วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565

ผู้จัดการมรดกต้องแบกรับทั้งทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ตาย จริงหรือไม่

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


               ช่วงนี้มีข่าวน่าเศร้าและเสียใจ แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าคิดจากมุมมองนักกฎหมายที่ออกมาให้ความเห็น โดยมีประเด็นหนึ่งที่อ่านแล้วอาจรู้สึกว่าต้องเป็นอย่างนั้นเลยหรือ คือ ประเด็นที่ว่า "ผู้จัดการมรดก ต้องแบกรับทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายด้วย "  ซึ่งเป็นจริงหรือไม่ เราจะมาหาความรู้และทำความเข้าใจกันในบทความนี้  โดยเฉพาะผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก 

                คำว่า "แบกรับ" ที่ว่านี้ จะหมายถึงต้องรับผิดชอบในหนี้นั้น หรือเป็นเพียงแค่รับหนี้นั้นมาดำเนินการจัดการตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมรดก และการจัดการมรดก ซึ่งในการนำเสนอบทความในเรื่องนี้ จะเสนอให้มุมมองของคำว่าแบกรับ ไปในสองทางที่กล่าวมา 

                ผู้จัดการมรดก คือ ผู้ที่มีหน้าที่เข้ามาจัดการมรดกของผู้ตาย หรือเพื่อแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของผู้ตาย ใครเป็นผู้จัดการมรดกได้บ้าง เมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้วต้องดำเนินการอย่างไร ผู้เขียนเคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับผู้จัดการมรดกไว้แล้ว เข้าไปอ่านทบทวนได้ 

               เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก ใช่ว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยในทันที่ แต่เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 บัญญัติว่่ากองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ทรพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพเป็นการเฉพาะตัวโดยแท้  

                จากบทบัญญัติดังกล่าว กองมรดกของผู้ตาย ได้มีการกล่าวถึงความรับผิดต่างๆ ไว้ด้วย ซึ่งความรับผิดนั้น อาจมีหลายอย่างที่เจ้ามรดกได้ก่อให้เกิดขึ้นไว้ ถ้าเป็นความรับผิดในทางหนี้ ก็ถือว่าเป็นความรับผิดที่เป็นมรดกเช่นเดียวกัน หนี้ในที่นี่มีหนี้อะไรบ้าง ก็มีมาตรา 1739 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้แล้ว คือ หนี้ที่เจ้าหนี้มีบุริมสิทธิพิเศษ หนี้ที่มีประกันโดยการจำนำหรือจำนอง หนี้ที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก หนี้ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามรดก หนี้ค่าภาษีอากรซึ่งกองมรดกค้างชำระอยู่ หนี้ค่าจ้างซึ่งเจ้ามรดกค้างชำระแก่เสมียน คนใช้ และคนงาน หนึ้ค่าเครื่องอุปโภคหรือบริโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามรดก หนี้สินสามัญของเจ้ามรดก และหนี้บำเหน็จของผู้จัดการมรดก โดยการชำระหนี้ดังกล่าวต้องชำระตามลำดับที่กล่าว

 คลิกโฆษณา

             โดยเจ้าหนี้ ถือเป็นเจ้าหนี้กองมรดก ซึ่งมาตรา 1734  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ เจ้าหนี้กองมรดก ชอบแต่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านัั้น ดังนั้น หนี้ที่เป็นมรดก จึงต้องชำระจากทรัพย์สินจากกองมรดกเท่านั้น เมื่อต้องชำระหนี้จากทรัพย์สินจากกองมรดกแล้ว ถ้าทรัพย์มรดกของผู้ตายมีไม่พอชำระหนี้ ก็ไม่ก่อให้ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดเป็นส่วนตัว นั่นคือ ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ของผู้ตายไว้ และเจ้าหนี้ก็ไม่อาจฟ้องผู้จัดการมรดกให้รับผิดหนี้ดังกล่าวเป็นส่วนตัวได้ 

                เหตุผลที่ผู้จัดการมรดกไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ถ้าพิจารณาในเรื่องนิติกรรมสัญญา ย่อมชัดเจนว่าผู้จัดการมรดก ไม่ได้เป็นคู่สัญญาในนิติกรรมที่ก่อให้เกิดหนี้ หรือไม่ได้เป็นผู้ก่อหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของเรื่องหนี้   แต่ถ้าพิจารณาในเรื่องการทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก ทางที่จะทำให้ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดชอบในหนี้นั่นก็ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น 

                หากผู้จัดการมรดกดำเนินการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกได้ถูกต้อง ครบถ้วนตามบทบัญญัติกฎหมาย  โดย มาตรา 1729 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก เมื่อใดคือวันที่ต้องลงมือจัดทำทรัพย์มรดก ก็เป็นไปตามมาตรา 1728 คือ ภายใน15วัน  นับแต่เจ้ามรดกตาย และผู้นั้นรู้ถึงการแต่งต้ังตามพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดก หรือนับแต่ัวันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก (มาตรา 1728 มาตรา 1716) ซึ่งในการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกกำหนดให้ต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งพยานต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย (มาตรา 1728) และพยานต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว  ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้างด้วย และในการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ทายาทจำต้องบอกทรัพย์มรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดกด้วย (มาตรา 1735) เมื่อบัญชีทรัพย์มรดกได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้นทั้งหมดแล้ว การแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทต้องทำภายหลังเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 1736 วรรคสอง ก็ถือว่าผู้จัดการมรดกได้ทำหน้าที่ของตนของถูกต้องตามข้อกฎหมายแล้ว 

                    เมื่อทรัพย์สินที่เป็นกองมรดกมีไม่พอชำระหนี้กองมรดก  เจ้าหนี้กองมรดกจะฟ้องทายาทให้รับผิดในหนี้นั้นได้หรือไม่  ในเรื่องนี้ ก็ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหนี้กองมรดกทำเช่นนั้นได้ เนื่องจาก มาตรา 1601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน  ก็ตีความตรงๆตามตัวบท ทายาทได้รับมรดกแค่ไหนรับผิดในหนี้ก่องมรดกแค่นั้น เมื่อทรัพย์สินที่เป็นกองมรดก มีไม่พอชำระหนี้กองมรดก ก็จะบังคับให้ทายาทรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกไม่ได้ 

                    การมีทรัพย์สินกองมรดกไม่พอชำระหนี้ ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ต้องไปบังคับชำระหนี้ส่วนที่เหลือกับคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับหนี้นั้นต่อไป  ผู้จัดการมรดกไม่ต้องแบกรับหนี้สินของผู้ตายไว้แต่อย่างใด

 

             

              

                     

                                                                                                       

     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น