอดจนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ถ้ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น (มาตรา 18) คำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องนี้ อยู่ในบังคับของการอุทธรณ์ฎีกาได้ โดยไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา การอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป

            ในชั้นตรวจคำฟ้อง  ศาลมีอำนาจตรวจสอบว่า คำฟ้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา มีคำขอบังคับ มีการอ้างมาตรากฎหมายที่จะบังคับตามข้อหานั้นหรือไม่ โดยศาลมีอำนาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น  หรือมีคำสั่งให้คืนไป หรืออาจมีคำสั่งให้ยกเสีย(ยกฟ้อง) การไม่รับคำฟ้อง อาจจะเป็นกรณีเป็นฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ หรือกระบวนพิจารณาซ้ำ ก็เป็นไปได้ แต่ถ้ามีคำสั่งให้ยกเสีย(ยกฟ้อง) แสดงว่าศาลได้มีการพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีกับพยานหล้กฐานแล้ว เมื่อไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาล กฎหมายให้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้

            คำสั่งของศาลที่ไม่รับคำฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง หรือคืนคำฟ้องให้ทำมาใหม่  หรือยกฟ้อง  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ โดยไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา การอุทธรณ์อยู่ในบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี (มาตรา 227 ) หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น การฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา  การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฏีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ แล้วศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาไปยังศาลฎีกา และศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคำร้องนั้น (มาตรา 247)

             เมื่อยื่นคำฟ้องแล้ว ศาลมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา (มาตรา 172 วรรคสาม) ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว  หรือกรณีศาลไม่รับคำฟ้องหรือคืนคำฟ้องมาให้ทำใหม่ หรือยกเสีย แต่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นอยู่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ยังถือว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา  ถ้ามีการเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันหรือต่อศาลชั้นต้นศาลอื่น โดยโจทก์คนเดียวกัน มีประเด็นในเรื่องเดียวกัน จะถือว่าเป็นฟ้องซ้อน กับคำฟ้องที่อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะ


advertisement


            ฟ้องซ้อน มีตัวบทที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 173 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า "นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้  (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น และ .."

            ประเด็นจะเป็นฟ้องซ้อน จึงประกอบด้วย โจทก์คนเดียวกัน ฟ้องเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว หรือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องหรือยกฟ้องข้างต้น  จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคำฟ้องเดิมที่อยู่ระหว่างพิจารณา  มีแนวคำพิพากษาฏีกา เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา 2222/2562 คดีสองสำนวนก่อนกับคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายฉบับเดียวกันในคราวเดียวกัน จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกัน แม้คดีนี้จะมีคำขอที่แตกต่างกันไปโดยอ้างข้อตกลงในสัญญาตัวแทนจำหน่ายว่าภายหลังเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมีหน้าที่รับคืนสินค้าแต่จำเลยไม่รับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นคำขอที่สามารถขอได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว เพราะการเรียกค่าเสียหายเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยเลิกสัญญาฉบับเดียวกัน และจำเลยมีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายไปยังโจทก์ พร้อมกับแจ้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้โจทก์ส่งมอบสินค้าในคลังสินค้าคืนแก่จำเลยตามราคาที่สั่งซื้อไปถึงสองครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยและกลับไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นสองคดีก่อน แสดงได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องคืนสินค้ากันก่อนฟ้องสองคดีก่อน และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในคดีนี้สามารถเรียกได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว หรือหากมีความเสียหายเพิ่งปรากฏภายหลังฟ้องสองคดีก่อน โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายในสองคดีก่อนได้ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันใหม่เป็นคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 879/2559 คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนให้ออกจากที่ดินพิพาท คดีทั้งสามอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องในทั้งสามคดีดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงถือว่าโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในทั้งสามคดีตามที่จำเลยแต่ละคดีขอให้ศาลมีหมายเรียก ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 4 ในฐานะจำเลยร่วมอาจถูกบังคับตามคำฟ้องได้ มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามคดีด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นคู่ความในทั้งสามคดีดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังนั้น คู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีทั้งสามจึงเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันกับคดีทั้งสามว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้กับคดีทั้งสามจึงมีอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 4 โจทก์คดีก่อนอาจเรียกค่าเสียหายอย่างที่เรียกคดีนี้ได้จากคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ในระหว่างที่คดีทั้งสามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อันเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันอีก ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

advertisement




            ประเด็นฟ้องซ้อนในคดีอาญา บทบัญญัติกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติให้คดีอาญาเรื่องเดียวกัน ผู้เสียหายอาจยื่นฟ้องคดีเอง หรือพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันหรือศาลอื่น  คำฟ้องนั้นไม่เป็นฟ้องซ้อน ศาลมีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันได้ แต่ถ้าผู้เสียหายคนเดียวกัน ฟ้องจำเลยคนเดียวกันในการกระทำความผิดครั้งเดียวกัน แต่ข้อหาในความผิดต่างกัน เป็นฟ้องซ้อนในคดีอาญาได้ โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้" จึงสามารถนำเรื่องฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง มาใช้บังคับได้ เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3131/2562 เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกัน อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดีก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว. ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในความผิดที่ยอมความไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3843/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญา ถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 40 จำเลยทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นจำเลยในคดีตั้งแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และถือว่าคดีส่วนแพ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์รื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ได้เอง อันเป็นฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

           กรณีคำขอส่วนแพ่ง จากการกระทำความผิดทางอาญา ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คือ ความรับผิดทางแพ่งเกิดขึ้นจากการะทำความผิดอาญา ถ้าพนักงานอัยการมีคำขอแทนผู้เสียหายให้ผู้กระทำผิดคืนทรัพย์หรือราคาที่ผู้เสียหายได้สูญเสียไปเนื่องจากกระทำความผิดอาญาแล้ว ผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งและมีคำขอให้คืนทรัพย์หรือราคานั้นอีกไม่ได้ จะถือว่าเป็นฟ้องซ้อน  เพราะคำขอให้คืนทรัพย์หรือราคานั้น เป็นคำขอส่วนแพ่งบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีความแพ่ง แต่ถ้าฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้ชดใช้ดอกเบี้ย หรือค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ไม่ซ้ำกับที่พนักงานอัยการขอ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจพนักงานอัยการมีคำขอในส่วนดอกเบี้ยและค่าสินไหมอย่างอื่นได้  แต่ผู้เสียหายไม่จำต้องฟ้องคดีแพ่งเป็นคดีใหม่ สามารถยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ ดอกเบี้่ย และค่าสินไหมทดแทนอื่น ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้  เช่น 

             คำพิพากษาศาลฎีกา 5830/2562 พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

             คำพิพากษาศาลฏีกา 8905/2561 ารร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)
        คำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง มีหน่วยงานผู้เสียหายเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง คำร้องจึงต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง ซึ่งต้องไม่ใช่จำนวนเงินที่อัยการได้เรียกร้องไปแล้ว เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 1885/2555 พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้คืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่โจทก์ร่วมอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม
        ดอกเบี้ยของเงินจำนวน 43,150 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจะมีคำขอเรียกค่าดอกเบี้ยแทนโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 43,150 บาท ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว

        คำพิพากษาศาลฏีกา 19035/2557 คดีนี้ผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แต่เป็นกรณีที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายเพียงเท่าจำนวนที่ผู้เสียหายเสียไปเท่านั้น ค่าเสียหายอย่างอื่นหรือดอกเบี้ยไม่อาจเรียกคืนแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 580,000 บาท แก่ผู้เสียหายซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้เสียหายเสียไปนั้น จึงขัดต่อมาตรา 43 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 
        คำพิพากษาศาลฎีกา 5400/2560 ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)

         คำพิพากษาศาลฎีกา 21502/2556 ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้อีก
        จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัว และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย

advertisement



            ปัญหาฟ้องซ้อน เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่คู่ความอีกฝ่ายสามารถยกขึ้นให้ศาลวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ที่บัญญัติว่า " เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งใหมีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านั้นแล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบี้องต้นในปัญหานั้น " 
            กรณีที่คู่ความไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในศาลชั้นต้น สามารถยกขึ้นกล่าวได้ในชั้นอุทธรณ์ฏีกา ตามมาตรา 225 ที่บัญญัติว่า "ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบโดยศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการงินิจฉัยด้วย  ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาอันเกียวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องใหกระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ " เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา 1579-1580/2558 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดว่าอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน แม้ทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังที่โจทก์ระบุว่าเป็นโบราณวัตถุ 217 ชิ้น และสร้อยลูกปัดโบราณ 332 เส้น จะเป็นทรัพย์คนละอย่างกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก แต่เมื่อการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก จึงเป็นการกระทำในคราวเดียวอันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

            คำพิพากษาศาลฎีกา 91/2562 ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ  (ฎีกานี้ แสดงถึงการที่คู่ความยกข้อกฎหมายในศาลวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 24)

         กรณีข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความไม่ได้ยกขึ้นอ้าง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  ศาลเห็นเอง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามมาตรา 142 (5) ที่บัญญัติว่า "ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ "  เช่น

             คำพิพากษาศาลฎีกา 1747/2562 จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกรบกวนและแย่งการครอบครอง โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดิน... ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้งที่ระบุว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของจำเลย จึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วจำเลยแย่งการครอบครองหรือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ขาดสิทธิฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) (ฎีกานี้ แสดงถึง ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) )


advertisement



คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ ที่ไม่เป็นฟ้องซ้อน  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 975/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า ใบเบิกเงิน และใบกำกับสินค้าและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 845/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกซึ่งมาชำระค่าสินค้า แล้วไม่นำเงินที่รับชำระพร้อมใบเสร็จที่ออกส่งให้แก่ฝ่ายการเงินและไม่ได้นำไปตัดยอดหนี้ให้แก่สมาชิก ในคดีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการปลอมใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6941/2560 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นจำเลยในคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ลักทรัพย์และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มีโจทก์เป็นผู้เสียหาย และมีคำขอให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 คืนหรือใช้ราคาดินแก่ผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย เป็นคำฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ 3 การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมวดที่ 2 คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ลงโทษจำเลยที่ 5 เพียงคนเดียว ส่วนคำขอให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปนั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ไม่แน่ชัดว่ามีเพียงใด จึงให้ยกคำขอของโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้คืนหรือใช้ราคาดินในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอาญานั้นเอง มิใช่การฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
            จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ยังไม่เคยถูกฟ้องให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปจากที่ดินโจทก์มาก่อน จึงไม่มีกรณีต้องพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่
            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขุดเอาหน้าดินของโจทก์ซึ่งมีสภาพเป็นดินลูกรังไปเพื่อใช้ในการถมก่อสร้างคันกั้นน้ำชื่อโครงการกระแสสินธุ์ในเขตโครงการชลประทาน และมีคำขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนดินหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่จะเรียกร้องจากผู้เอาทรัพย์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและติดตามเอาทรัพย์คืน และหากคืนไม่ได้ผู้ที่เอาทรัพย์นั้นไปก็ต้องชดใช้ราคา จึงเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ยึดถือโดยไม่มีสิทธิยึดถือ มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

            คำพิพากษาศาลฎีกา 10431/2559 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ และคดีต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1040/2559 คดีก่อนทั้งสองคดีกับคดีนี้โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยทั้งสองในวันเดือนปีเดียวกันในการกระทำความผิดลักษณะเดียวกัน ใบกำกับภาษีที่ว่าปลอมหรือออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นของห้างเดียวกันกับในคดีนี้ และการใช้ใบกำกับภาษีนั้นมีการใช้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าใบกำกับภาษีของทั้งสามคดีเป็นฉบับเดียวกัน ทั้งจำเลยที่ 1 ของทุกคดี เป็นนิติบุคคลคนละคนกัน และ ป.รัษฎากร มาตรา 39 มิได้บัญญัติว่าจำเลยที่ 1 อีก 2 คดีที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเครือเดียวกันถือว่าเป็นนิติบุคคลเดียวกัน มีแต่จำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ในทุกคดี ดังนั้น แม้คดีทั้งสองที่จำเลยทั้งสองอ้างดังกล่าวจะมีคำพิพากษาแล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว
            จำเลยที่2 ในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองดังกล่าว แม้จำเลยที่1จะเป็นนิติบุคคลคนละคนกันก็ตาม แต่ลักษณะแห่งคดีเป็นการนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้เครดิตภาษีในเดือนภาษีเดียวกัน และความผิดเป็นอย่างเดียวกัน คดีทั้งสามมีความเกี่ยวพันกันโดยอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้เมื่อโจทก์แยกฟ้องโดยศาลมิได้สั่งให้รวมการพิจารณาคดีด้วยกัน และโทษที่จะกำหนดลงโทษจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (7) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ดังนั้น หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมแล้ว ก็ต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น การนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของสองคดีดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี


***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น