วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายชู้ หญิงชู้

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

            เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้  สิทธิเรียกค่าทดแทน จากชายชู้ หญิงชู้ ถือเป็นกรณีที่เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวของความเป็นสามีภริยาที่สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการสมรสตามกฎหมาย หมายถึง จดทะเบียนสมรสกันแล้ว การแต่งงานโดยแจกการ์ดเชิญคนมาร่วม มีพิธีสมรส แต่ไม่มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ยังไม่ถือว่าเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการสิ้นสุดการสมรส จะมีได้เมื่อ หย่า ตาย หรือโดยคำพิพากษา(ให้เพิกถอน/ให้สิ้นสุด)การสมรส ดังนั้น เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว การสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่า จึงต้องจดทะเบียนหย่ากันให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะมีผลเป็นการสิ้นสุดการสมรส เช่น 

             คำพิพากษาศาลฎีกา 6553/2537 โจทก์กับสามีโจทก์เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่านอกจากได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนแล้วยังต้องจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1515 อีกด้วย การหย่าจึงจะสมบูรณ์ เมื่อโจทก์กับสามีโจทก์ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่า โจทก์กับสามีโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ดังนั้น แม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์ยอมหย่ากับสามีจำเลยจะไม่ดำเนิน คดีอาญากับโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผย ว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ในทำนองชู้สาวโจทก์ในฐานะภริยาจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง

            คำว่า "ชายชู้"(เป็นชู้กับภริยาคนอื่น)  ทำให้สามีของหญิงที่มีชู้กับชายอื่นมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่มาเป็นชู้ภริยาตนได้   คำว่า "ชายมีชู้ " (มีหญิงอื่นมาเป็นชู้) ทำให้หญิงที่เป็นภริยาของชาย ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาเป็นชู้กับชายสามีตนได้  ถ้าชายชู้ เป็นชายที่มีภริยาอยู่แล้ว เป็นชู้กับหญิงอื่นที่มีสามีอยู่แล้ว ภริยาของชายชู้ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาเป็นชู้กับสามีตนได้ ขณะเดียวกันชายผู้เป็นสามีของหญิงที่มีชู้ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่มาเป็นชู้กับหญิงซึ่งเป็นภริยาตนได้ เป็นสิทธิของคู่สมรสฝ่ายที่เสียหายจากการที่คู่สมรสของตนมีชู้ ที่นอกเหนือจากเหตุฟ้องหย่า  ก็วุ่นๆพอสมควร เรื่องชายหรือหญิงเป็นชู้ หรือมีชู้  

            คำว่า "หญิงชู้ " (เป็นชู้กับสามีคนอื่น) ทำให้ภริยาของชายที่มีหญิงอื่นมาเป็นชู้ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้ คำว่า "หญิงมีชู้" ทำให้สามีของหญิงที่มีชู้ซึ่งเป็นภริยาตน ฟ้องเรียค่าทดแทนจากชายอื่นที่มาเป็นชู้ได้ 

           ชู้ เป็นเหตุให้คู่สมรสอีกฝ่ายฟ้องหย่าได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายมาตรา 1516 อนุมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ "

            แต่ในบทความนี้ จะเสนอประเด็นเกี่ยวกับ สิทธิเรียกค่าทดแทน กรณีชายชู้  และกรณีหญิงชู้  ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 1523 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า " สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" ข้อเท็จจริง ที่จะพิสูจน์ต้องชัดเจนเป็นไปตามตัวบทดังกล่าว 

            หญิงมีชู้ สิทธิที่ผู้เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะฟ้อง ชายชู้หรือชายอื่นที่มาเป็นชู้กับภริยาของตน เพื่อเรียกค่าทดแทนได้ โดยต้องพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่า "ชายอื่น ล่วงเกินภริยาของตน ไปในทำนองชู้สาว " ซึ่งคำว่า "ล่วงเกินไปในทำนองชู้สาว" นั้น มีความหมายขนาดไหนกัน  ไม่มีคำอธิบายความหมายไว้ จึงต้องอาศัยแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาเป็นแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

            ชายมีชู้ สิทธิที่ผู้ที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาเป็นชู้กับสามีตนได้ ต้องพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า  "หญิงอื่นแสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว " ซึ่งมีแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างกันโดยต้องมีพยานหลักฐานที่แสดงว่ามีการแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กัน ถ้ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว กันแบบลับ ปกปิดไม่ให้ใครรู้ ก็ไม่เข้าองค์ประกอบ 

           แนวคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว   เช่น  

           คำพิพากษาศาลฎีกา 964/2562 คำฟ้องโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากพฤติการณ์ที่สามีโจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเช่าของจำเลยในช่วงเวลากลางคืนบ่อยครั้ง โดยขับรถมาเองหรือมาพร้อมกับจำเลยก็ตาม บางครั้งก็นอนพักค้างคืนที่บ้านจำเลยและกลับออกมาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น อีกทั้งสามีโจทก์ยังมีกุญแจที่ใช้เปิดประตูเข้าออกบ้านจำเลยได้เอง แม้ในยามกลางดึกซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยเข้านอนแล้วก็สามารถเข้าบ้านจำเลยโดยไม่ต้องรอให้จำเลยเปิดประตูบ้านให้ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่าที่จะเป็นเพียงนายจ้างหรือลูกจ้างกันตามปกติธรรมดา การที่จำเลยเป็นหญิงที่แต่งงานมีสามีแล้ว ยินยอมให้สามีโจทก์ซึ่งเป็นชายอื่นเข้าออกบ้านจำเลยในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง รวมทั้งให้มานอนค้างคืนที่บ้านแล้วออกจากบ้านไปช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น โดยบางครั้งมีการแต่งกายออกไปทำงานพร้อมกัน ย่อมทำให้เพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่พบเห็นถึงพฤติกรรมระหว่างจำเลยกับสามีโจทก์เข้าใจได้ว่า จำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

           คำพิพากษาศาลฎีกา 4261/2560 โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด
            
             คำพิพากษาศาลฎีกา 10842/2559 ทั้งก่อนและหลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีโจทก์เป็นภริยาแล้ว จำเลยยังติดต่อคบหาสมาคมกับ ท. และติดตาม ท. มาถึงสถานที่ทำงาน อยู่ในห้องทำงานของ ท. และมีเพศสัมพันธ์กันซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน ปกปิดมิดชิดไม่มีผู้ใดล่วงรู้ เมื่อคนงานและเพื่อนร่วมงาน ท. ทราบว่า ท. มีภริยาแล้วและพบเห็นจำเลยกับ ท. มาที่บริษัท โดยจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยกับ ท. มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ หลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีภริยาแล้ว ย่อมทำให้วิญญูชนทั่วไปมีเหตุอันควรเชื่อและเข้าใจว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับ ท. มากกว่าที่จะรู้จักกันในฐานะลูกค้าหรือบุคคลธรรมดาที่รู้จักกันทั่วไป ข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ท. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีที่ฟังยุติมาข้างต้นมิอาจแปลความว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะลักลอบมีเพศสัมพันธ์กับ ท. และพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยกับ ท.

             คำพิพากษาศาลฎีกา 1899/2559 โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนที่ล่วงเกินจำเลยที่ 1 ในทางชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ข่มขืน จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันวางแผนทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 2 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์เข้าใจเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมไปในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และมิได้เป็นผู้ประพฤติชั่วและจะขออยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปคดีของจำเลยที่ 2 ประเด็นฟ้องหย่าจึงพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเห็นควรหยิบยกปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แก่โจทก์หรือไม่ด้วย ซึ่งการกระทำในทำนองชู้สาวต้องมีผู้กระทำสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหญิงคือ จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมแสดงว่าฝ่ายชายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีการกระทำในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกา 6516/2551 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย


             คำพิพากษาศาลฎีกา 4818/2551 โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย โดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. เป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ มิใช่คดีละเมิดธรรมดา ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6
            โจทก์อ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกเป็นพยานไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)
            จำเลยไปรับประทานอาหารกับ พ. ร่วมกับเพื่อนของจำเลยและเพื่อนของ พ. โดยมีการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้ชิดเป็นพิเศษเกินกว่าความสัมพันธ์ในระดับคนที่รู้จักในการทำงานทั่วไปและการที่จำเลยไปพักที่โรงแรมทั้งสองแห่งกับ พ. โดยพักอยู่ห้องเดียวกันและมีเพศสัมพันธ์กัน แม้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์จะเป็นเพื่อนของ พ. เพื่อนของจำเลยและพนักงานงานโรงแรมก็เป็นการแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้
            โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ย่อมไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1094/2539 สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสองกฎหมายมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้จึงไม่ต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(1)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 2940/2538 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตลอดมาจนถึงวันฟ้องลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้องคดี โจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ว่าการฟ้องเรียกค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523 จะต้องฟ้องหย่าเสียก่อน จึงจะเรียกค่าทดแทนได้นั้นเป็นฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสอง ไม่มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้โจทก์ จึงมีอำนาจฟ้อง


            ค่าทดแทน พิจารณาความเสียหายอย่างไร มีแนวคำพิพากษาของศาล เช่น 

             คำพิพากษาศาลฎีกา 4130/2548 ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6558/2542 การที่จำเลยกับป. สามีโจทก์ พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชน โดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุล ของ ป. ด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ป.ในทำนองชู้สาวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับ ป. แต่อย่างใด ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหนมิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ หญิงอื่นเว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหน ป. ผู้เป็นสามีถึงกับต้อง ย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับ ป. ที่จังหวัดจันทบุรีและยังไปร้องเรียน ต่อผู้บังคับบัญชา ป.ให้ว่ากล่าวตักเตือน ป.ให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใดที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของ ป. อีกคนหนึ่ง เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับ ป. ในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมี ความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย มหิดลประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับ ป.สมรส กันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คน สถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ การกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1620/2538 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่2แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่1ซึ่งเป็นสามีโจทก์ในทางชู้สาวตั้งแต่พ.ศ.2518ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ถือว่าจำเลยที่2ประพฤติตนเป็นชู้ของสามีผู้อื่นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมากเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียงและความทุกข์ทรมานทางจิตใจเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172แล้วส่วนความเสียหายแต่ละอย่างเป็นจำนวนเท่าใดเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้และคดีไม่ขาดอายุความ เพราะจำเลยที่2 กระทำละเมิดต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดกระทำจนถึงขณะฟ้อง จำเลยที่2 แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่1 สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่1อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่2ฉันภริยาโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสองได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่1ตกลงหย่ากันเองหรือศาลพิพากษาให้หย่ากัน

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6383/2537 ภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 วรรคสอง ค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว จะฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีอีกไม่ได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 981/2535 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าโจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1ในทำนองชู้สาว จึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัวและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ซึ่งเป็นภรรยาโดยตรง ซึ่งโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่ามีฐานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง ค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองกลางปี 2525 แต่คำฟ้องและชั้นนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยืนยันความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาถึงปี 2528 มิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529

           กรณีฟ้องหย่าด้วยและเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นด้วย ต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันและมีเหตุอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีเป็นอาจิณ แต่ถ้าไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามฟ้อง เนื่องจากมีการทำสัญญาประนีประนอมกัน ศาลมีคำพิพากษาตามยอม จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน (กรณีนี้น่าจะต้องฟ้องหญิงที่เป็นชู้ เป็นคดีใหม่ เพื่อเรียกค่าแทดแทนจากหญิงที่เป็นชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคสอง ภายในอายุความฟ้องคดี  ไม่น่าจะถือเป็นการฟ้องซ้ำหรือเป็นกระบวนพิจารณาซ้ำ ) เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 8943/2557ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว



           เป็นชู้กันจริง แต่เป็นเรื่องลับของคนที่เป็นชู้กัน ไม่แสดงออกโดยเปิดเผยให้ใครรู้ ไม่เข้าองค์ประกอบตามกฎหมาย   เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา 2588/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้นั้น ต้องมีข้อเท็จจริงว่า หญิงอื่นแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์กับสามีตนในทำนองชู้สาว "โดยเปิดเผย" หน้าที่นำสืบให้ได้ความเช่นว่านั้นจึงตกแก่โจทก์ การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ช. สามีโจทก์ โดยได้ติดต่อกันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งข้อความทางโทรศัพท์ ส่งข้อความ (Chat) ทางระบบเครือข่ายไลน์ มีการนัดหมายกันไปมีเพศสัมพันธ์กันตามสถานที่ต่างๆ และมีคลิปวิดีโอภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ช. รวมถึง ช. ได้ส่งดอกไม้ให้จำเลยเป็นประจำ และโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือร้องเรียนถึงพฤติกรรมจำเลยไปที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร ก. เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมและตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลย แต่โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเพียงปากเดียวว่า จำเลยกับ ช. มีพฤติกรรมดังกล่าว แม้จำเลยยอมรับในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยมีเพศสัมพันธ์กับ ช. จริง แต่จำเลยก็ไม่ได้รับว่าตนเองอยู่ในฐานะภริยาอีกคนของ ช. หรือ ช. ได้มีพฤติกรรมยกย่องตนเองฉันภริยาแต่อย่างใด ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอโจทก์ได้มาจาก ช. ทั้งสิ้น โดย ช. เก็บไว้ในโน๊ตบุ๊ก flashdrive และ external harddisk ช. เป็นผู้อธิบายให้โจทก์ฟังว่าสถานที่ต่างๆ คือที่ใดแสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์รู้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ช. กับจำเลยเกิดจากคำบอกเล่าของสามีของโจทก์เองหาใช่การกระทำของทั้ง ช. และจำเลยที่มีการแสดงออกโดยเปิดเผยจนเป็นที่รับรู้และเข้าใจต่อบุคคลอื่นไม่ ไม่ปรากฏพฤติกรรมว่า ช. ได้เลี้ยงดูยกย่องจำเลยเป็นภริยา หรือแยกไปอาศัยอยู่กินด้วยกัน หรือพาจำเลยไปเปิดตัวต่อผู้อื่นในที่ชุมชน หรือพาไปตามสถานที่ต่างๆ แบบเปิดเผย ไม่มีการแสดงออกทั้งภาพถ่าย และการระบุสถานะในสื่อสังคมออนไลน์ปรากฏต่อสาธารณชน ไม่มีพยานบุคคลอื่นที่รู้เห็นความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองไม่ว่าพนักงานโรงแรม พนักงานรักษาความปลอดภัย บิดามารดา เพื่อร่วมงานของจำเลยที่ธนาคาร ก. ที่สาขาพัทยา เพื่อนร่วมงานของโจทก์ เพื่อนของ ช. ลำพังเพียงรูปถ่ายของจำเลยกับ ช. ที่ไปมีเพศสัมพันธ์ตามสถานที่ต่างๆ และคลิปวิดีโอที่โจทก์ได้มาจากสามีตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สื่อถึงเจตนาที่แท้จริงของบุคคลทั้งสองว่าต้องการมีความสัมพันธ์แบบเปิดเผย โจทก์กลับนำพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านี้มาได้ด้วยความยินยอมของ ช. โจทก์ส่งภาพการมีเพศสัมพันธ์ของจำเลยกับ ช. ไปให้ ส. น้องสาวจำเลยทางเครือข่ายไลน์ ทำให้เป็นที่เผยแพร่ไปในสังคม อันเป็นการกระทำด้วยตัวโจทก์เอง หาใช่จำเลยเป็นคนเผยแพร่ไม่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคนที่ย่อมต้องปกปิด แอบลักลอบกระทำกันในที่ลับ แม้ว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิในครอบครัวของโจทก์กับผู้เป็นภริยา แต่โจทก์ย่อมไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ เพราะจำเลยไม่ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามนัยแห่งบทบัญญัติมาตรา 1523 วรรคสอง

             คำพิพากษาศาลฎีกา 10851/2555 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่า มีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย

            ฟ้อง เพื่อขอให้ศาลกำหนดให้ชู้จ่ายค่าทดแทนได้ แต่จะขอให้ศาลสั่งให้ระงับการเป็นชู้ นั้น ศาลไม่อาจบังคับได้  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 4014/2530 การที่จำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับสามีโจทก์จนถึงขั้นสามีโจทก์ให้โจทก์ยอมรับจำเลยเป็นภรรยาน้อย มิฉะนั้นจะทิ้งโจทก์และจำเลยตบ หน้าสามีโจทก์ในร้านอาหารเพราะความหึงหวงต่อหน้าโจทก์ ทั้งสามีโจทก์และจำเลยยังได้ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารมาสร้างหอพักในที่ดินของจำเลย และมีผู้รู้เห็นว่าสามีโจทก์ได้มาหาและพักนอนอยู่ที่บ้านจำเลยหลายครั้ง เช่นนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตน โดย เปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว กับสามีโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามมาตรา1523 วรรคสอง แต่คำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว กับสามีโจทก์นั้นสภาพของคำขอดังกล่าวไม่เปิดช่องศาลไม่อาจบังคับได้


            แนวคำพิพากษาศาลฎีกา กรณี สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว  เมื่อได้ความว่าเป็นชู้ สิทธิเรียกค่าทดแทนเกิดขึ้น ทำให้สภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้เกิดขี้นทันที เมื่อมีกระทำที่ทำให้เจ้าหนี้ของตนมิให้ชำระหนี้ฯ เข้าองค์ประกอบความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ เช่น     

            คำพิพากษาศาลฎีกา 8774/2550 ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันที่ที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
 
            คำพิพากษาศาลฎีกา 320/2530 การล่วงเกินในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1523 วรรคสองมีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย สิทธิเรียกค่าทดแทนนี้มิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวได้และค่าทดแทนในกรณีนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่ชายชู้ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ด้วย
            โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นชู้กับ น.ผู้ตายซึ่งเป็นภริยาโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ข้อหนึ่งว่าหากน. เป็นภริยาโจทก์โจทก์ก็รู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้ ดังนี้ประเด็นที่ว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายนั้น ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย.

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3483/2528 การที่จำเลยพา บ.ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณี แม้ บ.จะยินยอมสมัครใจร่วมประเวณี กับจำเลยก็ถือว่าจำเลยกระทำล่วงเกิน ภริยาโจทก์ไปในทำนอง ชู้สาวจำเลย จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ และการที่จำเลยพาภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณีดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความเสื่อมเสียทั้งด้านจิตใจเกียรติยศและชื่อเสียง ซึ่งไม่อาจคิดเป็นราคาเงินได้การกำหนดค่าทดแทนให้เพียงใดย่อมแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี

             คำพิพากษาศาลฎีกา 2936/2522 คำบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งการกระทำของจำเลยเฉพาะการนอนกอดกับภริยาโจทก์ แต่ที่ว่าจำเลยยังลักลอบเล่นชู้กับภริยาโจทก์เรื่อยมา จนในที่สุดได้พาภริยาโจทก์ไปอยู่กับจำเลยนั้น ฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดพอที่จะถือเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงต้องถือว่าโจทก์มุ่งประสงค์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเล ยสำหรับการที่จำเลยไปนอนกอดกันกับภริยาโจทก์เป็นหลัก
            การนอนกอดกันกับภริยาของผู้อื่นเพราะรักใคร่กันในทางชู้สาว หรือกระทำถึงขั้นร่วมประเวณีกับภริยาของผู้อื่น ก็ล้วนแต่ต้องถือว่าได้ล่วงเกินภริยาของเขาไปในทำนองชู้สาวทั้งสิ้น โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง (ที่ได้ตรวจชำระใหม่)(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1113/2514 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

            คำพิพากษาศาลฎีกา2791/2515 สามีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้โดยไม่ได้ฟ้องขอหย่าภรรยากรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1505 วรรคแรก แต่สามีมีสิทธิตามวรรคสองของมาตราเดียวกันนี้ฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ การล่วงเกินในทำนองชู้สาวมีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย


            ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ ไม่ใช่ฟ้องคดีเรื่องละเมิด ตามมาตรา  420 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา1113/2514 กรณีที่ภริยามีชู้หรือมีผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว อันเป็นการกระทบกระเทือนไปถึงสิทธิของสามีนั้น มีมาตรา 1505 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะให้สามีมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาและชู้หรือผู้ที่ล่วงเกินนั้นได้สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาของตนในทางชู้สาวโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิของสามีตามมาตรา 420 ไม่ได้
            ฟ้องหาว่าจำเลยล่วงเกินภริยาของโจทก์ในทางชู้สาวโดยกอดจูบและร่วมประเวณีแต่ได้ความว่าต่อมาโจทก์กับภริยาได้สมัครใจจดทะเบียนหย่ากันเองเสียแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1505 วรรคแรกแม้กระนั้นก็ยังเป็นเรื่องการล่วงเกินไปในทำนองชู้สาวตามวรรคสองและถึงแม้ว่าภริยาจะได้สมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกิน สามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินได้
            แม้จะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว สามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1505 วรรคสองได้
            โจทก์รู้หรือควรรู้ว่าจำเลยล่วงเกินภริยาของโจทก์ในทำนองชู้สาวจนพ้นกำหนด 3 เดือนแล้ว จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1509 (ข้อกฎหมาย 3 ข้อแรก วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2514)

             บทสรุป เป็นชู้ มีชู้  เป็นเรื่องเสื่อมเสีย ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ก็จะทำให้มีประเด็นข้อเท็จจริงเกิดขึ้นเป็นคดี ให้ศึกษาเป็นแนวทางในการดำเนินคดีกันต่อไป แต่ถ้ามีอาชีพรับราชการ จะมีความผิดวินัยด้วย ซึ่งจะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานนั้นๆ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6444/2558 มื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 4398/2558 โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยที่ 1 ขอแบ่งสินสมรส ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ถึงวันฟ้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนบรรลุนิติภาวะ และให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ
            เมื่อผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 จึงอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในประเด็นฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ประเด็นสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ก่อนฟ้อง ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนบรรลุนิติภาวะ และประเด็นการแบ่งสินสมรส และอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ในประเด็นที่ถูกเรียกค่าทดแทน
            สำหรับประเด็นหย่า เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์ ศาลไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าหรือไม่ เพราะไม่ได้ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนประเด็นเรียกค่าทดแทนที่เรียกจากจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ศาลจึงมิได้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคสอง ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น ส่วนประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1526 ระบุว่า ค่าเลี้ยงชีพศาลจะกำหนดให้เมื่อมีการหย่าเท่านั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายก่อนหย่า การสมรสจึงสิ้นสุดเพราะการตาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ศาลฎีกาเห็นควรไม่อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะทั้งสามประเด็นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น